ก่อนจะได้นายกฯ ตัวจริง – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

งวดเข้ามาแล้วครับ

สัปดาห์หน้า ๒๑ มิถุนายน กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.

ยังไม่ทราบว่ากี่เขตกี่คน

แต่ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ ๑๓ กรกฎาคม จะต้องประกาศให้ได้ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

จากนั้นจะมีการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกซึ่งมีความสำคัญมาก

เพราะเป็นรัฐพิธี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๒๒ บัญญัติว่า…

….พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทํารัฐพิธีก็ได้…

ในวันเปิดสภานัดแรกนี้ ส.ส.ทุกคนต้องสวมเครื่องแบบปกติขาวเข้าร่วมประชุม

นี่คือประเพณีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ที่ไม่น่าจะมีนักการเมืองหน้าไหนเสนอให้ยกเลิก

รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยพบว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “สภากรรมการองคมนตรี” ขึ้น และเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๐

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง แต่ได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธรเสนาบดี ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านเปิดประชุม

พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า

“…ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมา การปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงการต่างๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ…”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

แต่ปี ๒๔๗๕ คณะราษฎรก่อการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีขึ้นในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

จากนั้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้วจึงมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเรื่อยมา และมีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตราบถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๒๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า…

“…ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก…”

จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยว่าร้อยละ ๙๕ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา ๑๒๗

พิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่้อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ นับเป็นพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดประชุมรัฐสภา ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ มีพระราชดำรัสแก่สมาชิกรัฐสภา ความว่า

“บัดนี้ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภา พุทธศักราช ๒๕๖๒ แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป

ขอให้สมาชิกแห่งสภา พึงนึกถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง เพราะการกระทำทุกอย่างของแต่ละคน จะมีผลโดยตรงถึงความมั่นคงของประเทศ และความสุขทุกข์ของประชาชน

จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจทั้งปวง โดยเต็มสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริต และด้วยความคิดพิจารณาอันสุขุมรอบคอบ หนักแน่นด้วยเหตุผลที่ถูกต้องเที่ยงตรง ตามหลักนิติธรรม และคุณธรรม ให้งานของชาติดำเนินก้าวหน้าไป โดยไม่ติดขัดและบังเกิดประโยชน์อันพึงประสงค์ สมบูรณ์ บริบูรณ์

ขออำนวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย สัมฤทธิ์ผล เป็นความผาสุก สุขสวัสดิ์ และความวัฒนาถาวรแก่อาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมือง ทั้งขอให้ทุกคนที่ประชุมร่วมกันอยู่ ณ ที่นี้ ประสบความสุขความเจริญทุกเมื่อถ้วนหน้ากัน”

หลังรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว มาถึงขั้นตอนสำคัญครับ จะมีการเรียกประชุม ส.ส.เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

บางปีเรียกประชุมในวันเดียวกัน

บางปีเรียกประชุมวันรุ่งขึ้น

ก็กลับเข้าสู่สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นจริงอีกครั้ง

ฟัง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พูดแล้ว ต้องหันไปมองหน้า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ยกแรกนี้จะสู้หรือหมอบ

“ประเสริฐ” ยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ยังไม่ได้มีการคุยกันแบบได้ข้อสรุป อาจต้องรอให้มีการรับรอง ส.ส.ให้ครบก่อน ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้

แสดงว่าที่ผ่านมา “พักยก”

ยังหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ว่า เพื่อไทย จะยอมให้ ก้าวไกล ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ไปเพราะอะไร

เช่นกัน ก้าวไกล ไม่ยอมยกเก้าอี้นี้ไปให้ เพื่อไทย ง่ายๆ เพราะมันคือหลักประกันเดียวที่มีอยู่ในการเอื้อให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ

แต่หากทั้ง ๒ พรรคเสนอชื่อประธานสภาผู้แทนฯ แข่งกันเอง หายนะจะเกิดกับก้าวไกลมากกว่า

ก้าวไกลไม่มีแนวร่วมต่างขั้ว

แต่เพื่อไทยมี

การเลือกประธานสภาผู้แทนฯ ครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากทีเดียว

เพราะคนที่ได้เป็นประธานสภาผู้แทนฯ จะเผยให้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลในแทบจะทันที

แต่การโหวตเลือกนายกฯ อาจต้องโหวตกันถึง ๓ รอบ

รอบ ๑ รอบ ๒ แค่พิธีกรรม

รอบ ๓ คือของจริง

ทำไม ๓ รอบ?

ต้องไปถาม “เพื่อไทย”

Written By
More from pp
“ราเมศ” ติง ทุกฝ่าย อย่าข่มขู่ คุกคาม กดดันศาลรัฐธรรมนูญ
27 กันยายน 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะได้มีการอ่านคำวินิจฉัยกรณีนายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 กันยายนนี้ ว่า
Read More
0 replies on “ก่อนจะได้นายกฯ ตัวจริง – ผักกาดหอม”