ไปเลือกตั้งกันนะ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

และแล้ววันสำคัญชี้ชะตาประเทศไทยก็มาถึง

พรุ่งนี้ (๑๔ พฤษภาคม) ไปเลือกตั้งกันครับ

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งปีนี้ รวมทั้งสิ้น ๕๒,๕๑๗,๙๗๑ คน

นิวโหวตเตอร์ ๓,๒๘๓,๔๑๓ คน

ปี ๒๕๖๒ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิ์ ๗๔.๖๙ ไม่น้อยแต่ก็ไม่ถือว่ามาก

มาปีนี้ หากไปเลือกตั้งกันให้ถล่มทลาย โฉมหน้าการเมืองอาจไม่เป็นอย่างที่บางพรรคการเมืองคิด และอยากให้เป็น

ไปเลือกตั้งกันเยอะๆ ครับ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ โดยพื้นฐานมิได้ประสงค์เปลี่ยนรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง

ใช่จะเดินตามฝรั่งหัวแดงไปเสียทุกเรื่อง

ฉะนั้นออกไปโหวตกันครับ ไทยต้องเป็นไทยเหมือนเดิม

ระบอบการปกครองต้องไม่เปลี่ยน ยังคงเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหมือนเดิม

อย่ายอมให้บางพรรคการเมืองมาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเด็ดขาด

บางคนอาจแย้งว่าเพ้อเจ้อหรือเปล่า?

ใช่ครับ เพ้อเจ้อ เพราะมีบางคนคิดว่าเพ้อเจ้อที่ไปกล่าวหาบางพรรคการเมืองว่ามีแนวคิดล้มเจ้า

เพ้อเจ้อ คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่มีอยู่จริง

วันนี้เขาเปิดหน้าชกกันแล้ว

ฉะนั้นถึงเวลาที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดต้องแสดงพลัง

หากเสียงส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนประเทศไทย มันก็ต้องเปลี่ยน

แต่หากบอกว่า สิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่คืออัตลักษณ์ที่ต้องรักษาไว้ เพราะแม้แต่ชาวโลกยังเห็นคุณค่า เราจะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นอย่างอื่นไม่ได้

จึงต้องสะท้อนให้เห็นจากผลการเลือกตั้ง

ข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แยกตามช่วงอายุ

กลุ่มเจเนอเรชัน Z หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี ๒๕๔๗ ถึงก่อนวันที่ ๑๖ พ.ค.๒๕๔๘ หรือผู้ที่มีอายุ ๑๘ ปี จำนวน ๑,๐๙๓,๗๒๒ คน

กลุ่มเจเนอเรชัน Y ผู้ที่เกิดระหว่างปี ๒๕๒๗-๒๕๔๖ ช่วงอายุ ๒๐-๓๙ ปี มีจำนวน ๑๗,๙๘๓,๓๕๕ คน

กลุ่มเจเนอเรชัน X ผู้ที่เกิดระหว่างปี ๒๕๐๖-๒๕๒๖ ช่วงอายุ ๔๐-๖๐ ปี มีจำนวน ๒๐,๘๘๒,๒๓๕ คน

กลุ่มเจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์ หรือผู้ที่เกิดระหว่างปี ๒๔๙๑-๒๕๐๕ ช่วงอายุ ๖๑-๗๕ ปี มีจำนวน ๙,๓๒๖,๓๑๔ คน

และกลุ่มบีฟอร์เบบี้บูมเมอร์ หรือผู้ที่เกิดก่อนปี ๒๔๙๑ ที่อายุมากกว่า ๗๕ ปี มีจำนวน ๒,๙๕๖,๑๘๒ คน

๒ กลุ่ม ที่จะชี้ขาดการเลือกตั้งคือ กลุ่มเจเนอเรชัน Y และเจเนอเรชัน X

ก็พอมองเห็นแนวโน้มนะครับ เพราะช่วงอายุมีส่วนสัมพันธ์กับการเป็นแฟนคลับพรรคการเมืองในระดับสูงทีเดียว

แต่ไม่อยากให้มองตัวเลขนี้ในเชิงของความแตกแยก เพราะเลือกตั้งมาแล้วยังแตกแยก ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

การเลือกตั้งครั้งนี้ แตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วแทบจะสิ้นเชิง

ไม่ใช่ในแง่ของระบบเลือกตั้ง หรือกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ

แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมือง

ครั้งนี้หลายพรรคสู้แบบไม่มีมิตร

หากมองหลวมๆ การเลือกตั้งยังคงเป็นการต่อสู้ระหว่างขั้วการเมืองเดิม

พรรคร่วมรัฐบาลซีกหนึ่ง

กับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกซีกหนึ่ง

พรรคร่วมรัฐบาลแข่งกันเองแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีโจมตีกันบ้างโดยเฉพาะเรื่องกัญชาเสรี แต่ไม่มีนัยสำคัญอะไร

ผิดกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน การต่อสู้ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล แทบไม่เหลือเค้าความเป็นมิตร

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เพราะความคาดหวังเรื่องชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ ในสนามเลือกตั้ง ๒ พรรคการเมืองนี้จึงแข่งกันดุ

พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ได้ ไม่ใช่เพราะดึงคะแนนมาจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ต้องแย่งฐานคะแนนจากพรรคก้าวไกลให้ได้

พรรคก้าวไกล ชูสโลแกน เปลี่ยนประเทศไทย เปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนไปในทิศทางไหน มีการตั้งข้อสังเกตกันไปเยอะพอควรแล้ว

โดยใช้การแก้ ม.๑๑๒ เป็นหัวเชื้อ

ส่วนพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนประเทศเช่นกัน

แต่เปลี่ยนโดยไล่ระบอบประยุทธ์ หลังจากประยุทธ์ไล่ระบอบทักษิณ

“เสี่ยอ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความไว้ยาวเฟื้อย

“….การเลือกตั้งในวันที่ ๑๔ พ.ค. ๖๖ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย เพราะเป็นการเลือกตั้งที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจในการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน โดยยังคงมีกลไก รธน.ที่กำหนดให้ ส.ว. ๒๕๐ คน มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อันเป็นแต้มต่อที่สำคัญในการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องของระบอบประยุทธ์

นั่นหมายความว่าหากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมสามารถจับมือรวมกันแค่ ๑๒๖ เสียง ก็สามารถชนะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้วและประเทศไทยก็จะมีนายกรัฐมนตรีในแบบเดิมที่ทำให้พี่น้องประชาชนต้องทนทุกข์ทรมาน มานานถึง ๘-๙ ปี

แต่หากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง จะตั้งรัฐบาลได้จริง จำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงของ ส.ส.ให้ได้มากเกิน ๒๕๐ คน และจะมั่นใจมากกว่าหากได้ ส.ส.มากถึง ๓๐๐ คน ซึ่งพรรคการเมือง ที่มีโอกาสจะทำให้เป็นรูปธรรมได้จริงๆ คือ ‘พรรคเพื่อไทย’

แม้ว่าในช่วงหลังหลายโพลจากหลายสำนักระบุว่าบางพรรคมาแรงแซงพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่หากดูจากข้อมูลในพื้นที่ซึ่งเป็นคะแนนจริงๆ ไม่ใช่คะแนนในอากาศ ซึ่งเราติดตามอย่างใกล้ชิด ยังบ่งชี้ว่า พรรคเพื่อไทยยังคงได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง

ทำไมถึงมั่นใจอย่างนั้น เพราะจริงอยู่กระแสอาจมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกของพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และเขตเมืองใหญ่ แต่ในจำนวนเขตเลือกตั้ง ๔๐๐ เขตนั้น ๓๐๐ กว่าเขตเป็นพื้นที่ อบต. เทศบาลตำบล กระแสไม่มีผลมากเท่ากับความผูกพันและการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่าง ส.ส. กับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ

ดังนั้น จำนวน ส.ส.เขตพื้นที่ จึงเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง และต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันซึ่งจะทำให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง ปล่อยให้ตาอยู่อย่างลุงและเครือข่ายชนะไปย่อมไม่เกิดผลดี

ผมไม่อยากให้ความหวังในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของพี่น้องประชาชนต้องกลายเป็นคะแนนตกน้ำและตาอยู่ได้ชัยชนะไป

นั่นจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก

ถ้าความหวั่นเกรงของผมเป็นจริง เพราะบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นง่ายนัก หากการตัดสินใจเลือกที่จะกาบัตรนั้นทำให้ ความหวังที่จะให้เกิด ‘การเปลี่ยนแปลง’ กลายเป็นหมัน อย่างน่าเสียดาย

เราจะได้ ‘ระบอบประยุทธ์’ กลับมาและต้องทนอยู่ต่อไปอีก ๔ ปี…

ผมเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทย คือคำตอบที่เป็นจริงในการเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความหวัง และเกิดการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงของชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่เป็นจริง เพราะปัญหาของประเทศวันนี้อยู่ในขั้นวิกฤติระดับ ‘โคม่า’ ต้องการทีมมืออาชีพเข้ามาแก้ไ- ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยพิสูจน์ให้เห็นเป็นผลงานเชิงประจักษ์มาแล้ว

วันนี้ พรรคเพื่อไทยมีทั้งผู้นำที่พร้อม มีนโยบายที่พร้อม และมีทีมทำงานที่พร้อม ๑๔ พ.ค. ๖๖ กาพรรคเพื่อไทยทั้งสองใบ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที…”

ประเทศไทยจะเปลี่ยนทันทีจริงๆ ครับ หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและได้เปลี่ยนรัฐบาล

จะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคระบอบทักษิณอีกครั้ง

“เสี่ยอ้วน” บอกกับประชาชนว่า การไล่ระบอบประยุทธ์นั้นพรรคก้าวไกลทำไม่ได้ ต้องเป็นพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

แม้ ๒ พรรคนี้ จะต่อสู้กันหนักหน่วง แต่ก็เริ่มมีการฝันเฟื่องว่า เพื่อไทย ๓๑๐ เสียง ก้าวไกล ๑๖๐ เสียง รวม ๒ พรรคกวาดไป ๔๗๐ เสียง ตั้งรัฐบาลกัน ๒ พรรค

เหลืออีก ๓๐ ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ไทยสร้างไทย ฯลฯ เอาไปแบ่งกัน

เพ้อเจ้อครับ

Written By
More from pp
หมู-ไก่-ไข่ ชะตากรรมเดียวกัน ต้นทุนการผลิตสูง ร้องรัฐช่วยด่วน
จุฑา ยุทธหงสา นักวิจัยสินค้าเกษตร สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ และครบรอบ 1 ปี ไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งสงครามส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งเศรษฐกิจและสังคม
Read More
0 replies on “ไปเลือกตั้งกันนะ – ผักกาดหอม”