ย้อนหลัง-ย้อนแย้ง – ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

ของเก่าก็มีประโยชน์ครับ

วันนี้ขุดของเก่ามาอธิบายความกฎหมาย ว่าด้วยเรื่อง กฎหมายมีผลย้อนหลังได้หรือไม่ เพื่อเทียบเคียงกรณี นายกฯ ๘ ปี มาตรา ๑๕๘ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มีผลย้อนหลังไปถึงปี ๒๕๕๗ หรือไม่

ในอดีตกูรูกฎหมายให้ความเห็นประเด็นนี้เอาไว้เยอะ

เพจ บรรทัดฐานคดีปกครองและคดีรัฐธรรมนูญ โพสต์เอาไว้เมื่อปี ๒๕๖๐ ความดังนี้ครับ

“…หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง

แนวคิดนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางตำรา มีการเจาะลึกไปในรายละเอียดว่า บางกรณีก็อาจย้อนหลัง บางกรณีก็ไม่อาจย้อนหลังได้

ในเรื่องนี้ มีความเห็นของทั้ง ๒ ฝ่าย มาให้อ่านกันครับ

โดยเป็นคำวินิจฉัยที่ ๓-๕/๒๕๕๐ เรื่อง อัยการสูงสุดขอให้มีคำสั่งยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย

ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.อักขราทร จุฬารัตน (อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ) (เสียงข้างมาก) ในคดีนี้

เห็นว่า หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังนี้ เป็นหลักที่เกิดจากคำกล่าวตั้งแต่สุภาษิตลาติน Nullum crimen sine lege ไม่มีการกระทำความผิดหากไม่มีกฎหมายกำหนด และ Nulla poena sine lege บุคคลจะไม่ต้องรับโทษหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้

หลักกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นหลักกฎหมายที่เป็นหลักเด็ดขาดแต่อย่างใด คือ จะตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษทางอาญามิได้

ความคิดในสมัยแรก ๆ แม้จะมีขึ้นเพื่อให้มีการป้องกันสิทธิเสรีภาพของเอกชน แต่ในระยะเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบันแนวคิดในทางกฎหมายเห็นว่า สังคมต้องมีการพัฒนาและกฎหมายที่ได้ตราขึ้นใหม่ย่อมเป็นที่เข้าใจและยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่ต้องดีกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิมเป็นธรรมต่อสังคมและเหมาะสมกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว

ดังนั้น ในทางกฎหมายจึงมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับอำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมายให้มีผลย้อนหลังได้ โดยเฉพาะในอันที่เห็นว่าจะเป็นไปเพื่อป้องกันหรือทำให้หมดไปในสิ่งที่เห็นว่าเป็นอันตรายหรือเป็นที่มาของความไม่เป็นธรรม เพื่อคุ้มครองให้เกิดความมั่นคงและความยุติธรรมในสังคมด้วย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ในตำราความรู้เบื้องต้นกฎหมายทั่วไปของประเทศต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม หลักในเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังก็ยังคงยึดถือในกรอบของการลงโทษทางอาญาเป็นหลัก

แต่ทั้งนี้ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ (อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญ) (เสียงข้างน้อย) ในคดีนี้ เห็นว่า เหตุผลสำคัญที่รัฐไม่พึงออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจของบุคคลที่มีต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ

ทั้งนี้เพราะหากการปกครองในบ้านเมืองใด รัฐไม่ยึดมั่นในภาษิตกฎหมายบทหนึ่งว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย” ราษฎรย่อมไม่มีหลักประกันว่าสิ่งที่ตนได้กระทำไปในวันนี้ในอนาคตกาลวันข้างหน้าจะไม่มีกฎหมายย้อนหลังออกมาเอาผิดให้เป็นผลร้ายแก่ตนหรือไม่

ดังนั้น นานาอารยประเทศจึงมิใช่เพียงมีข้อจำกัดห้ามออกฎหมายย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลเฉพาะกรณีที่เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาเท่านั้น

หากแต่ได้นำหลักการตามภาษิตกฎหมายที่ว่านี้ไปใช้บังคับแก่การตรากฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคลในกรณีอื่น ๆ ด้วย

เช่น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับโทษทางภาษีว่า หลักการไม่มีบังคับย้อนหลังของกฎหมายไม่ได้ใช้บังคับแต่เฉพาะกับกฎหมายที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทางอาญาเท่านั้น หากแต่ต้องขยายไปใช้บังคับแก่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความผิดและโทษทุกประเภทด้วย

และศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันก็เห็นว่า โดยหลักแล้ว การตรากฎหมายย้อนหลังไปใช้บังคับกับข้อเท็จจริงที่จบลงแล้วให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลจะกระทำไม่ได้…”

มีนักกฎหมายหลายคนที่พูดถึง หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย และหนึ่งในนั้นคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อครั้งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความเห็นปรากฎอยู่ใน หนังสือ การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง ตีพิมพ์ เมื่อปี ๒๕๕๒ โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื้อหาบางตอนของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” มีดังนี้

“…ในนิติรัฐ นอกจากหลักความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่อยู่ เคียงคู่กันไป คือ หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย

หลักการดังกล่าวเรียกร้องว่า บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐต้องได้รับหลักประกันจากรัฐว่าบุคคล สามารถเชื่อมั่นในความคงอยู่ของกฎหมาย กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือการตัดสินใจใด ๆ ของรัฐ โดยไม่ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นธรรมและปราศจากเหตุผล

หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย (Le principe de confiancelegitime) ปรากฏในระบบกฎหมายหลายประเทศเช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสสเปน โปรตุเกส กรีซ และสหภาพยุโรป เป็นต้น โดยนำไปบังคับใช้ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป และผูกมัดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายปกครอง

เช่น การไม่มีผลย้อนหลังของกฎหมาย การไม่มีผลย้อนหลังของคำสั่งทางปกครอง การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งและผู้เกี่ยวข้องได้รับไปแล้วโดยสุจริต ความรับผิดของรัฐในกรณีออกกฎหมายและคำสั่งที่ส่งผลเสียต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรณีเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นต้น…

…หากคิดว่าหลักกฎหมายเหล่านี้สลับชับซ้อน ก็ลองคิดง่าย ๆ ว่า หากวันหนึ่ง เราตัดสินใจกระทำการอย่างบางประการ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด หรือมีโทษ (ไม่ว่าจะอาญาหรือไม่ก็ตาม) วันข้างหน้ามีกฎหมายกำหนดให้การกระทำ นั้นถือเป็นความผิดและมีโทษ (ไม่ว่าจะอาญาหรือไม่ก็ตาม) และให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนออกกฎหมายนี้ด้วยวิญญูชนพิจารณาแล้วกฎหมายนี้เป็นธรรมหรือไม่? ตัวอย่างดังกล่าว อาจไกลตัวเกินไป ลองเปลี่ยนตัวอย่างให้เกี่ยวข้องมากขึ้น

สมมติว่า วันหนึ่งมีการออกพระราชบัญญัติ กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยคดีโดยใช้และตีความกฎหมายผิดเพี้ยน หรือสร้างหลักการประหลาด อาจถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่งได้ ถ้าเกษียณอายุไปแล้ว ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จบำนาญ ทั้งนี้ไม่ว่าการวินิจฉัยนั้นจะเกิดก่อนหรือหลังพระราชบัญญัตินี้

ต่อมา มีกระบวนการกล่าวหาว่า ตุลาการกลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันวินิจฉัยในคดี หนึ่งเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วว่า ได้ร่วมกันสร้างหลักการประหลาดในระบบกฎหมายไทย นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติภูมิต่อนักกฎหมายและบรรพตุลาการ ศาลที่ทำหน้าที่ พิจารณาคดีเห็นด้วยกับข้อกล่าวหา เพราะการปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษา

และการตัดเงินบำเหน็จบำนาญไม่ใช่โทษทางอาญา ย่อมมีผลย้อนหลังได้ และผล ร้ายย้อนหลังนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ป้องกัน “มิให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบกฎหมาย โอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” จึงวินิจฉัยให้ปลดผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เคยร่วม วินิจฉัยคดีดังกล่าวออกจากตำแหน่ง

ถามว่า ในสายตาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ คน คำวินิจฉัยในคดี สมมตินี้ชอบด้วยหลักนิติรัฐและเป็นธรรมหรือไม่ พระราชบัญญัติสมมตินี้ชอบด้วยหลักนิติรัฐและเป็นธรรมหรือไม่?

หากคำตอบคือไม่ ฉันใดฉันนั้น ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๗ ข้อ ๓ และคำวินิจฉัยที่ ๓-๕/๒๕๕๐ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการ บริหารพรรค ๕ ปี ก็ย่อมขัดกับหลักนิติรัฐและไม่เป็นธรรมดุจกัน…

ต้องค่อยๆอ่านทำความเข้าใจ ก็พอแยกแยะได้ว่าครั้่งหนึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักไทย มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยเฉพาะประเด็น กฎหมายมีผลย้อนหลังหรือไม่

จะเห็นได้ว่าคำอธิบายของ ปิยบุตร ใช้ลูกล่อลูกชนแพรวพราว ยกตัวอย่างเหน็บแนมศาล เพราะขณะนั้น “ปิยบุตร” เป็นคนหนึ่งที่มองว่า ไม่อาจย้อนหลังไปเอาผิดกลุ่มนักการเมืองบ้านเลขที่ ๑๑๑ ในพรรคไทยรักไทยได้

พูดไปมันก็ใกล้เคียงกัน เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า นายกฯอยู่ได้แค่ ๘ ปี

มาเขียนใหม่เมื่อ ๕ ปีที่แล้วว่า อยู่เกิน ๘ ปี ไม่ได้จะเป็นเผด็จการ

ครับ…ไม่ต้องสรุปอะไร เพราะผู้ที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ


Written By
More from pp
เงินหลวง..มักง่ายไม่ได้ #สันต์สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน “ในฐานะประธานชมรมวิจารณ์บันเทิง คนปัจจุบัน” เนี่ย..คุณสนานจิตต์ บางสพาน นักวิจารณ์ภาพยนตร์มือเก๋า และผู้กำกับ ขึ้นต้นแนะนำตำแหน่งแห่งหน ก่อนจะละเลงข้อความต่อในเฟซบุ๊ก ว่า.. “ขอประกาศแซบว่า...
Read More
0 replies on “ย้อนหลัง-ย้อนแย้ง – ผักกาดหอม”