ผักกาดหอม
จบไปอีกคดี….
วานนี้ (๒๒ พฤษภาคม) ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่กระทรวงการคลังยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๑๓๕/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการ
เป็นเงิน ๓๕,๗๑๗,๒๗๓,๐๒๘ บาท
ชั้นศาลปกครองกลาง “ยิ่งลักษณ์” ชนะคดีครับ ไม่ต้องจ่ายสักบาท
กระทรวงการคลังจึงยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ “ยิ่งลักษณ์” รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน ๑๐,๐๒๘,๘๖๑,๘๘๐.๘๓ บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป
ตัวเลขนี้มาจากสัดส่วนความเสียหายที่ “ยิ่งลักษณ์” ต้องรับผิดชอบ
รายละเอียดคำพิพากษา “นักกินเมือง” ควรอ่านให้ละเอียด จะได้กลับตัวกลับใจ
“…การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นประธาน กขช. ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายของรัฐบาล ว่ามีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน แต่มิได้สั่งการให้คณะอนุกรรมการที่นางสาวยิ่งลักษณ์แต่งตั้งขึ้น ตรวจสอบการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกว่ามีปัญหาการทุจริตหรือไม่ และรายงานให้นางสาวยิ่งลักษณ์สั่งการ จึงเป็นกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่คำนึงถึงข้อทักท้วง และข้อเสนอขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ของรัฐ กลับปล่อยให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๕/๕๖ และปีการผลิต ๒๕๕๖/๕๗ ดำเนินการต่อไป จึงเป็นกรณีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริต…”
“…นางสาวยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุม กขช.แค่เพียงครั้งเดียว จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธาน กขช. ยังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลยไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบ ส่งผลให้มีปัญหาการระบายข้าวไม่ทัน ต้องเก็บรักษาข้าวในคลังเป็นเวลานานจนข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญเสีย…”
“…พฤติการณ์แห่งการกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย นางสาวยิ่งลักษณ์จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กระทรวงการคลัง…”
จากนี้ไปนายกรัฐมนตรีอย่าเคยตัว คิดว่าบริหารประเทศผิดพลาดแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ
อย่าลืมนะครับ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง
หลายๆ มาตราที่คิดว่าไม่มีอะไร แต่มีความศักดิ์สิทธิ์ซ่อนอยู่
มาตรา ๑๖๑ ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
แม้จะถูกมองว่าเป็นแค่พิธีกรรมก่อนเข้าสู่อำนาจ และหลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมามิได้จริงจังกับคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนนัก แต่นักการเมืองคงลืมไปว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ นี้ มีหลายๆ มาตราบัญญัติขึ้นเพื่อจัดการกับนักการเมืองคอร์รัปชันเป็นการเฉพาะ
คงต้องอธิบายกันอีกครั้ง เจตนารมณ์ของมาตรานี้นั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่า บทบัญญัติลักษณะนี้ได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ (มาตรา ๑๔๑) และบัญญัติในทำนองเดียวกันโดยตลอด
แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขให้สามารถถวายสัตย์ปฏิญาณต่อผู้แทนพระองค์ได้ สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
สำหรับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เนื่องจากเพื่อมิให้การถวายสัตย์ปฏิญาณทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี จึงได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินไปพลางก่อนที่จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณได้ และเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ จะมีผลให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมที่อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไปในวันที่มีพระบรมราชโองการดังกล่าว การกำหนดให้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์หรือต่อผู้แทนพระองค์ เป็นไปตามหลักการที่ว่า อำนาจทั้งปวงเป็นของปวงชนชาวไทย โดยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นผ่านองค์กรต่างๆ
เมื่อจะมีผู้เข้าบริหารอำนาจนั้น จึงให้มีการถวายสัตย์เพื่อให้รับรู้ถึงที่มาแห่งอำนาจของผู้ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ และให้คำรับรองว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ทั้งเป็นการยืนยันเพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้นั้น
การถวายสัตย์ปฏิญาณตนจึงเป็นการสะกิดสำนึกของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าจะต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ขณะเดียวกัน อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ค่อยมีใครพูดถึงสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เป็นของใหม่ ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ มาก่อน
มาตรา ๑๖๔ ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม
(๒) รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
(๓) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
(๔) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม ผาสุก และสามัคคีปรองดองกัน
รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี
คำอธิบายรายมาตราของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บทบัญญัติแห่งมาตรานี้เป็นบทบัญญัติใหม่เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจน เนื่องจากในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้กำหนดหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีไว้แต่เพียงว่ามีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดไว้ เพราะถือว่าคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน การใดๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติมักจะทำให้เข้าใจว่ามีผลใช้บังคับได้เสมอ
ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น การตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีจึงมีมากขึ้น เป็นการสมควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้ชัดเจนว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างไร จึงได้มีการบัญญัติมาตรานี้ขึ้น
โดยได้วางหลักว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๑)-(๔)
นอกจากนี้ บทบัญญัติในวรรคสองเป็นการกำหนดหลักความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี และหลักความรับผิดชอบของรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ นโยบายของคณะรัฐมนตรี การเสนอกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติงานต่างๆ ย่อมมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีที่จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา
ณ วินาทีนี้ คนที่ต้องอ่านมากที่สุดคือ “อุ๊งอิ๊ง”
ระวัง “เงินแผ่นดิน” ที่เอาไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ได้อะไรมากเลย นอกจากเพิ่มความฉิบหาย
โอกาสตามรอย “พ่อแม้ว” และ “อาปู” ใช่ว่าจะไม่เกิด
ไม่หนี ก็ติดคุก.
