18 กันยายน 2566 เวลา 13.15 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการมาพบปะพูดคุยหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า เป็นการพูดคุยด้วยบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง ซึ่งเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่สามารถพูดคุยกันได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องมีองคาพยพใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่ากรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดใหญ่ 1 ใน 3 ของ GDP ของประเทศก็อยู่ที่นี่ และประชาชนทั้งประเทศก็ต่างคาดหวัง ทั้งเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว เรื่องปัญหาฝุ่น (PM 2.5) ปัญหาจราจรรถติด การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง ฯลฯ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รู้จักกันยาวนานแล้ว วันนี้จึงมีการพูดคุยด้วยบรรยากาศที่สบาย ๆ อย่างพี่ ๆ น้อง ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยพบปะกันที่ทำงานเก่าของนายกรัฐมนตรี และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หนึ่งในบุคคลที่นึกถึงคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มาอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยฉันทามติของประชาชนจำนวนมาก ถึง 1,400,000 คน ซึ่งถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้จึงอยากพูดคุยและสนับสนุนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะกรุงเทพฯ ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญภาคส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ ปัญหาต่าง ๆ ก็มีอยู่มาก โดยการพูดคุยกันในวันนี้ เกิดจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันและได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่จะมีการตั้งคณะกรรมการชุดเล็กขึ้นมาประมาณ 6-7 คน เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ โดยใช้นโยบายเป็นหลักและเรื่องการใช้งบประมาณคงจะมีน้อยมาก โดยหน้าที่ของรัฐบาลคือสนับสนุนผู้ว่าราชการกรุงเทพให้แก้ไขปัญหา อย่างน้อย ๆ ระยะเร่งด่วน (Quick Win) เข้ามาก่อน อะไรทำได้ให้ทำก่อน โดยอาจใช้งบประมาณน้อยหรือไม่จำเป็นต้องใช้เลย เน้นหนักไปเรื่องประสานงานของหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นมาสนับสนุนการทำงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด อาชญากรรม ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งสามารถทำให้บรรเทาลงไปได้จากการประสานงานระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มี Quick Win มานำเสนอและมีคณะกรรมการที่ได้มีการพูดคุยกันที่จะตั้งขึ้น ดังนั้น หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคือการสนับสนุนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่
ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า จากการที่ได้ทำงานมา 1 ปี เห็นว่าปัญหาที่ชัดคือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพราะกรุงเทพมหานครมีอำนาจค่อนข้างจำกัด ดังนั้นหากมีการประสานงานที่เข้มข้นและมีทิศทางที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหาร เชื่อว่าปัญหาหลายอย่างจะบรรเทาลงไปได้มาก โดยตอนแรกที่พูดคุยกันคือตั้งเป็นคณะทำงานมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงร่วมด้วยจำนวนไม่มาก เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตำรวจ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายเลขา โดยไม่เน้นเมกะโปรเจกต์ ไม่เน้นเรื่องการลงทุน แต่เน้นเรื่องการผลักดันสิ่งที่เป็นข้อปัญหาติดขัดต่าง ๆ ทั้งนี้ในส่วนของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น ต้องทำไปอีกแทร็กหนึ่ง อาจจะเป็นการแก้ พ.ร.บ. ซึ่งเป็นระยะยาว แต่ปัญหาเร่งด่วนและการประสานงานก็ทำโดยคณะกรรมการชุดนี้ที่ไม่ต้องมีคณะกรรมการจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วยและเป็นนิมิตหมายอันดีมาก เช่น ปัญหาการจราจร กรุงเทพมหานครเองรับผิดชอบส่วนหนึ่ง แต่เมื่อดูการก่อสร้างต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครก็มาจากหลายหน่วยงาน เช่น การรถไฟฟ้าฯ การรถไฟฯ กรมทางหลวง การทางพิเศษฯ การไฟฟ้านครหลวง การประปาฯ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่กรุงเทพมหานครจะไปผลักดันด้วยตนเองนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมีคณะกรรมการที่มีสั่งการและทิศทางชัดเจน เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรเทาลงไปได้มาก
รวมไปถึงเรื่องการทำรถไฟฟ้า เรื่องการเชื่อมโยง ฟุตบาท ทางเท้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถเมล์ ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของการเดินทาง รถจะหายติดขัดได้ไม่ใช่แก้เฉพาะรถไฟฟ้า แต่ต้องดูรวมทั้งหมดด้วยทั้งรถเมล์ ฟุตบาท ทางเท้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องเป็นเรื่องของการลงทุน แต่เป็นเรื่องเชิงนโยบายที่ต้องปรับปรุง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของ Soft Power เรื่องการสร้างอัตลักษณ์ ซึ่งกรุงเทพมหานครมี 50 เขตก็สามารถสร้าง Soft Power ได้ 50 ย่าน อีกทั้งยังมีที่อยู่อาศัยก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่ยากลำบาก การเอาพื้นที่ของรัฐซึ่งมีพื้นที่จำนวนมาก เช่น ในเมืองปัญหาคือคนจนไม่มีที่ดิน เช่น หาบเร่ แผงลอย ต้องมาอาศัยฟุตบาททางเท้าอยู่ เพราะไม่มีที่ทำกิน แต่หากภาครัฐ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่หน่วยราชการที่อาจจะแบ่งปันให้ประชาชนทำมาหากินได้ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ให้แบ่งปันพื้นที่กัน ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนได้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงอีกแนวคิดหนึ่งที่ได้พูดคุยกันคือ เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาที่พบเจอมากที่สุด เช่น เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การโกงนักท่องเที่ยว รถตุ๊กตุ๊กผี รถแท็กซี่ผี ไกด์ผี ที่สร้างความไม่สบายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว กรุงเทพมหานครทำได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายจะไปเกี่ยวข้องกับทั้งตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งถ้าเราร่วมมือกันได้อย่างบูรณาการตรงนี้จะแก้ปัญหาได้ดี รวมทั้งมีแนวคิดทำ Winter Festival เทศกาลฤดูหนาว ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ถ้าทุกภาคส่วนมาร่วมกับกรุงเทพมหานครก็จะทำให้กรุงเทพมหานนครเป็นเมืองที่มีเทศกาลฤดูหนาว ซึ่งแต่ก่อนนี้เคยมี เพื่อให้เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอยู่ในปฏิทินโลก ให้ทุกคนเดินทางมาท่องเที่ยวกัน ลงไปถึงรากหญ้าก็จะช่วยให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้นได้ รวมทั้งเรื่องของฝุ่น (PM 2.5) การควบคุมการเผาชีวมวล การปรับเครื่องยนต์ยูโร 5 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่มีอยู่แล้วและผลักดันต่อ อีกทั้งยังมีเรื่องของสายสื่อสารรกรุงรัง ซึ่งกรุงเทพมหานครทำเองได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน เช่น กสทช. การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ โดยกรุงเทพมหานครทำได้เพียงขอความร่วมมือ แต่ถ้าเป็นเชิงนโยบายที่ชัดเจนเรื่องนี้จะผลักดันได้เร็วขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของกรุเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้พูดถึงเรื่องของงบประมาณ แต่เป็นเรื่องที่ดำเนินการให้เกิดการประสานงานและมีเป้าหมายที่ตรงกัน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพได้รวดเร็วและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีย้ำว่า หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีคือสนับสนุนผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลภาคส่วนที่ใหญ่คือกรุงเทพมหานคร โดยนายกรัฐมนตรีจะช่วยสั่งการในหน่วยงานที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจสั่งการได้โดยตรง โดยจะสั่งการผ่านคณะทำงานเล็ก ๆ ดังกล่าวที่ตั้งขึ้นนี้ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องของการไฟฟ้า กระทรวงคมนาคม อาทิ การขุดเจาะ รถเมล์ รถไฟฟ้า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาทิ การจราจร ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ฯลฯ โดยการพูดคุยกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันนี้จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการ โดยจะมีการนำเสนอผลงาน และขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ให้สื่อมวลชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป