ผักกาดหอม
เป็นที่ชัดเจนแล้ว
สงครามนี้ยืดเยื้อยาวนานแน่นอน
ฉะนั้นพูดความจริงกันเสียแต่เนิ่นๆ นะครับ
อย่าปล่อยให้ประชาชนรอแล้วไม่มีคำตอบใดๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
การบอกความจริงกับประชาชนของ คุณหมอนคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ควรนำไปเป็นแบบอย่าง
ไล่เรียงสิ่งที่คุณหมอนครชี้แจงไว้ยืดยาวได้ตามนี้ครับ
ไทยจองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ที่ ๖๑ ล้านโดส
หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของกำลังการผลิต ของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจำกัดอยู่ที่ ๑๘๐ ล้านโดสต่อปี
หรือเฉลี่ย ๑๕-๑๖ ล้านโดสต่อเดือน
แต่เป็นจำนวนที่ต้องมีการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่ทำสัญญาการสั่งซื้อไว้ด้วย
ดังนั้น คาดว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ไทยก็อาจจะไม่ได้รับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถึง ๑๐ ล้านโดสต่อเดือนตามที่กำหนดไว้
คาดว่าจะได้รับประมาณ ๕-๖ ล้านโดส
ในสัญญาไม่ได้ระบุจำนวนการส่งมอบ มีเพียงกรอบเวลาเท่านั้น
“บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ ๑๖ ล้านโดสต่อเดือน และแอสตร้าเซนเนก้าต้องส่งมอบให้ประเทศอื่นด้วย เพราะเป็นเรื่องสัญญาการซื้อขาย ซึ่งเมื่อเดือน มิ.ย. แอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบให้เราทั้งล็อตการผลิตทำให้ไทยได้ครบ ๖ ล้านโดส โดยไม่ได้ส่งออกไปยังประเทศอื่นเลย แต่ต่อไปคงไม่อาจทำเช่นนั้นได้เพราะเป็นเรื่องของสัญญาการซื้อขาย และเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หากต้องการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ๑๐ ล้านโดสต่อเดือน ต้องพยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นมาเพิ่ม
สำหรับวัคซีน mRNA พยายามจัดหาอยู่ โดยเจรจากับไฟเซอร์
มีการทำสัญญาจองแล้ว ๒๐ ล้านโดส
เดิมจะส่งมอบไตรมาส ๓ ก็เลื่อนเป็นไตรมาส ๔ ประมาณตุลาคม พฤศจิกายน อยู่ระหว่างการต่อรอง และขอให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตหรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ
มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา เป็นซับยูนิตโปรตีน ตัวแรกที่ออกมามีประสิทธิภาพป้องกันโรค ๙๒% น่าสนใจเพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย
รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย เช่น วัคซีนเคียวร์แวค ของเยอรมนี ซึ่งมีการเจรจาข้อมูลเชิงลึกกันอยู่ และดูว่าเขาจะพัฒนาต่อหรือไม่ ถือเป็นวัคซีนที่น่าสนไม่แพ้ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น
ระหว่างนี้ ไตรมาส ๓ โอกาสวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาในไทยเป็นไปได้ยาก เท่าที่สืบค้น ยังคงมีแค่วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน ทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม
ครับ…โดยสรุปคือ ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป สถานการณ์จะซับซ้อนขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อจะยังไม่ลด ขณะที่วัคซีนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบได้น้อยกว่าแผนที่วางไว้
นี่คือความจริงที่ประชาชนต้องรับรู้
ภาระจึงไปอยู่ที่รัฐบาล จะบริหารจัดการอย่างไร ต้องมีความชัดเจน
ถ้าไม่ชัดเจน ป่วนแน่
เหมือนอย่างวัคซีนโมเดอร์นาที่เป็นอยู่ตอนนี้
จุดเริ่มต้นของความโกลาหลอยู่ที่ “หมอบุญ วนาสิน” เศรษฐีหุ้น ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ก็ฟังหูไว้หู เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “หมอบุญ” พูดแล้วสร้างความปั่นป่วนไปทั่ว
เอาเป็นว่ามีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งต้องการวัคซีน และทั้งที่รู้ว่าวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่างๆ การซื้อขายจึงผ่านรัฐต่อรัฐเท่านั้น
ภาวะเร่งรีบต้องการวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีน mRNA เป็นที่มาของการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด
“หมอบุญ” อ้างว่าการเจรจากับทางโมเดอร์นาที่จะซื้อเพิ่มอีก ๑๐ ล้านโดสยังไม่มีความคืบหน้า เฉพาะการจองวัคซีนโมเดอร์นาที่เริ่มไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับพบว่าองค์การเภสัชกรรมหน่วยงานเดียวที่สามารถเซ็นเอกสารทำสัญญาบริษัทผู้ผลิต ระบุปัญหาเรื่องยังค้างอยู่ที่อัยการสูงสุด
อย.เพิ่งจะขึ้นทะเบียน วัคซีนโมเดอร์นา เมื่อ ๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา
จากนั้นองค์การเภสัชกรรมชี้แจงว่า วัคซีนโมเดอร์นา ๕ ล้านโดส จะทยอยมาในไตรมาสที่ ๔/๒๕๖๔-มกราคม ๒๕๖๕
คาดว่าจะได้เซ็นสัญญาซื้อจริงในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔
นั่นคือความชัดเจน
ชัดเจนถึงขนาดว่า “หมอเฉลิม หาญพาณิชย์” นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แจ้งมติล่าสุดของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่า ได้กำหนดราคาให้บริการวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้บริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา ๒ เข็ม อยู่ที่ ๓,๓๐๐ บาท
หรือ ๑,๖๕๐ บาท/เข็ม
ในอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการ
เป็นราคาสุทธิที่รวมค่าวัคซีน ค่าบริการ และค่าประกันวัคซีนทั้งหมดแล้ว
ขณะที่หมอวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) บอกว่า อภ.มีการกำหนดราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้วโดสละ ๑,๑๐๐ บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคลแล้ว
นั่นคือไทม์ไลน์ วัคซีนโมเดอร์นา
และที่ “หมอบุญ” บอกว่า โรงพยาบาลของบริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ฯ หรือเครือโรงพยาบาลธนบุรี วางแผนตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ เพื่อซื้อวัคซีน ๔-๕ ชนิด จำนวน ๕๐ ล้านโดส ดูจะเป็นความต้องการเพียงฝ่ายเดียว ใครๆ ก็พูดได้
แต่ทางปฏิบัติ การจัดหาวัคซีนมากขนาดนั้นโดยเอกชนในช่วงเวลาดังกล่าว แทบเป็นไปไม่ได้เลย
ระดับประเทศ หลายประเทศในโลกนี้ยังทำไม่ได้
ครับ….เมื่อต้นปีที่แล้ว “หมอบุญ” บอกว่าจะสร้างสถานพยาบาลฉุกเฉิน สอดรับแนวทางของรัฐบาล โดยใช้ตัวอย่างโรงพยาบาลฉุกเฉินอู่ฮั่นโมเดลของจีน เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้
ตอนนี้ไปถึงไหนแล้วครับ?
การเข้ามาของสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) จะทำให้สถานการณ์ ๓ เดือนจากนี้ไปแย่ลง
โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังเป็นสายพันธุ์หลัก
“เดลตา” ยึดครองแล้วกว่า ๔๐%
ในวงเสวนา หมอคำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา คาดการณ์ว่า
“หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ที่เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิต ๙๙๒ คน ในเดือนกรกฎาคมคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต ๑,๔๐๐ คน เดือนสิงหาคม อัตราการเสียชีวิตเพิ่มเป็น ๒,๐๐๐ คน และเดือนกันยายนจะมีผู้เสียชีวิตสูงถึง ๒,๘๐๐ คน ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขเราเดินต่อไปไม่ได้”
นั่นคือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
ลำพังโรงพยาบาลรัฐคงไม่ไหว
แต่หากโรงพยาบาลเอกชนพร้อมใจเต็มร้อยกับเรื่องนี้ ระบบสาธารณสุขไทยยังเดินไปได้แน่นอน