เปลว สีเงิน
เออ…มาทายกันซิว่า…..
อะไรเอ่ย ที่ “สร้างชื่อเสียง” ให้ประเทศโด่งดังกล่าวขานกันไปทั้งโลกตอนนี้?
อย่าตอบว่า “ทักษิณ” พ่อทุกสถาบัน รวมทั้ง “พ่อนายกฯหญิง” ที่อายุน้อยที่สุดนะ
นั่นไม่ใช่ “สร้างชื่อเสียง” แต่สร้าง “ชื่อเสีย” ให้ประเทศมากกว่า!
ด้านมนุษย์ที่สร้างชื่อเสียง ยกให้ “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล”
ด้านสัตว์ ต้อง “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระ ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว
ด้านสถานที่ ก็นี่เลย “สวนป่าเบญจกิติ” โด่งดัง สร้างชื่อให้ประเทศและกรุงเทพฯ มากที่สุด
จากพระราชดำรัส “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เมื่อ ๔๒ ปีที่แล้ว
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
กรมธนารักษ์ กระทรวงคลัง ทหาร โรงงานยาสูบ และสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม “อาศรมศิลป์”
ได้น้อมนำพระราชดำรัสนั้น…….
ใช้ภูมิปัญญาไทยประยุกต์วิทยาการ รับรู้ธรรมชาติจัดสรร ด้วยแนวคิด Nature-based Solution รังสรรค์สวนป่ารับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมทั้งความเสื่อมสลายทางความหลากหลายชีวภาพ ไปจนถึงความมั่นคงของน้ำและพื้นดิน
จากนามธรรม ปรากฎเป็นรูปธรรม กล่าวขาน-ชื่นชมกันไปทั้งโลกขณะนี้ ก็คือ “สวนป่าเบญจกิติ” ของเรานี่แหละ!
จากพื้นที่ชุ่มน้ำของกรุงเทพฯแต่ดั้งเดิม วันนี้…กรมธนารักษ์ ทหาร โรงงานยาสูบ และอาศรมศิลป์
รังสรรค์ “สวนป่าเบญจกิติ” ให้เป็นมากกว่าคำว่า “สวนสาธารณะ” ทั่วๆ ไป โดยออกแบบให้ทำหน้าที่เป็น “ฟองน้ำ”
สามารถซึมซับน้ำที่ระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ทันและอาจท่วมขังพื้นที่เมืองได้
นอกจากนี้ พรรณไม้แบบป่าชายเลน แบบที่ลุ่มน้ำและแบบบึงน้ำจืดที่ปลูกผสมผสาน ยังช่วยบำบัด เพิ่มออกซิเจนให้น้ำที่ถูกกักเก็บไว้อีกด้วย
แนวคิดในหลักการ Nature-based Solution นี้ ถูกนำไปใช้แก้ไขพื้นที่เสื่อมโทรมได้ผลมาแล้ว ทั้งในยุโรป สหรัฐ ในเอเชียก็อย่างที่ เกาหลีใต้ รวมทั้งไทย ในอุษาคเนย์
“สวนป่าเบญจกิติ” ดังขนาดไหน ก็ขนาด CNN ออกข่าวเดือนก่อน “American Society of Landscape Architects”
(ASLA) องค์กรทางภูมิสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ
คัดผลงานด้านภูมิสถาปัตย์ จาก ๔๖๕ ผลงาน มีได้รับรางวัล ๓๙ ผลงาน
และ “Benjakitti Forest Park” ได้รับรางวัลระดับ Honor Award ในหมวดหมู่ General Design
การประกาศรางวัล ถ้าไม่เฝื่อนหู ASLA จะจัดขึ้นในเดือนตุลา.๖๗ นี้ ที่วอชิงตัน ดีซี
“อาศรมศิลป์” ผู้รังสรรค์สถาปัตยกรรม “สวนป่าเบญจกิติ” สร้างชื่อเสียงให้ประเทศและเป็นหน้า-เป็นตาให้คนไทย
พวกเราคนไทย รออะไรอยู่ล่ะ…
ก็ปรบมือเป็นรางวัลแถมให้อาศรมศิลป์เขาสิ!
ทั้งหมดนี้ ต้องให้เครดิต “กรมธนารักษ์” กระทรวงการคลัง เจ้าของพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ ตรงนั้น และโรงงานยาสูบ
ไม่แค่รางวัลนี้เท่านั้นน่ะ
ในรอบ ๒ ปีนี้ “สวนป่าเบญจกิติ” ของกรมธนารักษ์ ภูมิสถาปัตยกรรมโดย “อาศรมศิลป์” ได้รับรางวัลระดับโลกชนิด “รับกันจนมือบวม” เท่าที่ผมดู ก็มี
ปี ๒๕๖๖ “UIA(International Union of Architects) สถาปัตยกรรม “องค์กรเดียว” ที่องค์กรกลุ่มสหประชาชาติ เช่น ยูเนสโก ยอมรับ
ในเวทีสัมนาแวดวงสถาปัตยกรรม ที่เดนมาร์ก “สวนป่าเบญจกิติ” ได้รับรางวัล
First Prize Public and Open Spaces Category, Benjakitti Forest Park
ปี ๒๕๖๖ เช่นกัน WAF(World Architecture Festival) ในเวทีสัมนาที่สิงคโปร์ “สวนป่าเบญจกิติ” ได้รับรางวัล “Landscape of the Year”
รางวัลนี้ มอบให้กับงานสถาปัตยกรรมตอบโจทย์ความท้าทายโลกยุคปัจจุบัน ด้านสุขภาพ ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เทคโนโลยี และความซื่อสัตย์ต่อธรรมชาติ
“Barcelona International Landscape Biennial” งานประกวดด้านสถาปัตยกรรมที่ออกแบบแต่ปี ๒๕๖๐-๒๕๖๕ และจัดทุกๆ ๒ ปี ที่สเปน
ปรากฎว่า “สวนป่าเบญจกิติ” เป็น ๑ ใน ๑๑ โครงการที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ปี ๒๕๖๖
ที่อิตาลี “A’ Design Award & Competition”
แพลตฟอร์มประกวดงานออกแบบ มอบรางวัลให้กับงานออกแบบที่โดดเด่นทั้งด้านสถาปัตยกรรม,ผลิตภัณฑ์ งานออกแบบกราฟิก
“สวนป่าเบญจกิติ” ได้รับรางวัลหมวดหมู่ “Landscape Planning and Garden Design Award” ๒๕๕๖-๒๕๖๗
-การประกวดออกแบบสถาปัตยกรรม โดย BIG SEE (Bio Intelligent Generation,South-East Europe)ประเทศสโลวิเนีย
“สวนป่าเบญจกิติ” เป็น ๑ ใน ๒๓ ผู้ชนะในหมวดหมู่ “Public / Open Space and Landscape”
และรางวัลระดับ Grand Prix หมวดหมู่ “Public/Open Space and Landscape”
และผมจะไม่พูดเองในด้านที่ทั้งไทย-ทั้งเทศ เมื่อได้ดื่มด่ำสัมผัส “สวนป่าเบญจกิติ” แล้ว มักเปรียบสวนป่าเบญจกิติเป็น “Central Park” ในนครนิวยอร์ก
แต่จะนำที่ “นิวยอร์ก ไทม์” ฉบับเดือน พฤษภา.๖๗ ลงบทความไว้ประมาณนี้ จะลูบๆ คลำๆ ให้อ่านเป็นกระสาย
……………………
นิวยอร์กไทม์ 11 พ.ค. 2024
การเปลี่ยนแปลงนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง โดยสร้างโอเอซิส ขนาด ๑๐๒ เอเคอร์ ให้กับชาวเมือง
พื้นที่นี้ เป็นการขยายตัวของ “สวนเบญจกิติ” ที่มีอยู่แล้วประกอบด้วยทางเดินยกระดับยาวหนึ่งไมล์
รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่ช่วยกรองน้ำ ต้นไม้ใหม่ ๘,๐๐๐ ต้น สนามพิคเกิลบอล, บาสเกตบอล และโซนสำหรับสุนัข
ทางเดินลอยฟ้า รู้จักกันดี ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่หนุ่มสาว โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตกดิน
เมื่อความร้อนลดลง ทางเดินจะเต็มไปด้วยผู้เยี่ยมชม หลายคนโพสท่า ถ่ายเซลฟี่
“สวนป่าเบญจกิติ” เปิดเป็นทางการเดือนสิงหา.๖๕ เพื่อเทิดพระเกียรติ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวัน “พระราชสมภพ” ครบ ๙๐ พรรษา
“สวนป่าเบญจกิติ” ในกรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกับ “เซ็นทรัลพาร์ค” ในนิวยอร์ก ล้อมรอบไปด้วยตึกระฟ้า
อยู่ห่างถนนสุขุมวิทไม่กี่บล็อก เป็นหนึ่งในเส้นทางที่การจราจรหนาแน่นที่สุดของเมือง
ควันไอเสียจากรถอบอวลทั่วบริเวณ ขณะที่ผู้คนเดินผ่านทางเท้าคึกคัก ผ่านตึกสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่สูงเสียดฟ้า
“Mateusz Tatara” นักออกแบบผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ จากโปแลนด์ กล่าวว่า
แปลกใจที่พบสวนป่าในใจกลางเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องวัดวาอาราม อาหารริมทาง และความบันเทิงที่มีชีวิตชีวา
“กระนั้น ตอนนี้ เราก็ยังได้ยินเสียงธรรมชาติ” Tatara กล่าว ระหว่างเยี่ยมชมสวนตอนเย็น
“สวนป่าเบญจกิติ เป็นสถานที่เงียบสงบและผ่อนคลายมาก”
ขณะนั้นเอง ค้างคาวแม่ไก่ หน้าเหมือนสุนัขจิ้งจอก ก็บินผ่านเหนือหัว ลงเกาะต้นไม้ใกล้เคียง
รัฐบาลให้ที่ดิน “โรงงานยาสูบ” เป็นพื้นที่สวนสาธารณะในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๓ และสวนเบญจกิติส่วนแรกก็เปิดไม่นานหลังจากนั้น
แต่เวลากว่า ๑ใน ๔ ศตวรรษผ่านไป ก่อนที่โรงงานยาสูบ จะมอบพื้นที่ให้ทั้งหมด
นายกฯ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เรียกร้องให้ใช้แนวคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสวน (รวมถึงพื้นที่สำหรับเดินสุนัข ซึ่งหายากในกรุงเทพฯ)
เพื่อเร่งการก่อสร้างช่วงโควิดระบาด รัฐบาลประยุทธ์ดึงกองทัพเข้ามาช่วย บางช่วงมีทหารถึง ๔๐๐ นาย ร่วมทำงาน
สถาปนิกภูมิทัศน์ ที่ช่วยออกแบบสวนป่าเบญจกิติ บอกว่า “พวกเขาภูมิใจในสวนนี้มากจริงๆ”
“กรุงเทพฯ” อยู่ติดอ่าวไทย เคยมีคลองมากมายจนชาวยุโรปเรียก “เวนิสตะวันออก”
เมื่อเวลาผ่านไป คลองหลายแห่งกลายเป็นถนน บางแห่ง เป็นน้ำเน่ามีกลิ่นเหม็น
“คลองไผ่สิงโต” ที่เน่า ถูกใช้เป็นแหล่งน้ำ สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำของสวนป่าเบญจกิติ โดยสูบน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้าสระ และตามช่องทางต่างๆของพื้นที่
เพื่อให้แสงแดดและพืชพรรณในสวนป่าฯ ช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำ กลิ่นต่างๆ จะจางหายไป ก่อนน้ำจะถึงบ่อน้ำหลักในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยบัวและพืชน้้าอื่นๆ
ที่นั่น ตะกอนที่เหลือ จะตกลงไปที่ก้นบ่อ ขณะที่น้ำไหลไปที่ปลายสุดของสวนสาธารณะ ภายในสี่วัน น้ำจะสะอาดพอที่จะใช้ในการชลประทาน
“ธรรมชาติปรับตัวได้เอง” เขากล่าวระหว่างเดินเล่นในสวนสาธารณะในช่วงบ่าย
“เราคาดไม่ถึงว่ามันจะได้ผลดีขนาดนี้…..
ทหารได้สร้างเกาะขนาดเล็ก ๕๐๐ แห่งภายในพื้นที่ชุ่มน้้า โดยใช้ก้อนคอนกรีตที่เก็บจากการรื้อถอนโรงงานยาสูบเป็นฐาน
นอกจากนี้ พวกเขายังปลูกต้นไม้มากกว่า ๔๐๐ สายพันธุ์ สวนป่าเบญจกิตินี้ กลายเป็นระบบนิเวศที่ยั่งยืนด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว
ดึงดูดสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น นกกระสา นกนางแอ่น งู ตัวเงินตัวทอง และแมลงปอ ซึ่งสามารถกินยุงได้มากกว่า ๑๐๐ ตัวต่อวัน
จุดเด่นในสวนป่าเบญจกิติคือ Skywalk สูงขึ้นและต่ำลงในระดับสูงเหนือพื้นที่ชุ่มน้ำ
“เมื่อเดินบน Skywalk จะไม่เห็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายเลย มันท้าให้คุณอยากเดินต่อๆ ไป เพื่อดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป”
สถาปนิกภูมิทัศน์บอกกับ “นิวยอร์กไทม์” ว่า
จากโรงงานยาสูบที่เคยทำลายล้างกรุงเทพฯ ยังเหลือแค่ ๔ อาคาร ๓ แห่งถูกเปลี่ยนเป็นสถานกีฬา
ทั้งสี่แห่งเปิดโล่ง ผนังและหลังคาเอาออกเพื่อรับความเย็น ตามธรรมชาติ โครงหลังคาบางแห่งยังอยู่ ให้เป็น “โครงกระดูกโรงงาน” ต้นไม้ที่ปลูกใหม่ ก็เติบโตผ่านเข้าไปในนั้น
“ถ้าคุณยืนอยู่ในอาคาร คุณจะเห็นธรรมชาติรอบตัวคุณทั้งหมด”
ครับ….
สรุป “หมูเด้ง” สวนสัตว์เปิดเขาเขียว กับ “สวนป่าเบญจกิติ” กรมธานรักษ์ ภูมิสถาปัตย์โดย “อาศรมศิลป์”
สร้างชื่อให้ “ประเทศไทย” ดังทะลุโลกที่สุด ขณะนี้
สวนป่าเบญจกิติ วันนี้ กลายเป็นสถานที่ศึกษา-ดูงาน เป็นต้นแบบไปแล้ว
มหา’ลัยระดับโลก อย่างฮาร์วาร์ด คนสถานทูตสหรัฐฯ, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน องค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ นับร้อยๆ ราย มาดู-มาศึกษาแนวคิด “สวนที่เป็นฟองน้ำ” แห่งนี้ จนผู้นำชม/นำอธิบาย ปากใกล้เป็น “นกปากห่าง” เข้าไปทุกที!
ด้วยหลักการ “ให้ธรรมชาติฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” และให้ธรรมชาติทำงานด้วยตัวมันเอง”ของสวนป่าเบญจกิติที่ดังระเบิดโลกนี้
พวกเราปรบมือให้ “กรมธนารักษ์ โรงงานยาสูบ ทหาร และอาศรมศิลป์” อีกซักทีจะเป็นไง
ส่วน ๑๐,๐๐๐ ได้วันไหน ค่อยปรบมือให้รัฐบาล “กู้มาแจกวันนั้น ก็ยังทันเนอะ…พวกเรา”!
เปลว สีเงิน
๑๘ กันยายน ๒๕๖๗