“คำต่อคำ”!! “จุรินทร์”เสนอทางออกประเทศเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

17 มีนาคม 2564 การประชุมร่วมรัฐสภาครั้งที่ 1 คำต่อคำ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 31 ให้รัฐสภาได้มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2)

ท่านประธานที่เคารพ กระผมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกรัฐสภาเพื่อเป็นทางออกต่อสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประเด็นถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน และแม้แต่ในขณะนี้ และเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้ มีกระบวนการที่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร
กระผมจึงขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 31 ให้รัฐสภาได้มีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ที่เป็นเช่นนั้นดังที่กระผมกราบเรียน และท่านประธานได้รับทราบแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 หรือที่เราเข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นคำวินิจฉัยกลาง แต่แม้จะมีคำวินิจฉัยกลางปรากฎออกมา ข้อความต่างๆ ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่
คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ตอนหนึ่งที่เป็นสาระสำคัญก็คือระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ แต่ต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ อีกครั้งหนึ่ง นี่คือสาระสำคัญของคำวินิจฉัยกลางที่ปรากฎออกมา
แต่ปรากฎว่า ทันทีที่คำวินิจฉัยกลางเกิดปรากฎออกมาเกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในเรื่องความเห็นที่ไม่สอดคล้องต้องกันในเรื่องของการตีความคำวินิจฉัยกลาง ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงวิชาการ ในแวดวงของผู้ที่มีประสบการณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง ทั้งอดีต และฉบับล่าสุด รวมทั้งความเห็นแย้งในระหว่างสมาชิกรัฐสภาด้วยกันเองซึ่งท่านประธานก็คงเห็นอยู่แล้ว ณ เวลานี้ ว่ามีความเห็นที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ว่าแท้จริงแล้วคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญมีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติที่เป็นจริง
ยกตัวอย่าง เช่น ในประเด็นที่ 1 มีข้อถกเถียงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เราพิจารณาอยู่ และกำลังจะพิจารณาวาระ 3 หรือไม่ก็ตามนี้ เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม หรือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ที่มีคำถามนี้เพราะว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการอยู่ 2 หลักการรวมกัน หลักการที่ 1 ก็คือให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องการแก้ไขปกติ กับอีกหลักการหนึ่งก็คือ หลักการให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้ง 2 หลักการนี้ มัดรวมอยู่ด้วยกันเหมือนข้าวต้มมัด
เพราะฉะนั้นเมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลยังไม่ได้ชี้ชัดถึงสถานภาพว่าสุดท้ายแล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเป็นร่างจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับกันแน่ นี่คือข้อถกเถียงประการที่ 1
ประการที่ 2 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำได้ แต่ต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติ ขีดเส้นใต้ “เสียก่อน” คำว่าเสียก่อนนี้ แปลว่า เสียก่อนตอนไหน นี่คือคำถามที่ถกเถียงกันชัดเจนมากว่า เสียก่อน ก่อนที่จะยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 หรือ เสียก่อนหลังลงมติวาระที่ 3 เสร็จสิ้นแล้ว แล้วก็เอาไปทำประชามติก่อนจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี่คือคำถามที่ยังไม่มีใครตอบว่า “เสียก่อน” เสียก่อนตรงไหน และยังไม่มีผู้ใดหาข้อยุติได้ นอกจากถกเถียงกันระหว่าง 2 ความเห็น
ประเด็นที่ 3 ที่ผมขออนุญาตยกตัวอย่างก็คือ การทำประชามติที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น มีระบุไว้แค่ 2 มาตราเท่านั้น ว่าให้จัดทำประชามติได้ คือ 1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ซึ่งระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีสามารถทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนได้ ซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร กับที่ระบุไว้ในมาตรา 256 (8) ก็คือ ระบุว่าในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หลังจากผ่านวาระที่ 3 แล้วก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องนำไปทำประชามติเสียก่อน
การทำประชามตินอกจากนี้ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจนในมาตราใด เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักว่า กรณีใดจะทำประชามติเมื่อไหร่ อย่างไรประกอบด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะนำไปสู่ข้อถกเถียงในเรื่องหน้าที่และอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ดังที่เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นแล้วอย่างที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ในประเด็นที่ 4 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงก็คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี 2 หลักการด้วยกัน คือ 1. อย่างที่ผมกราบเรียน หลักการในการแก้ไขมาตรา 256 ปกติ ตามที่บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วในรัฐธรรมนูญว่าต้องทำ 1-2-3-4-5-6 กับหลักการที่ 2 คือให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามหมวด 15/1 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า กรณีจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ทำประชามติเสียก่อน เพียงเท่านั้นเอง
ดังที่กระผมกราบเรียน แต่ไม่ได้ถึงขั้นวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังพิจารณามาก่อนหน้านั้น และกำลังจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่อย่างไรนั้นจะตกไปทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งจะทำให้นำไปสู่การตัดสินใจได้ว่า เราจะนำไปสู่การโหวตวาระ 3 ได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงแล้วโดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว
นี่ก็คือประเด็นที่กระผมขออนุญาตยกตัวอย่างกราบเรียนถึงข้อถกเถียงในเรื่องหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ว่าจะสามารถเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นแล้วตามถ้อยคำในรัฐธรรมนูญทุกประการ
กระผมจึงเห็นควรให้รัฐสภา ได้โปรดมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งในประเด็นต่างๆ เหตุผลทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีความประสงค์ต้องการเตะถ่วง หรือประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะท่านประธานก็ทราบจุดยืนของผมและพรรคประชาธิปัตย์ดี ว่าเราประสงค์จะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น ประสบความสำเร็จได้จริง และนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ที่เป็นรูปธรรม เกิดขึ้นได้จริง
แต่ที่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง ก็เพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เป็นไปโดยความรอบคอบ และเป็นไปด้วยความชอบโดยรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยปราศจากข้อสงสัย และไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง และเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สามารถนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติม และได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นในอนาคตได้อย่างแท้จริง และสำคัญที่สุดเพื่อให้ญัตตินี้ได้เป็นทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง
แนวปฏิบัติสุดท้าย ถ้ารัฐสภาได้มีมติให้ความเห็นชอบอย่างที่กระผมได้เสนอต่อท่านประธาน ในทางปฏิบัติเราอาจจะขอให้วิปสามฝ่ายได้ร่วมมือกันในการที่จะไปยกร่างญัตติ โดยอาจจะอาศัยประเด็น 4-5 ประเด็นที่กระผมได้หยิบยกขึ้นมาเป็นต้นร่าง หรือจะแก้ไขเพิ่มเติมพิจารณาอย่างไรก็สุดแล้วแต่ เพื่อร่วมกันยื่นญัตติที่เป็นรูปธรรมในประเด็นปัญหาข้อถกเถียงให้ได้คำตอบที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อไป
ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอของกระผม ขอบพระคุณครับท่านประธานครับ
Written By
More from pp
กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค DSI สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ยึดวัตถุอันตรายสารไกลโฟเซต 144,200 ลิตร มูลค่าประมาณ 17 ล้านบาท
22 ธันวาคม 2566  กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.พเยาว์...
Read More
0 replies on ““คำต่อคำ”!! “จุรินทร์”เสนอทางออกประเทศเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”