ผักกาดหอม
หนักกว่าที่คิด…
ดูทรงแล้ว หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นที่จะถูกเด็ดหัวคือ กระบวนการตรวจสอบนักการเมือง
จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ยากต่อการเอานักการเมืองเข้าคุก
หลังจาก “ชูศักดิ์ ศิรินิล” นักกฎหมายมือหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ ขอไปกำหนด “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และจริยธรรม” ของนักการเมืองเอง
อ้างว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีนายกฯ เศรษฐานั้น ครอบจักรวาลเกินไป
“…พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งเรากำลังยกร่างอยู่ เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด ๔-๕ มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก
ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภาแล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา
สมมติว่าคุณอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรม ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าตีความอย่างไร จึงอยากกำหนดให้ หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะทำให้การตีความชัดเจนขึ้น…”
นี่คือข้อความใหม่จาก “ชูศักดิ์”
ความโดยรวมคือ ต้องให้นักการเมืองเป็นผู้กำหนดว่า อะไรคือ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อะไรคือการกระทำขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
จบเห่ครับ!
อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้ว สุดท้ายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ จะเป็นเพียงเศษกระดาษ ทำอะไรนักการเมืองไม่ได้
อีกประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขคือ การลงมติขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ
“…โดยความคิดเรื่องสำคัญใหญ่ๆ ใช้เสียงข้างมากธรรมดาทั่วไป ยกตัวอย่างกรณีของนายกฯ เศรษฐา ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ ๕-๔ เสียง ซึ่งเราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่
จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ กับเรื่องจริยธรรม ให้ชัดเจน จะทำไปพร้อมกัน…”
แบบนี้เขาเรียกว่า การสร้างเงื่อนไขให้ตรวจสอบนักการเมืองยากขึ้น
“ชูศักดิ์” คงหมายถึงกรณีถอดถอนนายกฯ ควรใช้มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเด็ดขาด เช่น ๙ ต่อ ๐ หรือ ๖ ต่อ ๓ อะไรประมาณนั้น
นี่คือผลของการให้นักการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มันเข้าข่าย ชนชั้นใดออกกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น
คิดแต่เรื่อง ผลประโยชน์ของตนเอง
แต่พรรคส้มไวกว่าครับ!
ไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภาฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน
รายละเอียดเบื้องต้นเห็นแล้วน่าตกใจ!
ยกเลิกอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการสอบจริยธรรมของ สส.
ร่างแก้ไขนี้ สส.พรรคประชาชน ที่ถูกยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้สอบจริยธรรมกรณีร่วมยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย
เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน
ทำเหมือนจะมีจริยธรรม
แต่ไม่ใช่หรอกครับ
กลัวโดนมีผลประโยชน์ทับซ้อนอีกข้อหา
ฟังจากปาก “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” ประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคส้ม ก็ยิ่งน่ากังวลครับ
“…ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับล่าสุดที่เสนอนั้นเป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ
ผมจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดว่ามีกี่มาตรา เพราะกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องหลายมาตรา รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป…”
พรรคส้มต้องการจะสร้างจริยธรรมทั้งระบบขึ้นมาใหม่
นึกภาพไม่ออกครับว่า พรรคการเมืองที่ไม่ยึดรากเหง้าของชาติ ไม่สนใจวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม พรรคที่ผู้นำจิตวิญญาณบอกว่า ไม่ต้องเรียก ลุง ป้า น้า อา ให้ใช้คำว่า คุณ กับ ผม
จริยธรรมของพรรคการเมืองแบบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร
ครับ…สรุปแล้ว พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน พุ่งเป้าไปที่ ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.โดยตรง
ต้องการตัดแขนตัดขา ๒ องค์กรอิสระนี้ เพราะเห็นว่ามีอำนาจมากเกินไป
ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงไม่ใช่การแก้เล็กน้อย ไม่กี่มาตรา
แต่จะเป็นการแก้ครั้งใหญ่
แก้ยกหมวด
แล้วจะสำเร็จหรือไม่
คำตอบคือ มีโอกาสสำเร็จสูงพอควร หากทำประชามติผ่าน
เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ แค่พรรคเพื่อไทย กับพรรคส้ม ก็เกือบครึ่งรัฐสภาไปแล้ว
บวกพรรคร่วมรัฐบาล บวก สว.ฝักถั่ว
บนเงื่อนไขที่ต้องมีเสียง สว. ๑ ใน ๓ หรือ ๖๗ คน
ฝ่ายค้านร้อยละ ๒๐
จำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อยากแก้ประเด็นไหนจิ้มได้เลย
เขาเห็นช่องแล้วว่ามันมีโอกาสที่จะแก้ได้ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
อย่าไปคาดหวังว่าพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
จะไม่มีทางเกิดขึ้น
ตรงกันข้าม จะสนับสนุนอีกด้วย
ก็สรุปได้ว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบนักการเมือง สมาชิกรัฐสภา ๗๐๐ คน อาจเห็นไปในทิศทางเดียวกันเกือบทั้งหมด
เพราะเขามีผลประโยชน์ร่วมกัน
ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. จะถูกริบอำนาจ
ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบนักการเมืองให้น้อยลง
ส่วนหนึ่งคือการแก้แค้นของนักการเมือง
อีกส่วนเกรงจะถูกเล่นงานในอนาคต