ทวงคืนความจริง-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ประเด็นทวงคืนสนามหลวง อาจมีเจตนาซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คิด

ขณะนี้กลายเป็นกระแสในโซเชียล ที่คนรุ่นใหม่พากันให้ความสนใจ

ทำให้ความนิยมในตัว “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เริ่มมีการวิเคราะห์กันแล้วว่า สุดท้าย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” อาจเบียด “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้สำเร็จ เพราะการทวงคืนสนามหลวงนี่เอง

ครับ…การทวงคืนสนามหลวง เริ่มต้นอย่างน่าฉงน ที่  “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” จะพาสนามหลวงย้อนยุค ให้ประชาชนชักว่าว ดูหมอ และจะมีผีขนุน ผีมะขาม คนไร้บ้าน ตามมา

แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

เพราะชื่อ “สนามหลวง” คนรุ่นใหม่จึงอยากเอาชนะ  แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นสนามราษฎร์

พรรคก้าวไกลเองก็รับรู้ถึง “แนวทาง” ของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสนามหลวง ฉะนั้นการนำประเด็นนี้มาเป็นแคมเปญหาเสียง นอกจากหวังคะแนนจากคนรุ่นใหม่แล้ว

ยังเป็นการตอบสนองอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ ที่พลุ่งพล่าน อยู่กับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย

โดยตัว “สนามหลวง” ชัดเจนอยู่แล้วว่าอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็น  “โบราณสถานทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง)” แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เป็นโบราณสถานระดับชาติ ประเภทสวนสาธารณะ ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๐ ยุคที่  “เดโช สวนานนท์” เป็นอธิบดีกรมศิลปากร

ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๔ ตอน ๑๒๖ ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๒๐ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔

ความหมายของ “โบราณสถาน” ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ได้ให้ความหมายไว้ในมาตรา ๔ ว่า

 “อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี  แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย”

จะเอาไปตั้งแผงดูดวง พ่วงขายลอตเตอรี่ มีผีมะขาม เข้ามาแจมเหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว

มีคำอธิบายรอบด้านครบถ้วน จากพลโทนันทเดช  เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ตั้งหัวข้อ “สนามหลวง กับ ผลประโยชน์ของชาติ” ในเฟซบุ๊ก

——————–

๑.สนามหลวงเกิดจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงให้ยุบพื้นที่ของวังหน้ามารวมกับพื้นที่เดิม จึงทำให้ “สนามหลวง” มีพื้นที่สวยงามเป็นรูปไข่อยู่ในปัจจุบัน

๒.เพื่อให้สนามหลวงดูสวยงาม สะอาดตา เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มมาประเทศไทย รัฐบาลยุคนั้น จึงมีการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่โดยยุบเลิกตลาดนัดไปไว้อยู่ที่สวนจตุจักร  ต้นมะขามถูกฟื้นฟู จากความผุพังเพราะตอกรอยตะปู ขึงผ้าใบ มีการตัดแต่งกิ่งให้ได้รูปทรงกลับมา มีสภาพเป็นต้นมะขามธรรมชาติตามเดิม

๓.สาเหตุที่ต้องล้อมรั้ว สนามหลวงถูกประกาศให้เป็นโบราณสถานเมื่อ ปี ๒๕๒๐ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำการดูแลปรับปรุง ให้อยู่ในสภาพที่ดี แต่ก็ไม่มีใครเข้ามาดูแลรักษา ความเสียหายก็เริ่มมีมากขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น

 (๑) สนามหลวงถูกใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง การชุมนุมใหญ่ สร้างความเสียหาย ซึ่งในการปรับปรุงแต่ละครั้ง เสียงบประมาณครั้งละหลายล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อคราวชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มต่อต้านนายใหญ่ของพวกเสื้อแดง

 (๒) มีคนเร่ร่อนเข้ามายึดครองสนามหลวง เรียกค่าคุ้มครองกันเอง ปลูกเพิง ปัสสาวะ อุจจาระ เหม็นคลุ้งเวลาเดินผ่าน ไปท่าพระจันทร์ มีการค้ายาเสพติด ค้าประเวณีกลางสนามหลวง กีฬาว่าวก็เล่นได้ ไม่สะดวกเพราะจะไปเข้าพื้นที่มาเฟียไม่ได้ มีการตีชิงวิ่งราว ผู้ที่เดินผ่านสนามหลวงเกิดขึ้นเป็นประจำ สิ่งสำคัญที่เป็นฟางชิ้นสุดท้าย ที่ต้องทำรั้วล้อมสนามหลวง คือ การค้ายาเสพติด ผู้ค้าจะนำไปฝังดินไว้ เมื่อตกลงกันได้ก็จะพามาชี้หลุมให้ขุดขึ้นมาเอง หรือการใช้เด็กเร่ร่อนเป็นต่อ ฯลฯ

 (๓) ปี ๒๕๕๓ จึงเริ่มมีความคิดในการการล้อมรั้วขึ้น เพื่อลดภาระในการดูแลทั้งคน สนามหญ้า ต้นมะขาม ยาเสพติด การค้าประเวณี การเรียกค่าคุ้มครอง การวิ่งราว  ฯลฯ รวมถึง ความสวยงาม และ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

๔.ปัญหาสำคัญที่สุด คือ กรณีที่ปัจจุบันนี้ ประเทศไทย มีรายได้เข้าประเทศมากที่สุด จากการท่องเที่ยว และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่นักท่องเที่ยวเกือบ ๘๐% ต้องมาดูคือ วัดพระแก้วกับพระบรมมหาราชวัง และทัวร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ สภาพของสนามหลวงจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ต้องรักษาไว้ เพื่อรายได้ส่วนรวมที่จะเข้าประเทศ

๕.ส่วนการใช้พื้นที่ของประชาชนนั้น สามารถทำได้ทุกเวลา สนามหลวงจะเปิดตั้งแต่ตี ๕ จนถึง ๔ ทุ่ม ซึ่งจะเห็นทั้งคนวิ่ง เดิน ออกกำลัง เล่นสเกตบอร์ด ฯลฯ เต็มไปหมดตอนเย็นครับ

๖.ขนาดสวนสาธารณะ ยังต้องล้อมรั้วเลย นี่เป็นโบราณสถานที่มีกฎหมายพิเศษควบคุม ทำไมจะล้อมรั้วไม่ได้ละ สงสัยจริงว่ามันมีอะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า

ข้อบกพร่องมีอยู่ ๒ ประการ คือ

 (๑) การปลูกต้นไม้คลุมดินใต้ต้นมะขามริมฟุตพาทด้านนอกสุด ควรเลิกได้แล้วครับ แม้ว่าจะสวยดี และหาเงินจากงบประมาณง่ายดี แต่มันกินพื้นที่ออกมาทำให้ประชาชนเดินไม่ค่อยสะดวกครับ

 (๒) ช่องเปิดเข้าสู่สนามหลวง น้อยไปนิดหนึ่ง เพิ่มอีกสัก ๒ ช่องก็จะดีขึ้นครับ

ทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นจึงต้องเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติมาตัดสิน ไม่ใช่เอามาหาเสียงส่วนตัว ไม่ศึกษาที่มาที่ไปและเหตุผลที่เป็นรากเหง้าของชาติตัวเอง คิดสั้นๆ ว่าเป็นสโลแกนหาเสียงที่โก้หรู แต่มันก็ทำให้คนที่เห็นสนามหลวงมาเกือบ ๘ ทศวรรษ อย่างผมอดดูแคลนคุณไม่ได้

—————–

แน่นอนครับ… เพราะมีจุดบกพร่องบางประการ ทำให้พรรคก้าวไกลหยิบฉวยเอาไปเป็นประเด็นหาเสียง

การล้อมรั้วแทบไม่มีทางเท้าให้เดิน ทั้งๆ ที่โดยรอบสนามหลวงนั้น มีทางเดินขนาดใหญ่ ทำไมทาง กทม.ถึงไม่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน ที่จำเป็นต้องสัญจรโดยรอบสนามหลวง

การขยับรั้วเข้าไปด้านในอีก ๕ เมตร อยู่ในวิสัยที่ทำได้

แต่หากทำไม่ได้ ทาง กทม.เคยชี้แจงเรื่องนี้กับประชาชนหรือไม่ว่า ไม่ได้เพราะอะไร

การที่ กทม.อ้างว่าพื้นที่ถูกใช้ในการทำกิจกรรมพระราชพิธีต่างๆ ยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะจะมีคำถามว่า พระราชพิธี ไม่ได้จัดทุกวัน และจุดที่จัดคือด้านในสนามหลวง

ครับนี่คือจุดอ่อน ที่ถูกจับจ้องและพร้อมจะโจมตี

คนที่โจมตี ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ กทม.

แต่เป้าหมายอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์

ก็อย่างที่ “พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์” เขียนให้อ่าน ทางเท้าด้านนอกสุด ควรเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับประชาชน


ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีทั้งสิ้น ๔.๔ ล้านคน

แบ่งตามช่วงอายุดังนี้ครับ

อายุ ๑๘-๒๔ ปี (Gen Z) มี ๔๖๔,๔๖๓ คน

อายุ ๒๕-๔๐ ปี (Gen Y) มี ๑,๒๔๙,๕๔๓ คน

อายุ ๔๑-๕๖ ปี (Gen x) มี ๑,๘๑,๕๖๒ คน

อายุ ๕๗-๗๕ ปี (Baby Boomer) มี ๑,๑๑๔,๙๖๔ คน

และอายุ ๗๖-๘๕ ปี (Silent Generation) มี  ๑๙๙,๖๗๕ คน

 ตัวเลขนี้มีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

อยู่ที่กลุ่มไหนไปใช้สิทธิ์มากกว่ากัน

ที่มา:https://www.thaipost.net/columnist-people/113449/

Written By
More from pp
“เศรษฐา” เดินหน้า Digital Wallet อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าปชช. กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ พร้อมแจงที่มาของงบฯ ย้ำชัด ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ
10 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน...
Read More
0 replies on “ทวงคืนความจริง-ผักกาดหอม”