แอสตร้าเซนเนก้าลงนามสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทย เพิ่มอีก 60 ล้านโดสในปี 2565

แอสตร้าเซนเนก้า และ รัฐบาลไทย ร่วมลงนามในสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มอีก 60 ล้านโดสสำหรับการทยอยส่งมอบในปี 2565 เพื่อสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข

ตามข้อตกลงในสัญญาฉบับดังกล่าว แอสตร้าเซนเนก้าจะทำการจัดหาวัคซีนจำนวน 60 ล้านโดสให้แก่รัฐบาลไทยภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 เพิ่มเติมจากข้อตกลงการจัดซื้อวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยส่งมอบภายในปี 2564 โดยในปีนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนรวมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 24.6 ล้านโดส ซึ่งรวมยอดวัคซีนที่ส่งมอบวัคซีนในเดือนกันยายนจำนวน 8 ล้านโดสแล้ว

ภายใต้สัญญาฉบับใหม่นี้ รัฐบาลไทยสามารถเลือกที่จะเปลี่ยนจากวัคซีนรุ่นเดิมของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนรุ่นใหม่อย่าง AZD2816 ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ของประเทศไทยต่อไป ขณะนี้ AZD2816 ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยในเฟสที่ 2 และ 3 โดยคาดว่าวัคซีนรุ่นใหม่นี้จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์กลายพันธุ์หลัก ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมีการระบุกำหนดการส่งมอบวัคซีนรุ่นใหม่นี้ในลำดับต่อไป

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “สัญญาการจัดซื้อวัคซีนฉบับใหม่นี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของเราในการร่วมสนับสนุนรัฐบาลไทยในการลดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศ และควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เดลต้า เรามุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเรารู้สึกขอบคุณรัฐบาลไทยที่เชื่อมั่นในความร่วมมือกับแอสตร้าเซนเนก้าเสมอมา”

แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรผู้ผลิตได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 กว่า 1.3 พันล้านโดสให้แก่ประเทศต่างๆ กว่า 170 ประเทศทั่วโลก โดย 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ

นับตั้งแต่มีการเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าครั้งแรกในช่วงต้นปี 2564 วัคซีนได้สร้างประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการช่วยชีวิตผู้คนมากมายและป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล1

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) เดิมเรียก AZD1222 ถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้

โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

เกี่ยวกับ AZD2816
AZD2816 ถูกพัฒนาขึ้นมาจากโครงของอะดีโนไวรัสเช่นเดียวกันกับ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (Vaxzevria) โดยการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่นี้มีการปรับแต่งให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมที่เกิดขึ้นในหนามโปรตีนผิวเซลส์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เบตา (B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้) จำนวน 10 ตำแหน่ง

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายตำแหน่งนี้มีลักษณะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่พบในไวรัสโคโรนาสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังแพร่ระบาด โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการลดความสามารถของแอนติบอดี้ที่ถูกกระตุ้นเพื่อยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิม (ผลจากการเปลี่ยนแปลงของหนามโปรตีนไวรัสในตำแหน่ง K417N, E484K, N501Y)

เพิ่มความสามารถในการติดเชื้อขึ้นจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แรกดั้งเดิม (ผลจากการเปลี่ยนแปลงของหนามโปรตีนไวรัสในตำแหน่ง D614G) และลดความไวต่อแอนตี้บอดี้ในการยับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิม (ผลจากการเปลี่ยนแปลงของหนามโปรตีนไวรัสในตำแหน่ง L452R) ทั้งนี้การปรับแต่งดังกล่าวเป็นเพียงการปรับแต่งย่อย วัคซีน AZD2816 และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ารุ่นแรกไม่มีข้อแตกต่างในองค์ประกอบด้านอื่นๆ

 

Written By
More from pp
เฝ้าระวังช่วงเทศกาลปีใหม่
31 ธันวาคม 2564 – ว่าที่ร้อยตรี ธนิตศักดิ์ ดารามั่น คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายนิพนธ์ บุญญามณี) เปิดเผยว่าในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19...
Read More
0 replies on “แอสตร้าเซนเนก้าลงนามสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทย เพิ่มอีก 60 ล้านโดสในปี 2565”