ผักกาดหอม
วานนี้ (๒๒ พฤษภาคม) ครบรอบ ๘ ปีรัฐประหาร
และยังเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในรอบ ๙ ปี
นักการเมืองน้อยใหญ่พากันเคลื่อนไหวคึกคัก แต่ก็น่าสังเกต เลือกที่จะเป็นข่าวตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม เพื่อปลุกกระแสต่อเนื่องถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
ก็เป็นธรรมดาครับการเมืองโค้งสุดท้าย กระแสคือสิ่งสำคัญสุด
หลายครั้งถึงกับพลิก หักปากกาเซียนได้เลยทีเดียว
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โพสต์เฟซบุ๊กตั้งแต่วันเสาร์
“…พรุ่งนี้จะเป็นวันที่ รัฐบาลดิฉันถูกยึดอำนาจไป ๘ ปีแล้ว สำหรับบางคนดูเหมือนจะนานแต่ความทรงจำช่วงนั้นยังคงชัดเจนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกมาประท้วงให้ยุบสภาผ่านการชัตดาวน์กรุงเทพมหานคร ปิดกั้นการทำงานของหน่วยงานราชการ
แม้ดิฉันได้คืนอำนาจให้กับพี่น้องประชาชน แต่ก็มีการขัดขวางการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้กลไกประชาธิปไตยทำงาน เพื่อทำให้บ้านเมืองเกิดสุญญากาศทางการเมืองประเทศถึงทางตัน เป็นเหตุให้นำไปสู่การรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ดิฉันจำได้ดีภาพที่หัวหน้าคณะรัฐประหารได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ เพื่อประกาศยึดอำนาจพร้อมกับบอกว่า รัฐบาลทำบ้านเมืองเสียหายจึงยึดอำนาจและจะคืนความสุขให้กับคนไทยโดยเร็ว
๘ ปีผ่านไปหากคณะรัฐประหารสามารถบริหารประเทศให้มีความเจริญมั่งคั่ง ภาพจำเมื่อ ๘ ปีก่อนคงจะเลือนลางลงหรือไม่มีใครนึกถึง แต่วันนี้ภาพนั้นกลับชัดเจนเด่นมากขึ้น เพราะบุคคลที่ยึดอำนาจไม่สามารถ ‘turn on’ ประเทศไทยได้ ตามที่สัญญาไว้
ดิฉันหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งไหน ฝ่ายประชาธิปไตยจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อได้อำนาจรัฐกลับมาบริหารประเทศโดยเร็ว เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทยทั้งประเทศค่ะ…”
สังเกตมาระยะหนึ่งแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มีการพุ่งเป้าไปที่ประเด็นรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็อธิบายได้ไม่ยากครับ รัฐบาลประยุทธ์ บริหารประเทศมา ๘ ปี คนชอบก็มีคนเกลียดก็เยอะ การขุดปมรัฐประหารขึ้นมาก็เพื่อตอกย้ำความไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
เมื่อมีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาจากฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ ปมรัฐประหารจึงมีผลต่อการตัดสินใจของคนกรุงอยู่พอประมาณ
โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่กลางๆ ที่ไม่เอารัฐประหาร และไม่เอาคนโกง ต้องคิดนานพอควรว่าควรจะลงคะแนนให้ใคร
รัฐประหาร กับ คอร์รัปชัน อะไรเลวร้ายน้อยกว่ากัน
แต่สำหรับแฟนคลับของแต่ละฝั่งแล้ว ไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจนัก เพราะความทรงจำทางการเมืองที่ซึมซับมานับสิบปีเหมือนเส้นคู่ขนาน ทำให้เปลี่ยนขั้วยาก
ก็ไม่ทราบว่า “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ข้อความแบบนี้สามารถหลอกใครให้เปลี่ยนใจได้บ้างหรือเปล่า
ก่อนรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เกิดวิกฤตการเมืองจากน้ำมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ความทรงจำที่ชัดเจน ในช่วงเวลานั้นคือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามเข็นกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง สอดไส้เพื่อให้ “ทักษิณ ชินวัตร” พ้นจากความผิดคดีคอร์รัปชัน
กลับบ้านแบบเท่ๆ
จำกันได้มั้ยครับ ร่างกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ….
มาตรา ๓ คือต้นเหตุให้มวลมหาประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
…ให้บรรดาการกระทำใดๆ ทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง…”
การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งได้อำนาจรัฐมา แทนที่จะบริหารประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชน กลับ พยายามช่วยนักโทษหนีคุกให้พ้นผิด มันยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก
กลับไม่อยู่ในความทรงจำของ “ยิ่งลักษณ์” เลย
ไม่แม้กระทั่งที่จะจดจำกรณีทุจริตจำนำข้าว
แต่ประเทศไทยโชคร้ายพอสมควร รัฐบาลจากการทำรัฐประหารก็มีจุดอ่อนให้โจมตีเช่นกัน
ในแง่หลักการประชาธิปไตยสามารถขุดมาโจมตีได้ตลอดเวลา
ในทางปฏิบัติรัฐบาลประยุทธ์ไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ อาทิ ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปตำรวจ ได้ และในข้อเท็จจริงทางการเมือง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนับแต่อดีตก็ไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขได้
แต่ก็เป็นประเด็นให้หยิบฉวยมาโจมตีรัฐบาลประยุทธ์ได้ เพราะเป็นผู้ถืออำนาจอยู่ในปัจจุบัน
การปลุกประเด็นรัฐประหารก็เพื่อ กดให้ “อัศวิน ขวัญเมือง” “สกลธี ภัททิยกุล” “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” เข้ามุม
บวกกับธรรมชาติของรัฐบาลยิ่งอยู่นานยิ่งมีปัญหา
อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-๑๙ ศรัทธาในรัฐบาลและเครือข่ายจึงลดลงไปโดยอัตโนมัติ
กลับกันการสร้างภาพให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อิสระจากพรรคเพื่อไทย ก็เพื่อสลัดภาพโกงของระบอบทักษิณ ได้ผลมากโข
เมื่อบวกกับฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย ความนิยมในตัว “ชัชชาติ” จึงมีมากกว่าผู้สมัครรายอื่น
ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงแทบไม่ต้องลุ้น เพราะ “ชัชชาติ” นำโด่งตั้งแต่เริ่มนับคะแนน
แลนด์สไลด์!
ระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากต้องการ “ชัชชาติ” ก็ต้องว่าไปตามนั้นครับ
หลังจากนี้ สิ่งที่ต้องเฝ้าดูคือ นโยบายที่ “ชัชชาติ” ประกาศจนตัวเองจำได้หมดหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะมีมากถึง ๒๑๔ นโยบาย
๔ ปีในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะทำให้ครบหรือไม่
ปลอดภัยดี ๓๔ นโยบาย
สร้างสรรค์ดี ๒๐ นโยบาย
สิ่งแวดล้อมดี ๓๔ นโยบาย
เศรษฐกิจดี ๓๐ นโยบาย
เดินทางดี ๔๒ นโยบาย
สุขภาพดี ๓๔ นโยบาย
โครงสร้างดี ๓๔ นโยบาย
เรียนดี ๒๘ นโยบาย
บริหารจัดการดี ๓๑ นโยบาย
เอาเป็นว่า “ชัชชาติ” มีเวลาฝึกงานไม่มากนัก จะบอกว่าเป็นการรับน้องก็ได้เพราะกว่าฝนจะหมดก็สิ้นเดือนตุลาคม
ฉะนั้นระหว่างนี้น้ำคงจะท่วมกรุงอีกหลายรอบ ก็รอดูว่า “ชัชชาติ” มีวิธีบรรเทาได้ดีกว่าผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนๆ หรือไม่
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลพึงตระหนักว่า พรรคฝ่ายค้านอันดับ ๑ กับอันดับ ๒ รวมกันได้รับความนิยมจากคนกรุง ในสัดส่วนที่เรียกได้ว่าหายนะสำหรับพรรคร่วมรัฐบาล มากพอที่จะประเมินได้ว่าเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ พรรคการเมืองไหนจะได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล
และใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เขากลับมาแล้วครับ
ที่มา https://thaipost.co/wp-admin/post-new.php