ผักกาดหอม
ที่จริงไม่ใช่มิติใหม่
แค่ไม่เกิดให้เห็นกันบ่อยนักเท่านั้นเอง
กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งไต่สวนประเด็นในคำร้องของ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงว่า ได้บังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาล หรือไม่
ศาลอ้างอิงอำนาจตามมาตรา ๖ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาล หรือไม่
นั่นคือ…
ศาลมีอํานาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคํา ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดําเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้
ประเด็นนี้มีการอธิบายเพิ่มเติมในแง่กฎหมายกันเยอะ หนึ่งในนั้นคือ “ดร.ธีร์รัฐ บุนนาค” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญากรุงเทพใต้
โพสต์ข้อความหัวข้อตรงตามสถานการณ์ “ศาลฎีกาไม่พิจารณาคำร้องคดีคุณทักษิณ”
เนื้อหาบางตอนดังนี้ครับ…
“…ประเด็นที่น่าคิดในเรื่องคดีคุณทักษิณนี้ คือ ไม่ใช่คู่ความในคดี จะมีสิทธิยื่นคำร้องในคดีได้มั้ย เช่น คดีแตงโม เอกชนไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย แม้ไม่เห็นด้วยกับคดี ก็ไม่มีสิทธิยื่นฟ้อง หรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
อันนี้ชัดเจน ทราบกันดีอยู่แล้วในหมู่นักกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ย่อมไม่มีสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวในคดี ถ้ายื่นเข้ามา ศาลก็ต้องยกคำร้อง
ที่น่าคิดในแง่วิชาการมากกว่านั้น มากกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก็คือ ถ้าข้อมูลของบุคคลภายนอกน่าสนใจ อาจมีผลเกี่ยวกับคดี ศาลจะทำอะไรได้บ้าง และถ้าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำอย่างไรให้ข้อมูลนั้นเข้าสู่ศาล
เรื่องแบบนี้ เข้ามาสู่หู สู่ตา สู่ความรับรู้ของผู้เขียนหลายเรื่อง สมัยนั้น ผู้เขียนเห็นเป็นการส่วนตัวว่า ศาลยกคำร้องนั้นถูกแล้ว แต่ก็ควรพิจารณาเนื้อหาของคำร้องนั้นด้วย ถ้าไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ ก็ปล่อยไป ถ้าเห็นว่ามีสาระ อาจมีผลกระทบต่อการวินิจฉัยคดี ศาลก็มีอำนาจเรียกไต่สวนเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ แต่ไม่ใช่รับคำร้อง แล้วเรียกไต่สวนให้ตามคำร้องของบุคคลภายนอกนะครับ ต้องถือว่าเป็นอำนาจทั่วไปในการผดุงความเป็นธรรมและความถูกต้อง เมื่อศาลเห็นสมควรเอง โดยไม่มีคู่ความร้องขอในสายตาของกฎหมาย
ก็ได้แต่คิด และอยากให้หลายศาลทำ คือ เรียกไต่สวนเองได้ ถ้ามีข้อมูลที่น่าจะเป็นประโยชน์ โดยไม่ต้องเกรงว่าทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจ มีกฎหมายให้อำนาจครับ ก็คำว่า ‘ตามที่ศาลเห็นสมควร’ ที่เขียนไว้ในกฎหมายมากมาย
นั่นล่ะ คือ เจตนารมณ์ ที่เปิดโอกาสให้ศาลหยิบยกเรื่องใดๆ ได้เอง ถ้ามีเหตุผลและข้อมูล เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เหมือนเวลาศาลสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยทั่วไปก็จะสั่งเรื่องหลักประกัน การงดหมายขังและเงื่อนไขต่างๆ เท่านั้น แต่ถ้าศาลเห็นว่าเป็นคดีข่มขืน คดีทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า ศาลจะสั่งเพิ่มลงไปว่า
‘และให้มีหนังสือแจ้งผู้เสียหายทราบว่าจำเลยได้ประกัน หากจำเลยไปข่มขู่ คุกคาม จูงใจ หรือทำลายพยานหลักฐาน ให้มาแจ้งศาลทราบ เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว’
การสั่งแบบนี้ทำได้มั้ย เพราะไม่มีกฎหมายเขียนให้ทำได้ หรือห้ามทำ ผู้เขียนเห็นว่าทำได้ เพราะเป็นประโยชน์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรม และก็เคยเขียนเพิ่มเติมแบบนี้เวลาสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวมาแล้ว แต่เสียดายที่คดีต่างๆ ที่ผ่านมามักจะเห็นแค่ศาลสั่งยกคำร้องของคนนอกคดี ไม่ค่อยเห็นศาลสั่งไต่สวนเองจากข้อมูลที่ได้นั้น
วันนี้ ได้ข่าวว่า คดีคุณทักษิณนั้น ศาลฎีกาไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้อง เพราะเขาไม่ใช่คู่ความ ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งก็เสมือนกับยกคำร้อง คือไม่พิจารณาให้ ซึ่งถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย บรรดานักกฎหมายคงเดาผลได้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนยื่นคำร้องแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ศาลฎีกาท่านสั่งเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยข้อมูลที่ได้จากคำร้อง เห็นสมควรนัดให้ราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป
เยี่ยมมากครับ คำสั่งศาลฎีกาลักษณะนี้ น่าจะเป็นแนวทางและยึดถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้
ผู้เขียนไม่นิยมเรื่องการเมืองนะครับ โพสต์นี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง และไม่ได้แสดงให้เห็นว่าฝักใฝ่เลือกข้างใดทางการเมือง ศาลฎีกาจะยก หรือรับคำร้อง ก็เป็นเรื่องของผู้ได้รับผลกระทบ ศาลฎีกาจะไต่สวนคำร้องใหม่มั้ย แล้วจะสั่งอย่างไร ก็เป็นเรื่องของศาลท่าน
โพสต์นี้ จึงเป็นเรื่องทางวิชาการกฎหมายล้วนๆ เน้นเรื่องดุลพินิจศาล และการใช้กฎหมายโดยเจตนารมณ์มากกว่าถ้อยคำในกฎหมาย เป็นคำสั่งศาลฎีกาที่คำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม ใช้อำนาจอย่างเหมาะสม คือ สมควรใช้ ก็ต้องกล้าใช้ ขอชื่นชมคำสั่งศาลฎีกาในเรื่องนี้อีกครั้ง…”
แม้ตามกฎหมาย “ชาญชัย” ไม่มีสิทธิฟ้อง แต่ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคดี
ตรงนี้แหละครับสำคัญมาก
ความย้อนแย้งกรณีนักโทษชายชั้น ๑๔ เกิดขึ้นมากมาย
แต่กระบวนการตรวจสอบและเอาผิดที่ผ่านมาทำเอาหลายต่อหลายคนถอดใจแล้ว
เพราะเชื่อว่า กฎหมายเอาไม่ถึง
“ทักษิณ” กลายเป็นผู้ถูกต้องในทุกกรณี
เตรียมยกประเทศให้ “ทักษิณ”
ช้าก่อน!
นี่เป็นการเคาะระฆังเริ่มต้นในยกใหม่
ลำดับแรก การประชุมแพทยสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ ๘ พฤษภาคมนี้ จับตาดูว่าจะมีวาระพิจารณาผลการสอบสวน กรณีแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ รักษา “ทักษิณ” ไปตามหลักการแพทย์หรือไม่
หลักฐานต่างๆ เช่น เวชระเบียน ถูกต้องหรือไม่
การรักษาโรค การผ่าตัด ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยวิกฤตหนักห่างหมอไม่ได้ ทำให้เสียชีวิตนั้น มีเหตุผลอะไรถึงตัดสินใจทำเช่นนั้น
ที่สำคัญ เอกสารหลักฐานที่ส่งให้แพทยสภากับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ต้องเหมือนกัน
ขณะที่ความเข้มข้นในการค้นหาความจริงของแพทยสภากับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น แตกต่างกันค่อนข้างมาก
ในส่วนของศาล มีความผิดทางอาญาอยู่ด้วย
ถ้าหมอไม่รอด
“ทักษิณ” ก็ไม่รอด
รัฐบาลก็ร่อแร่
จะเกิดคดีต่อเนื่องเป็นหางว่าว
แต่…ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ต้องปรบมือให้ศาลที่ทำให้ประชาชนเห็นอีกมิติหนึ่งของกฎหมาย
ใหญ่แค่ไหนอาจไม่รอด
เพราะในศาล กฎหมายใหญ่สุด.
