15 มิถุนายน 2566 – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อขอบคุณประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทำให้พรรคได้รับการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งหมด 7 จาก 10 ที่นั่ง รวมถึงได้พบปะหารือกับภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว เกี่ยวกับประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข ในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ประชุมสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ พร้อมผลักดันสิทธิพี่น้องชาติพันธุ์
พิธา พร้อมด้วยมานพ คีรีภูวดล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมประชุมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากสมาชิกสมาคม สมาพันธ์ และกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ร่วมสะท้อนปัญหาและข้อคิดเห็นต่อนโยบายด้านกลุ่มชาติพันธุ์ของพรรคก้าวไกล
หลังรับฟังการสะท้อนปัญหาและข้อคิดเห็นจากกลุ่มประเด็นต่างๆ พิธากล่าวปิดท้ายว่า ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่มาจนเป็นพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคที่มีปีกชาติพันธุ์เป็นปีกสำคัญ จึงอยากให้ความมั่นใจกับทุกคน ว่านายกฯ คนต่อไปเป็นคนที่สนใจ ใส่ใจ และพร้อมเรียนรู้ถึงปัญหาและศักยภาพของพี่น้องชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากทุกคนที่นี่อีกมาก
หนึ่งในปัญหาสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ก็คือเรื่องที่ดินและป่าไม้ หากเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าระบบการจัดการป่าไม้ยุคแรกของเราดำเนินการเพื่ออุตสาหกรรมการค้าไม้ แล้วจึงมารับวิธีคิดจากบางประเทศที่บริหารป่าแบบปิดกีดกันคนออกจากป่า ซึ่งบัดนี้ประเทศที่เราเรียนรู้จากเขามา เปลี่ยนมาใช้ระบบเปิดหมดแล้ว และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพื้นที่ป่าที่มีชาติพันธุ์อยู่ร่วมด้วย สามารถรักษาป่าได้มากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีชาติพันธุ์อาศัยอยู่ นี่คือเหตุผลที่เราต้องผลักดันสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องชาติพันธุ์
ในการนี้ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ ขอเป็นกำลังใจและหนุนเสริม ให้พรรคก้าวไกลต่อสู้กับความอยุติธรรม เสนอแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเชื่อมั่นว่าช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญ ในการคืนสิทธิและศักดิ์ศรีให้กับชนเผ่าพื้นเมือง จะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของพิธาและพรรคก้าวไกลต่อไป
ชูเชียงใหม่เป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการอาเซียน ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับภาค
ต่อมา พิธา พร้อมด้วย เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล เดินสายพบปะภาคประชาสังคมและภาคเอกชนหลากหลายกลุ่มใน จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะด้านนโยบาย
ในวงประชุมเรื่องฝุ่น PM2.5 ร่วมกับกลุ่มสภาลมหายใจ พิธาได้กล่าวสรุปถึงแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าปัญหาฝุ่น pm2.5 ทำให้เรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องเดียวกัน มีสามสถาบันวิจัยเป็นอย่างน้อยที่คำนวณมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นกว่าล้านบาท แต่ที่ผ่านมางบประมาณการแก้ไขปัญหานี้เป็นเบี้ยหัวแตก หน่วยงานทั้งราชการและท้องถิ่นต่างคนต่างมีงบประมาณก้อนเล็กก้อนน้อย รวมกันมีเพียงแค่ 85 ล้านบาท
ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เราเห็นแล้ว ว่าการจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่สามารถแก้ความท้าทายใหม่ๆ ได้ ส่วนกฎหมายที่มีอยู่ก็ติดขัดเรื่องโครงสร้างอำนาจ เช่น การที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษไม่มีอำนาจในการสั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยุติหรือชะลอกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น ได้เพียงขอความร่วมมือเท่านั้น
ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลก้าวไกลต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 จะแบ่งเป็นสามระดับ
ระดับนานาชาติ อาเซียนเคยออกข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับอากาศไว้แล้วตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่เคยมีการใช้จริง และขณะนี้ก็มีความพยายามจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ASEAN Haze Pollution Center ขึ้นมาแต่ยังหาที่ตั้งไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลก้าวไกลจะเสนอให้นำศูนย์ปฏิบัติการนี้มาไว้ที่เชียงใหม่ เพื่อใช้กลไกอาเซียนพร้อมกับการพูดคุยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ไปผลักดันการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคต่อไป
ระดับประเทศ ฝุ่น pm2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอยู่มาก เข่น ที่สระบุรีมาจากการทำเหมือง ที่สมุทรปราการมาจากโรงงาน เราจะตัดเสื้อโหลตัวเดียวใช้ทั้งประเทศไม่ได้ การออกแบบนโยบายแก้ปัญหาจะต้องสอดรับกับบริบทที่แตกต่างกันด้วย
ระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมางบประมาณท้องถิ่นในการแก้ปัญหานี้น้อยมาก ท้องถิ่นเองไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแก้ปัญหา คนที่มีเครื่องมือในการแก้ปัญหาก็กลับไม่ได้เป็นคนแก้ การกระจายงบประมาณลงมาให้กับกลไกท้องถิ่น จะทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่สุดได้มีเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้ได้
“ปัญหาฝุ่น PM2.5 เศรษฐกิจ และสาธารณสุข เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก เชื่อว่าถ้าเราเรียงลำดับความสำคัญ ให้ความใส่ใจ ให้ทรัพยากรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้คนแก้ปัญหามีของ ภายในสี่ปีสถานการณ์น่าจะดีขึ้นได้” พิธากล่าว
พร้อมดัน พ.ร.บ.โฮมสเตย์ แก้ปัญหา ส.ป.ก. กว่าแสนไร่ เปิดทางผู้ประกอบการรายเล็กเติบโต
ส่วนในวงประชุมร่วมกับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว พิธาระบุว่าโจทย์สำคัญเฉพาะหน้าวันนี้คือจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นก่อนโควิดได้ เพราะจากตัวเลขวันนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวยังหายไปครึ่งหนึ่งจากเดิม และยังมีโจทย์ใหม่ที่ต้องพิจารณา คือจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่นานกว่าเดิมและจ่ายเยอะกว่าเดิม ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวกระจายตัวมากกว่ากระจุกตัวอยู่ 5 จังหวัดหลัก ซึ่งเชียงใหม่เป็นหนึ่งในนั้น
รัฐบาลก้าวไกลยังจะต้องทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองสุราก้าวหน้า และเป็นเมืองแห่งโฮมสเตย์ นั่นหมายความว่าจะต้องมีการผลักดัน พ.ร.บ.โฮมสเตย์ ให้ผู้ประกอบการโฮมสเตย์สามารถทำได้สะดวกขึ้น ไม่ติดข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคหลายประการที่ไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งการแก้ปัญหาที่ดิน เช่น ส.ป.ก. ที่เชียงใหม่มีอยู่กว่า 1 แสนไร่ ที่สร้างข้อจำกัดให้ประชาชนไม่สามารถนำที่ดินของตัวเองไปต่อยอดได้
“ประเด็นการท่องเที่ยวไม่สามารถแยกออกได้จากประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เราได้พบปะพูดคุยกับหอการค้าและภาคธุรกิจหลายจังหวัด พบว่าทุกคนกำลังเผชิญความท้าทายและปัญหาที่มีรูปแบบคล้ายกันอยู่ แต่ในแง่หนึ่ง นั่นแปลว่าการแก้ปัญหาของเราสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้” พิธากล่าว
หางดง-ท่าแพ-สันทราย แตก! แห่รับพิธาเต็มถนน
จากนั้น พิธา พร้อมด้วย กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมเดินสายพบปะและขอบคุณประชาชน โดยช่วงบ่ายเริ่มต้นที่ตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง ต่อด้วยกิจกรรมขึ้นรถแห่ขอบคุณประชาชนในช่วงเย็น จากที่ประตูท่าแพ อ.เมืองเชียงใหม่ ไปยังเวทีปราศรัยที่สวนสาธารณะเทศบาลตำบลสันทรายหลวง อ.สันทราย เป็นจุดสุดท้าย
ในทั้งสามจุดนัดหมาย มีประชาชนทั้งชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง มาร่วมรอพบปะพิธาเป็นจำนวนมาก พร้อมใส่เสื้อ หมวก สัญลักษณ์ ที่มีสีส้มมาฟังการปราศรัยจนแน่นขนัดไปทั่วบริเวณ โดยระหว่างมีการแห่ขบวน มีประชาชนมารอต้อนรับคณะของพรรคก้าวไกล คอยชูป้ายและส่งเสียงให้กำลังใจตลอดสองข้างทาง