ผักกาดหอม
ยังมีประเด็นให้ติดตาม
วานซืน (๑๑ กรกฎาคม) คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เขาประชุมกันเรื่องการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าสักเท่าไหร่
แต่ความเห็นแย้งภายใน กมธ.ชุดนี้ ยังคงมีอยู่เช่นเคย
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมความผิด ม.๑๑๒
อีกฝ่ายเห็นว่าควร!
ตามคำแถลงข่าวของ “นิกร จำนง” เลขานุการคณะกรรมาธิการ ไม่ใช่แค่ ม.๑๑๒ ที่ยังเห็นต่างกัน
แต่ยังมีมาตรา ๑๑๐ ด้วย
“…ที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันแบ่งเป็น ๓ แนวทางคือ
๑.ไม่เห็นด้วยที่จะรวมความผิดทั้งสองมาตราไว้ในการนิรโทษกรรม
๒.รวมความผิดทั้งสองมาตราในการนิรโทษกรรม แต่มีเงื่อนไขเป็นพิเศษ
และ ๓.รวมความผิดทั้งสองมาตราในการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข
ทบทวนกันอีกครั้งครับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๐ ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี
ผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์หรือชีวิต ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือรู้ว่ามีผู้จะประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี
มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ด้วยความที่ทั้ง ๒ มาตรามีความละเอียดอ่อนสูงมาก ผลการพิจารณาของ กมธ. ไม่ว่าออกมาแนวทางไหน จะต้องอธิบายในเชิงกฎหมายได้ครอบคลุม และสมเหตุสมผล
อย่าว่าไปตามกระแส
มีประเด็นจาก “อังคณา นีละไพจิตร” สมาชิกวุฒิสภาป้ายแดง ที่ฟังดูแล้ว จะนำไปสู่ข้อถกเถียงอีกมากว่าเจตนาคืออะไร
“…ยอมรับว่า คนที่โดนคดี ๑๑๒ มีจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะพยาบาทอาฆาตมาดร้ายจริง
แต่ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้ตั้งใจจะก่อให้เกิดความเสียหาย
ส่วนตัวจึงมองว่าควรพิจารณาเป็นแต่ละราย เช่นกรณีคนที่แต่งชุดไทย แต่ถูกโทษจำคุก ๓ ปี จึงมองได้ว่าเขาอาจจะพลั้งเผลอไป
ถ้าให้โอกาสเขาได้กลับมาในสังคม เชื่อว่าเขาก็จะเป็นคนหนึ่งที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ดีกว่าไปติดคุก…”
ก็ถือว่ามีความเข้าใจในบริบทของการกระทำความผิดในระดับหนึ่ง
ที่ผ่านมาการแสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้ายทั้งด้านวาจา ข้อเขียน และพฤติกรรม เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น
นักสิทธิมนุษยชนอย่าง “อังคณา นีละไพจิตร” ก็ยอมรับว่ามีจริง
แต่การบอกว่า แต่งชุดไทย ถูกโทษจำคุก ๓ ปี มันผิวเผินเกินไป
ไม่เคยมีใครในประเทศไทยแต่งชุดไทยแล้วถูกแจ้งความว่าทำผิดกฎหมายครับ
สมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ทรงเกียรติ การให้ข้อมูลต่อสาธารณะนั้น จะต้องครบถ้วน และเที่ยงตรง ไม่ใช่พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น
คำพิพากษาคดีนี้มีให้อ่าน สาระสำคัญไม่ใช่เรื่องชุดไทย ฉะนั้นอย่าสร้างวาทกรรมให้ผู้คนเข้าใจผิด เหมือนคดี ตายายเก็บเห็ดติดคุก
ทั้งที่จริงไม่ใช่ตายาย เพราะอายุ ๔๗ กับ ๔๔ ปี
ไม่ได้ถูกจับเพราะเก็บเห็ด แต่ถูกจับเพราะไปตัดไม้ในป่าสงวนแห่งชาติป่าดงระแนง ๗๒ ไร่ มีหลักฐานตัดไม้สักและกระยาเลยกว่า ๑ พันต้น
คำพิพากษาศาลคดีที่ “อังคณา นีละไพจิตร” บอกว่าติดคุกเพราะแต่งชุดไทย ความโดยสรุปคือ…
จำเลยกระทำความผิด แต่งกายด้วยชุดไทย ถือกระเป๋าสีทองขนาดเล็ก มีชายชุดไทยแต่งชุดไทยราชปะแตนเดินตามหลังคอยกางร่มให้ มีหญิงใส่ชุดลายดอกถือพานและถือโทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภเดินตาม
โดยในขณะที่จำเลยเดินแบบ มีผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” มีผู้ชุมนุมยื่นมือไปจับข้อเท้า ซึ่งจำเลยได้หยุดยืนให้ผู้ชุมนุมจับข้อเท้า และจำเลยได้ยื่นมือไปจับมือทักทายกับผู้ชุมนุมอื่นๆ ก่อนเดินย้อนกลับเข้าไปหลังป้ายที่มีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”
จากนั้น “สายน้ำ” ได้ออกมาเดินแบบในชุดเสื้อกล้ามครอปท็อปสีดำ มีข้อความที่แผ่นหลังว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” แล้วมีผู้ชุมนุมตะโกนว่า “ในหลวงสู้ๆ”
การกระทำของจำเลยและสายน้ำเกิดขึ้นโดยต่อเนื่องกัน ศาลพิพากษาโดยนำพฤติการณ์มาพิเคราะห์กับสภาพแวดล้อมแล้วเข้าใจว่า จำเลยและสายน้ำมีการซักซ้อมกันมาก่อนว่าจำเลยแสดงตนเป็นราชินี และสายน้ำแสดงตนเป็นรัชกาลที่ ๑๐
ครับ…มันคือพฤติการณ์ที่แสดงกันต่อเนื่องในช่วงเวลาดังกล่าวในหลายสถานที่
ทำกันเป็นทีม
ไม่ได้ติดคุกเพราะแต่งชุดไทย
ก่อนที่ กมธ.จะสรุปออกมาแนวทางใดแนวทางหนึ่ง สิ่งที่ต้องตระหนักให้มากคือ
ม.๑๑๒ เป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวเนื่องด้วยเสรีภาพและชื่อเสียง ซึ่งมุ่งคุ้มครองบุคคลธรรมดา
การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงไม่อาจนำเหตุให้กระทำการได้ตามมาตรา ๓๒๙ และ ๓๓๐ ในประมวลกฎหมายอาญามาอ้างได้
มาตรา ๓๒๙ ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(๓) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ
(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
มาตรา ๓๓๐ ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ในการสู้คดี ม.๑๑๒ จำเลย หรือผู้ต้องหา หลายคนอ้าง ๒ มาตรานี้เพื่อให้พ้นผิด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กมธ.ต้องตีข้อกฎหมายให้แตก มองพฤติการณ์ของจำเลยหรือผู้ต้องหาแต่ละคนให้ออก
ก่อนที่จะให้คำตอบว่าควรนิรโทษกรรม หรือไม่นิรโทษกรรม ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒.