นางงามแม่ค้า? #สันต์สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

ใครจะเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยก็ช่าง!

สำหรับผมต้องบอกเลยว่า “เห็นด้วย” กับผู้ที่ได้ชื่อเป็น “กูรู” ไม่ว่าจะด้านไหน อย่างคุณฐิติพงษ์ ด้วงคง อาจารย์พิเศษจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์

ที่ได้ชื่อ “กูรูด้านประกวดนางงาม” และได้ตอบคำถาม “ผู้จัดการออนไลน์” ประเด็น “การไลฟ์ขายของ มันลดทอนคุณค่านางงามจริงไหม”?

ผมก็ให้เห็นด้วย-คล้อยตาม (ขออนุญาตลอกที่ผู้จัดการฯ รายงาน) อย่างที่ท่านว่า..

“เราต้องเข้าใจ “คุณค่าของนางงาม” เสียก่อนว่า มันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และสภาพสังคม อย่างในยุค “อาภัสรา หงสกุล” นางงามจักรวาลคนแรกของไทย (พ.ศ.2502)

ภาพจำของนางงามตอนนั้นคือ ต้องรักเด็ก และเรียบร้อยเป็นกุลสตรีไทย โดยชุดคุณค่าพวกนี้ นางงามไม่ได้กำหนดเอง แต่เป็นเหล่า “ผู้จัดเวทีประกวด” “นายทุน”

รวมถึง “บริบทสังคม” ณ ตอนนั้นเป็นคนกำหนด

“แต่คนที่สำคัญที่สุด ก็คือตัวผู้เข้าประกวด หรือนางงามเนี่ย จะสมาทานหรือจะรับชุดคุณค่านี้ไหม

ถ้าเขารับชุดคุณค่านี้ มันอาจจะเป็นตัวที่เสริมพลังให้เขาก็ได้ หรือเป็นตัวที่เป็นภาระให้เขาก็ได้”

นางงามไลฟ์ขายของ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะนิยามนางงาม ก็เปลี่ยนไปตามเวลา และตัวผู้จัดเวทีประกวดอยู่แล้ว ว่าจะนำเสนอนางงามในมุมไหน

ซึ่งการขายของมันก็เป็นการนำเสนอพลังหญิงอย่างนึง “เขามีรายได้เพิ่มขึ้น อันนี้ถือว่าเป็น economic power อย่างนึง เป็นพลังที่เขาสามารถสร้างให้ตัวเองได้ คือพลังทางการเงินใช่ไหม”

“การประกวดนางงาม” มันคือ “ธุรกิจ 100%” การทำกิจกรรมทุกอย่างก็ต้องหวัง “ผลกำไร” แม้เรื่อง “การแสดงทัศนคติ” ที่หลายๆ คนชอบฟัง หรือ “ภาพลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคม”

มันก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “social campaign” ที่จะเอาประเด็นที่สังคมกำลังสนใจมาเป็นคำถามหรือกิจกรรมให้นางงามทำ มันก็เป็นการตลาดอย่างนึง

เราต้องเข้าใจโลกของนางงามว่า ข้างนึงของตาชั่งคือ “ธุรกิจ” ส่วนอีกข้างคือ “สร้างเสริมพลังหญิง” มันอยู่ที่ว่า ผู้จัดเวทีประกวดต่างๆ จะให้น้ำหนักเอียงไปทางไหนมากกว่ากัน”

ครับ..เมื่อผมเห็นด้วยกับกูรู-คุณฐิติพงษ์เสียแล้ว ผมจึงไม่ได้รู้สึกขัดข้องอะไรกับภาพการประกวด “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” รอบคัดตัวที่ จ.สระบุรี

ที่เหล่าผู้เข้าประกวดได้ “ไลฟ์ขายของโชว์” บนเวที และมีคนนำมาแชร์ พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปตามความคิดเห็นของตัวเอง

โดยต่อมาคุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้ถือลิขสิทธิ์ของเวที “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” ได้อธิบายความในเรื่องนี้กับ “ผู้จัดการออนไลน์” ว่า..

“ผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาประกวดในเวทีประกวดของเขา “ต้องประสบความสำเร็จในชีวิต” ชีวิตต้องดีขึ้น อย่างมีเงินเยอะขึ้น มีบ้าน มีรถ มีคนรู้จัก

“เพราะฉะนั้น การขายของมันเป็นประตูบานแรกๆ ที่คนทำงานสามารถทำได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุน”..

คุณค่าของนางงาม ไม่ใช่การเดินโชว์บนเวที “แสดงทัศนคติสวยหรู” หรือ “ออกงานการกุศล” เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดี จะได้ชนะใจกรรมการ

คนสมัยนี้เขาก็รู้ว่ามัน “ปลอม” และมันทำให้ “นางงามเป็นแค่ตุ๊กตา” ที่จับต้องไม่ได้

“ผมว่ายุคนี้ เป็นยุค Reality คุณต้องยอมรับว่า คนสมัยใหม่ และ social network movement เขาไม่เชื่อคนพูด เขาเชื่อคนทำ คนที่ทำให้ประจักษ์จะเป็นที่ยอมรับ”

และการที่ “นางงาม” สามารถสร้างฐานแฟนคลับ “ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าได้ด้วยเสน่ห์ของพวกเธอ” นี่ต่างหากคือ “empower” ที่จับต้องได้ นี่คือคุณค่าของนางงามที่สามารถสร้างธุรกิจได้..

ซึ่งทุกวันนี้ “ธุรกิจนางงาม” คือ “พระอาทิตย์ตกดิน” ฉะนั้น องค์กรก็ต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่รอด จะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้

“มันจึงไม่แปลก ที่นางงามของผมจะขายของ ถ้าใครเรียกนางงามของผมคือแม่ค้า ผมอยากจะเรียกเต็มๆ ว่า แม่ค้าที่เป็นนางงามครับ”

ครับ..ก็ตามนั้น!.

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
อปท.จัดหาอาหารกลางวันเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ปกครองในช่วงปิดภาคเรียนจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19
9 พ.ค.63 กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้ปิดสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งและทุกประเภท กรณีมีเหตุพิเศษ
Read More
0 replies on “นางงามแม่ค้า? #สันต์สะตอแมน”