“โรคจิตเภท” ไม่น่ากลัว รีบรักษามีโอกาสหาย

โรคจิตเภทเป็นโรคจิตเวชที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยจะมีอาการ หูแว่ว ประสาทหลอน พฤติกรรมผิดปกติ ก้าวร้าว ซึ่งถ้าหากไม่รีบมารักษาอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันในสังคม

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาลBMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ส่งผลให้มีความคิดและการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากคนทั่วไป เช่น หลงเชื่อว่าจะมีคนมาทำร้าย หรือเห็นภาพหลอน

สาเหตุการเกิดโรคจิตเภท

พันธุกรรม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยเป็นโรคจิตเภท ก็จะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติทั่วไป เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ความผิดปกติของสมอง เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทั้งความคิด การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากคนทั่วไป

ภาวะทางด้านจิตใจ ผู้ที่มีภาวะความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น ความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้อารมณ์รุนแรง ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ จู้จี้ บงการ ส่งผลต่อการดำเนินโรค กระตุ้นให้โรคกำเริบ หรือควบคุมอาการได้ยาก

3 กลุ่มอาการโรคจิตเภท

1.กลุ่มอาการทางความคิด

ความคิดหลงผิด (Delusion) ความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเหตุผล เช่น ความคิดหลงผิดว่ามีคนปองร้ายหรือพยายามทำร้าย, ความคิดหลงผิดว่าตนเองมีอำนาจพิเศษหรือมีความสำคัญ, ความคิดหลงผิดว่าตนเองถูกควบคุมหรือถูกติดตามโดยผู้อื่น

ความคิดฟุ้งซ่าน (Ideas of reference) ความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมีความหมายแฝงที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เช่น ผู้ป่วยอาจเชื่อว่าการที่ไฟดับหมายถึงตนเองกำลังถูกลงโทษ

ความคิดไร้เหตุผล (IlIogical thinking) ความคิดที่ไม่สอดคล้องกันหรือขาดเหตุผล เช่น ผู้ป่วยอาจเชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมสภาพอากาศได้ด้วยความคิด

2.กลุ่มอาการทางประสาทสัมผัส

ประสาทหลอน (Hallucination) การรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง ประสาทหลอนมีหลายชนิด เช่น

หูแว่ว (Auditory hallucination) ได้ยินเสียงที่ไม่ได้มาจากภายนอก เช่น ได้ยินเสียงคนพูด เสียงดนตรี หรือเสียงอื่นๆ

ภาพหลอน (Visual hallucination) เห็นภาพที่ไม่ได้มาจากภายนอก เช่น เห็นภาพคนหรือสัตว์ เห็นภาพเคลื่อนไหว หรือเห็นภาพซ้อนทับกัน, ประสาทหลอนทางประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น ประสาทหลอนทางสัมผัส ประสาทหลอนทางกลิ่น ประสาทหลอนทางรสชาติ หรือประสาทหลอนทางการเคลื่อนไหว

3.กลุ่มอาการทางพฤติกรรม

พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปจากเดิม เช่น เก็บตัว เฉื่อยชา ไม่สนใจสิ่งรอบตัว พูดจาสับสน ไม่ปะติดปะต่อ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

ปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ผู้ป่วยอาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เช่น อารมณ์แปรปรวนง่าย โกรธง่าย หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

ปัญหาในการคิดและตัดสินใจ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการคิดและตัดสินใจ เช่น คิดช้า ตัดสินใจลำบาก หรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้

สำหรับการรักษาโรคจิตเภทมีหลายแนวทาง ได้แก่ การกินยา เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง จะได้ควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ แต่หากใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาใช้การช็อกไฟฟ้า, การรักษาทางจิตสังคม เช่น ฝึกการเข้าสังคม และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย, การทำจิตบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง รับรู้และเข้าใจปัญหาของตนเองมากขึ้น, ครอบครัวบำบัด เพื่อแนะแนวทางให้ญาติดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและการบำบัดแบบกลุ่ม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้ป่วยด้วยกันเพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทต้องเริ่มจากการเข้าใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจสร้างความรำคาญเดือดร้อน จึงควรให้อภัยไม่ถือโทษผู้ป่วย, ไม่ควรโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิต รวมทั้งเสนอความช่วยเหลือด้วยความอดทน, กระตุ้นแต่ไม่บังคับ เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเอง ช่วยทำงานบ้านอย่างง่าย ๆ โดยไม่ใช้การบังคับ และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นและดูแลผู้ป่วยเรื่องการกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง

Written By
More from pp
“สุชาติ” รมว.แรงงาน ห่วงใยลูกจ้างโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ สั่งการประกันสังคมเข้าดูแลสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานแล้ว
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ลูกจ้าง บริษัท โรงแรมดาราเทวี จำกัด ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาประท้วงบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้พิจารณา สั่งปิดโรงแรมเนื่องจากใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมของบริษัทหมดอายุ
Read More
0 replies on ““โรคจิตเภท” ไม่น่ากลัว รีบรักษามีโอกาสหาย”