หยุดนับอายุความ #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เที่ยงคืนพรุ่งนี้ (๒๕ ตุลาคม) คดีตากใบจะหมดอายุความแล้ว

จำเลยทุกคนจะเป็นอิสระ เจ้าหน้าที่รัฐจะไปจับตัวมาดำเนินคดีไม่ได้

และฟ้องในคดีเดิมอีกไม่ได้

แต่ในทางสังคมจะจมอยู่กับคดีตากใบไปจนตาย

มีข้อถกเถียงเรื่องอายุความอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมต้องมี

วัตถุประสงค์ของระบบยุติธรรมบางประเทศที่ให้มีอายุความ เพราะเชื่อว่า การพิสูจน์ความจริง นั้น ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด

ต้องทำในขณะที่ พยานหลักฐานยังสดและใหม่

เพราะทำให้โอกาสที่ศาลจะตัดสินผิดพลาดคลาดเคลื่อนมีน้อย

กลับกันยิ่งทิ้งเวลาไว้เนิ่นนาน หลักฐานต่างๆ ย่อมสูญหายไปตามกาลเวลา

แต่ในประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแนวคิดเรื่องอายุความแล้วในบางคดี

นั่นคือคดีคอร์รัปชัน

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีสาระสำคัญ ที่น่าสนใจ และควรขยายไปยังคดีที่มีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ (United Nations Convention Against Corruption: UNCAC) ท่าให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในของประเทศไทย เพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล

การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว ก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเรื่องความพยายามและความจริงจังในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในประเทศ

จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีกลไกในการจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

มีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องอายุความ

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา ๗๔/๑ กำหนดให้ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล อายุความจะสะดุดหยุดอยู่ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจะไม่นำเรื่องอายุความมาใช้บังคับ

การแก้ไขนี้มิได้เป็นการขยายอายุความในคดีทุจริตแต่อย่างใด แต่เป็นการยกเว้นมิให้นับอายุความในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีเท่านั้น

ครับ…แม้ไม่ใช่การขยายอายุความ แต่ผลก็ไม่ต่างกันนัก

หนีเมื่อไหร่อายุความก็หยุดรอตามตัวมาลงโทษ

ไม่อยากนอนคุกก็ต้องหนีให้ได้ตลอดชีวิต

คดีตากใบ มีข้อเสนอให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขยายอายุความของคดีตากใบ เพื่อนำจำเลยทั้งหมดมารับโทษ

ในคดีอาญาสามารถออกกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลังได้จริงหรือ

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต สส.พัทลุง โพสต์ความเห็นไว้ดังนี้ครับ

“…อย่ายัดความโง่ ใส่หัวประชาชน

การออกพระราชกำหนดขยายอายุความ ในความผิดทางอาญา มันทำไม่ได้ อายุความมันขึ้นกับอัตราโทษ แม้อายุความไม่ใช่โทษทางอาญา แต่อายุความที่ยาวขึ้นมันเป็นโทษกับผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาก็ยืนแนวนี้มาตลอด

วิงวอนรัฐบาลอย่าหลอกประชาชน และวิงวอนประชาชนก็อย่ายอมให้รัฐบาลหลอก รัฐบาลจับผู้ต้องหาไม่ได้แล้วยังมาหลอกประชาชนอีกว่าจะออก พ.ร.ก.ขยายอายุความ เป็นการหลอกหาคะแนนไปเรื่อยๆ

ทั้งคดีตากใบ และ ไอคอนกรุ๊ป ขยายอายุความไม่ได้…”

ใช่ครับ…หลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ ถือเป็นหลักที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมายาวนาน

เคยถูกนำมาปรับกับการพิจารณาวินิจฉัยในศาลยุติธรรม ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑/๒๔๘๙ ที่สรุปได้ว่า

“…คดีเป็นปัญหากฎหมายในเบื้องต้นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวด้วยการบังคับใช้บทพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ศาลนี้เห็นว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๔ และเป็นโมฆะ ตามมาตรา ๖๑ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ยกเลิกเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙)

เมื่อบทบัญญัติที่โจทก์ฟ้องขอให้เอาผิดแก่จำเลย ศาลนี้ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโมฆะ อันจะลงโทษจำเลยไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลจะฟ้องคำพยานหลักฐานโจทก์ในเรื่องนี้ต่อไปอีก จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เสีย…”

ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว ความปรากฏในคำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๖๓

สรุปได้ว่า

“…การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้บุคคลมารายงานตัวในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา โดยปรากฏชื่อจำเลยในคดีนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้การไม่มารายงานตัวต้องรับโทษทางอาญา

แต่ต่อมาในวันเดียวกันนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตาม คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้บุคคลที่มีรายชื่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อน แล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ทราบทั่วกันในภายหลัง (วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗) จึงเป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง แก่บุคคลผู้ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นก่อน ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่ว่า ‘ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย’ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง”

เมื่อพิจารณา ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยพบว่า หลัก ‘กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ’ นั้น บุคคลจะมีความผิดต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษของความผิดไว้

ดังนั้น การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗ ออกคำสั่งเรียกให้รายงานตัวก่อนและออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ กำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง จึงเป็นคำสั่งที่มีโทษอาญาย้อนหลังไปลงโทษการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง และขัดต่อหลักนิติธรรม…”

ฉะนั้น การออกกฎหมายมาบังคับใช้ในภายหลังเพื่อย้อนเอาผิด คงถึงขั้นต้องไปรื้อรัฐธรรมนูญเสียก่อน

คดีตากใบไปไกลสุดได้แค่นี้

ในอนาคต คดีที่กระทบกับสังคมสูง หากจะเอาผิดผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีเพื่อให้หมดอายุความ แนวทางในกฎหมาย ป.ป.ช.มีความเป็นไปได้มากที่สุด

หนีเมื่อไหร่ หยุดนับอายุความ

Written By
More from pp
นายกฯ ยินดีที่กรมควบคุมโรคได้รับรางวัล UNPSA จากผลงานการสกัดกั้นโรคโควิด-19 พร้อมขอบคุณบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขให้คนไทย
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัล United...
Read More
0 replies on “หยุดนับอายุความ #ผักกาดหอม”