ยิ่งเข้าใกล้สิ้นปี สถานที่ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติก็ยิ่งมีนักท่องเที่ยวไปพักผ่อนกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าป่า ขึ้นดอย หรือเดินถ้ำ เพราะเชื่อว่าหลายคนอยากไปสัมผัสกับอากาศเย็น ๆ จากสถานที่เหล่านี้ แต่รู้หรือไม่ว่าธรรมชา ติที่สวยงาม ก็มักจะมีโรคแฝงที่เราต้องระวัง โรคบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
แพทย์หญิงชนิกา กุลภัทราภา แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า แมลง ยุง และไรอ่อนที่พบได้ตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น ในป่า บนดอย หรือ ในถ้ำ สามารถทำปฏิกิริยากับคนเราได้ 2 แบบ
1.ปฏิกิริยาที่มาจากการกัดต่อย ทำให้เกิดตุ่มแดง ๆ บนผิวหนัง ไม่มีอาการภายใน ไม่มีไข้และไม่มีอาการปวดข้อ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ควรเกาบริเวณที่เกิดตุ่มแดง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อจากมือหรือเล็บ หรือเป็นแผลใหญ่ขึ้น หรือมีแผลเป็นตามมา วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เกิดตุ่มแดงคือทายาแก้แพ้ ถ้าเป็นแผลให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ และทายาฆ่าเชื้อที่เป็นขี้ผึ้งก่อน ถ้ามีน้ำเหลืองหรือหนองร่วมด้วยให้ประคบน้ำเกลือทิ้งไว้ 10 นาที วันละ 2-3 ครั้งแล้วค่อยทายาฆ่าเชื้อ
2.ปฏิกิริยาที่มาจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดปฏิกิริยาภายในร่างกาย ทำให้เป็นไข้ออกผื่น ผื่นจะมีลักษณะมาจากข้างใน เริ่มจากศีรษะไล่ลงมาตามร่างกาย ไม่มีอาการคัน จากผื่นเรียบกลายเป็นผื่นนูน หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาพบแพทย์
ด้านนายแพทย์อมร แซ่เล้า อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคติดเชื้อที่ต้องระวังจากการเที่ยวป่า เข้าถ้ำ ได้แก่ โรคมาลาเรีย มียุงเป็นพาหะ, โรคสครัปไทฟัส มีไรอ่อนเป็นพาหะ, โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากการถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือการเข้าถ้ำแล้วสัมผัสกับสารคัดหลั่งของค้างคาว นอกจากนี้ การเข้าถ้ำที่มีค้างคาวอาจติดโรคนิปป้าได้ด้วย ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อจะมีอาการเบื้องต้นที่คล้ายกันคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อ หากรุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ อาการเฉพาะของแต่ละโรคมีความแตกต่างกัน เช่น โรคมาลาเรีย จะมีอาการหนาวสั่น ตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะมีสีดำ, โรคสครัปไทฟัส จะมีเนื้อตายบริเวณตรงกลางผื่น (Eschar) มีโอกาสเป็นตับอักเสบ, ส่วนโรคนิปป้า จะมีไข้สูง ปวดศีรษะและซึมลง ซึ่งเป็นอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอับเสบ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการดังกล่าว ประกอบกับมีประวัติเสี่ยง เช่น เพิ่งกลับจากเที่ยวป่า ขึ้นดอย หรือ เดินถ้ำ มีการถูกแมลงหรือสัตว์กัด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของค้างคาว ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย และรักษาได้ทันท่วงที
การป้องกันด้วยการใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อป้องกันแมลงกัด รวมถึงใช้ยาทากันแมลง หลีกเลี่ยงการเข้าถ้ำที่มีค้างคาวหนาแน่น
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษเมื่อไปเที่ยวตามสถานที่ธรรมชาติ คือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ เช่น ผู้มะเร็งที่ต้องให้คีโม ผู้ที่ทานยากลุ่มสเตียรอยด์ เพราะจะทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปเมื่อโดนกัดต่อย หรือเมื่อได้รับการติดเชื้อ
พญ.ชนิกา กุลภัทราภา แพทย์ประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม
นพ.อมร แซ่เล้า อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลเวชธานี