“ยิ่งลักษณ์” เสียดาย! – ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

แบบนี้แหละครับ

เมื่อน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องการเมือง

ก็อย่าไปถามหาเหตุผลอะไร

“ชัชชาติ สุทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. กลายเป็นบุคคลที่แตะไม่ได้ ใครขืนแตะเข้าเป็นอันทัวร์ลง สุดท้ายมันย้อนศร กลายเป็นมวลชนรังแก “ชัชชาติ” นั่นเอง

เกราะที่ดีที่สุดของ “ชัชชาติ” วันนี้คือการรีดผลงานให้ออกมาโดยเร็วที่สุด

ทำให้ได้สักเรื่อง และต้องเป็นเรื่องของผลประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ นั่นถึงจะสมราคาคุย

หากเป็นเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมก็ยิ่งดี แก้ได้สมัยหน้าก็นอนมา

ที่เถียงกันคอเป็นเอ็นวันนี้ น้ำท่วมกรุงใครต้องรับผิดชอบ?

กองเชียร์ชัชชาติ โวยวายกันใหญ่

น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ โทษนายกฯ

น้ำท่วมปี ๒๕๖๕ โทษผู้ว่าฯ

อีกฝ่ายไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ

ใช่ครับ เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ปี ๒๕๕๔ รัฐบาลกับผู้ว่าฯ กทม.อยู่คนละขั้วการเมือง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เผชิญน้ำท่วมใหญ่ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลาง และขณะนั้น ผู้ว่าฯกทม. คือ คุณชายสุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์

มาคราวนี้รัฐบาลประยุทธ์ เจออุถกภัยเช่นกัน แต่ที่หนักหนาสาหัสคือ กทม.และปริมณฑล โดยมี ผู้ว่าฯ กทม.ชื่อชัชชาติ สุทธิพันธุ์ ที่ว่ากันว่าอยู่ตรงกลางไม่มีขั้ว

แต่พลิกซ้ายพลิกขวาดูถ้วนถี่แล้ว คนที่สนับสนุนชัชชาติส่วนใหญ่คือคนที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์

และ ๓ เดือนให้หลังก็ยิ่งชัดเจนว่า คนไม่เอาประยุทธ์คือคนที่เอาชัชชาติ

เมื่อพูดเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯช่วงนี้ จึงได้น้ำลายกลับมา

นำท่วมกรุงฯใครต้องรับผิดชอบ?

เป็นเรื่องของทุกคนครับ

ไม่มีใครรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวได้ เพียงแต่การรับผิดชอบของแต่ละคนนั้น มีบทบาทที่แตกต่างออกไป แล้วแต่ยืนที่จุดไหน

ประชาชนเองก็ต้องรับผิดชอบ เพราะฝนตกขยะเกลื่อนอุดท่อน้ำระบายไม่ได้ ไม่ใช่ฝีมือใครอื่น เป็นเพราะความไร้วินัยไร้ระเบียบทิ้งขยะเรี่ยราดของประชาชนทั้งนั้น

ผู้ว่ากทม. ก็ต้องรับผิดชอบน้ำท่วมในเขตกทม. และต้องคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดรอบข้าง

งานแบบนี้ฉายเดี่ยวไม่ได้ เพราะน้ำท่วมไม่ได้เลี้ยวไปตามเส้นแบ่งเขตจังหวัด

ส่วนรัฐบาลก็ยิ่งต้องรับผิดชอบ เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ปัญหามากที่สุด

ขณะเดียวกันความรับผิดชอบน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ กับปีนี้้มีความแตกต่างกัน เพราะน้ำท่วมไม่เหมือนกัน

ทำไมน้ำท่วมปี ๒๕๕๔ ถึงไม่ค่อยมีใครด่าคุณชายสุขุมพันธุ์ แต่ปีนี้ถึงเรียกหา “ชัชชาติ” มากกว่ารัฐบาล

คำตอบคือ แม้จะเกิดปรากฎการณ์ลานีญาเหมือนกันแต่ที่แตกต่างกันคือ พื้นที่การท่วมไม่เหมือนกัน

ปี ๒๕๕๔ น่ากลัวกว่ามาก และไม่มีใครโทษผู้ว่ากทม. เพราะการบริหารจัดการน้ำมีความผิดพลาดในระดับรัฐบาล ทำให้น้่ำท่วมกินบริเวณกว้างทั้งที่ราบลุ่มภาคกลาง

ไม่ได้น้ำท่วมเพราะน้ำฝน แต่เป็นน้ำเหนือ

คราวนี้ น้ำเหนือมีผลน้อยมาก เกือบทั้งหมดเป็นน้ำฝน และการท่วมเกิดเป็นจุดๆ แตกต่างจากปี ๒๕๕๔ อย่างชัดเจน

คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นองค์กรมหาชน สรุปข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์อุทกภัยปี ๒๕๕๔ เอาไว้ดังนี้ครับ

ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยมที่ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี ๒๕๕๔ มีมากถึง ๖,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร

ประตูระบายน้ำพลเทพ และประตูระบายน้ำบรมธาตุ ไม่ได้เปิดรับน้ำเพื่อผันน้ำเข้าสู่ทุ่งตะวันตก แม้จะมีการเปิดรับน้ำมากขึ้นในภายหลัง แต่มีการควบคุมน้ำให้อยู่เฉพาะในลำน้ำ ไม่มีการปล่อยน้ำเข้าทุ่งเพื่อให้เป็นแก้มลิงชะลอน้ำ

การปล่อยให้ประตูระบายน้ำบางโฉมศรี พังทลายโดยไม่มีการรีบซ่อมแซม ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่จังหวัดลพบุรีมากเกินไป และปริมาณน้ำทั้งหมดได้ไหลกลับมายังอำเภอพระนครศรีอยุธยาทางแม่น้ำลพบุรี

ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ระบายจากเขื่อนป่าสักที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่มีการผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะอำเภอพระนครศรีอยุธยา รับปริมาณน้ำมากเกินไปทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี

ปริมาณน้ำที่ไหลมารวมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามากเกินไป ทำให้น้ำจำนวนมากไหลย้อนข้ามประตูประบายน้ำคลองข้าวเม่า เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และไหลไปรวมกันกับปริมาณน้ำที่ล้นมาจากแม่น้ำป่าสัก เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร สวนอุตสาหกรรมบางกระดี และไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครทางทิศเหนือ

คลองระพีพัฒน์ ไม่สามารถผันน้ำเข้าสู่ทุ่งตะวันออกได้ ในทางกลับกัน เรือกสวนไร่นาที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งตะวันออกกลับสูบน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ทำให้คลองระพีพัฒน์รับน้ำมากเกินไป

พื้นที่รองรับน้ำหลากของกรุงเทพมหานครเกิดการเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น หมู่บ้านจัดสรรและพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำเข้าสู่ระบบสถานีสูบน้ำริมชายทะเลได้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่อยู่ทางด้านเหนือกรุงเทพมหานคร บริเวณอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี แขตสายไหมและเขตคลองสามวา ไม่สามารถระบายลงสู่ระบบคลองไปยังสถานีสูบชายทะเลได้

มีการปลูกสิ่งก่อสร้าง รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง การขาดการดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่คลองระบายน้ำสำคัญอย่างเช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว มีการรุกล้ำลำน้ำจนคลองเหลือขนาดเพียงครึ่งเดียวจากเดิม

สะพานหลายแห่ง กลายเป็นปัญหาในการระบายน้ำ ทั้งตอหม้อสะพานที่มีขนาดใหญ่เกินไป ช่องสะพานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการไหลของน้ำ ที่สำคัญสะพานในแหล่งชุมชนเกือบทุกแห่ง ช่องด้านข้างทั้ง ๒ ของสะพานจะเกิดการรุกล้ำ จนมีเพียงช่องกลางสะพานเพียงช่องเดียวที่สามารถระบายน้ำได้

ประชาชน และองค์กรในส่วนย่อย มีการสร้างพนังและคันกั้นน้ำของตัวเอง ทำให้การระบายน้ำในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้ประสิทธิภาพ

และสาเหตุที่น้ำมากนอกจากปริมาณฝนมาก จากพายุ ๕ ลูกแล้ว การเมืองยังส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจระบายน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อไม่ให้น้่ำท่วมนาข้าวในพื้นที่เลือกตั้งภาคกลาง

เมื่อน้ำล้นเขื่อนก็สายไปแล้ว การระบายน้ำเกินกว่าที่ราบลุ่มภาคกลางจะรับได้จึงเกิดขึ้น

วานนี้ (๑๑ กันยายน) “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เล่นบทผู้รู้เรื่องน้ำ แนะนำรัฐบาลว่า

“…รัฐบาลต้องวางแผนระบายน้ำออกไปยังแม่น้ำบางปะกงและเจ้าพระยาแต่เนิ่นๆ เพราะในสมัยรัฐบาลดิฉัน ได้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ​ ไว้แล้วทั้งฝั่งตะวันตก และทางตอนใต้ของคลองรังสิต รวมทั้ง รัฐบาลต้องมีประสานความร่วมมือกับ กทม. ให้สามารถระบายน้ำตามคลองหลักได้อย่างสะดวก มาถึงวันนี้ ดิฉันยังอดเสียดายโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบที่เคยวางแผนมิได้ หากวันนั้นได้มีโอกาสเดินหน้านโยบาย วันนี้ปัญหาเช่นนี้คงไม่เกิด อย่างไรก็ตามดิฉันขอส่งกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเร่งจัดการน้ำได้ทันท่วงทีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและชาวกทม. ด้วยค่ะ…”

ดูเก่งทีเดียว

แต่เสียดายครับเมื่อปี ๒๕๕๔ “ยิ่งลักษณ์” บอกว่า “เอาอยู่”

ภาคกลาง รวมกรุงเทพฯปริมณฑลท่วมไป ๓ เดือน

ช่วงนี้เริ่มพูดกันเยอะว่า ถ้าไม่ถูกรัฐประหารเสียก่อนแผนจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์สำเร็จ น้ำจะไม่ท่วมกทม.อีกเลย

แผนจัดการน้ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้สะดุดเพราะรัฐประหาร แต่เพราะศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า แผนที่ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเลย

จะทุบเอาอย่างเดียว!

พ.ร.ก.กู้เงิน ๓.๕ แสนล้านบาท หมดอายุลงในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖

ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ครับ…เมื่อน้ำท่วมถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง คำพูดนักการเมืองก็เหมืนผายลม

เหม็นขี้ฟันเปล่าๆ ครับ

“ยิ่งลักษณ์” เสียดาย

แต่ประชาชน เสียหายหนัก


Written By
More from pp
“ภูมิใจไทย” ประชุมพรรค ต้อนรับสมาชิกใหม่ “อนุทิน” ขอบคุณความไว้วางใจ ย้ำสู้เลือกตั้งทุกเขต
16 ธันวาคม 2565 ณ ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย กรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศงานประชุมพรรคประจำสัปดาห์ และการเปิดรับสมาชิกใหม่ โดยการต้อนรับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข...
Read More
0 replies on ““ยิ่งลักษณ์” เสียดาย! – ผักกาดหอม”