ผักกาดหอม
จบข่าว!
“นายใหญ่” ยืนยันเอง “ธรรมนัส” กลับคอก
“ …ถามว่ารู้จักไหม รู้จัก เพราะเป็นคนเหนือ เคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อน เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้อง…
…ที่ผ่านมาเคยพูดไว้ว่า ศิษย์เก่าไทยรักไทยทั้งหลาย มีเยอะอยู่ในวงการเมือง ถ้าคนไหนออกไป ไม่เป็นปฏิปักษ์กับพรรค และเขาอยากกลับมาก็ไม่น่าเสียหายอะไร แต่คนที่ออกไปเป็นปฏิปักษ์กับพรรคก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง…”
ประกาศิตจาก “ทักษิณ ชินวัตร” ใครจะกล้าขวาง
แลนด์สไลด์หวานเจี๊ยบเลย
“ธรรมนัส” ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับเพื่อไทยครับ
และเพื่อไทยเองก็คงไม่มีปัญหากับ “ธรรมนัส” แล้ว แม้จะเปิดซักฟอก ตามล้างตามเช็ดเรื่อง ยาเสพติดที่ออสเตรเลียก็ตามที
พรรคร่วมฝ่ายค้านที่อาจเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในอนาคตก็คงไม่มีใครพูดถึง “ธรรมนัส” ในแง่ลบอีก หลังจากลากไส้กันในสภาอย่างมันหยด
เก็บคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เลขที่ ๖๐๔๔/๙๔ และ ๖๐๓๔/๙๔ ฉบับสมบูรณ์ เข้าตู้เซฟ
แต่สำหรับประชาชนจะมีปัญหาหรือไม่ ไม่ทราบได้ครับ คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยจะค้างคาอะไรในใจหรือไม่
หรือได้ข้อสรุปแล้วว่า “มันคือแป้ง”
ว่าไปแล้วลูกศิษย์ไทยรักไทยในพลังประชารัฐมีเยอะครับ
ส่วนใหญ่ไม่ทำตัวมีปัญหากับ “ทักษิณ” เสียด้วย
ถ้ากลับคงอ้าแขนรับกันไม่ทัน
แต่ทางกลุ่มสามมิตรยืนยันแล้ว จะอยู่สู้กับ “ลุงตู่” ต่อ ก็ว่ากันไปครับ เอาไว้ช่วงใกล้หมดเวลาย้ายพรรคถึงจะชัดเจน
สำหรับ “ธรรมนัส” เคยช่วยงานพรรคไทยรักไทย เป็นทีมยุทธศาสตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชี่ยวชาญพื้นที่คลองเตยเป็นพิเศษ
มาในปี ๒๕๕๗ ลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยด้วย
เป็นหนึ่งในผู้ที่ คสช.เรียกไปรายงานตัว หลังการรัฐประหาร ๒๕๕๗ เพราะถูกมองว่าเป็นมาเฟียเมืองกรุง ช่วงเวลาดังกล่าว “ธรรมนัส” จึงเก็บเนื้อเก็บตัวเป็นพิเศษ
แต่แล้ว เลือกตั้งเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ “ธรรมนัส” ย้ายข้างมาอยู่พลังประชารัฐ
เป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งในโซนภาคเหนือ ๑๖ จังหวัด ของพรรคพลังประชารัฐ
เป็น ส.ส.พะเยา เขต ๑
“ธรรมนัส” สร้างปรากฏการณ์ พาพลังประชารัฐได้ ส.ส.เขตในภาคเหนือมาถึง ๒๕ ที่นั่ง ทั้งๆ ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคเพื่อไทย
จากการมีการเลือกตั้งซ่อมหลายสนามทั่วประเทศ “ธรรมนัส” เป็นแม่ทัพพาพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งทุกสนาม
ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไม “ธรรมนัส” จึงอยู่ในแผนแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย
ถ้าไปจริงก็จะเป็นส่วนเติมเต็มที่ลงตัว
วันก่อน หมอชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศฟื้นสงครามปราบยาเสพติดเป็นนโยบายใหญ่ของพรรคเพื่อไทย พร้อมอธิบายร่ายยาวว่า
“…สังคมไทย เป็นสังคมที่มีภาวะกดทับ และภาวะกดดันอย่างมากมาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก มีอารมณ์ร้อน จากการศึกษาพบว่า เด็กและเยาวชนถูกขับไล่ออกจากระบบการศึกษา จากยาเสพติดและการก่อความวุ่นวาย ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จึงจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ทีมนโยบายเพื่อไทย …”
ต้องยกนิ้วให้ครับ
การกลับบ้านเก่าของ “ธรรมนัส” น่าจะทำให้นโยบายต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยลงตัวขึ้น
เว็บไซต์ไทยโพสต์ www.thaipost.net วานนี้ (๑๒ ตุลาคม) เผยแพร่ข่าว “นักกฎหมายถอดรหัส ‘แลนด์สไลด์’ เพื่อไทยอาจฝันสลายจัดตั้งรัฐบาล!”
รายละเอียดดังนี้ครับ
“…ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน วิเคราะห์กระแสข่าว พรรคเพื่อไทยวางตัวนายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อันดับ ๑ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร อันดับ ๒ ซึ่งใช้กลยุทธ์ทางการเมืองให้ชนะแลนด์สไลด์ ว่าเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่กำหนดไว้ แต่ส่วนใหญ่จะเสนอรายชื่อก่อนปิดรับสมัคร หมายความว่า อาจเปลี่ยนตัว เปลี่ยนลำดับกะทันหันก็ได้ แตกต่างจากการทำไพรมารีโหวตของการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาแต่ละมลรัฐ ก่อนที่จะคว้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
อย่าลืมว่าเมืองไทยใช้ระบบรัฐสภา ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ถามว่า การเสนอตัวบุคคลทั้งสองในยุทธศาสตร์ทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนผู้สนับสนุนมองว่า ใช้เศรษฐกิจนำการเมือง หมายความว่า ผู้เสนอตัวลำดับ 1 เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันเป็นการโยนหินถามทางมากกว่าเพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองตรงข้ามพุ่งเป้ามาที่นางสาวแพทองธาร ทายาททางการเมืองของคุณทักษิณ ถือว่าเป็นปกติทางการเมืองของทุกพรรคการเมืองที่จะเสนอบุคคลที่มีกระแสทางการเมือง แต่จะได้นั่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๙ ประกอบมาตรา ๒๗๒
ยกตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทย ได้เสียงมากสุด ๒๔๙ หรือ ๒๕๐ เสียง ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องไปรวบรวมอีก ๑๒๖ เสียง ถึงจะได้เสียงกึ่งหนึ่ง (๓๗๕ เสียง) ตามมาตรา ๑๕๙ วรรคท้ายประกอบมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่ง (ส.ส.๕๐๐+๒๕๐=๗๕๐)
โอกาสรวบรวมเสียงให้ถึง ๓๗๕ เสียงขึ้นไป ให้เป็นเสียงข้างมากในสภาค่อนข้างยาก เพราะตัวแปร การต่อรองพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลย่อมใช้อำนาจต่อรองสูง โดยเฉพาะพรรค ปชป.หรือพรรคภูมิใจไทย คนละอุดมการณ์กัน โอกาสจับมือค่อนข้างยาก
ตัวอย่างในปี ๒๕๖๒ พรรคเพื่อไทย ชนะเสียงข้างมาก แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หากเทียบเคียงกับ ส.ว. ๒๕๐ เสียง ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ตุนอยู่ในมือ เพียงรวบรวมเสียงอีก ๑๒๖ เสียง สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่การทำหน้าที่ในสภาจะต้องใช้เสียงข้างมาก (๕๐๐ เสียง)
ดังนั้น จะเห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า เสียงจะปริ่มน้ำเหมือนเดิม จะมีปรากฏการณ์งูเห่าทางการเมืองของขั้วฝ่ายค้านให้เห็นแน่นอน
ถอดรหัสสมการทางการเมือง หากพรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ให้มากสุด ๒๕๐ เสียง โอกาสจัดตั้งรัฐบาลโอกาสยาก
คือ ชนะเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ประกอบกฎกติกาเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา ๖๘, ๗๒ กรอบ ๑๘๐ วัน ก่อนวันเลือกตั้งนับตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ เป็นต้นไป เป็นกฎเหล็กข้อห้ามหยุมหยิม โอกาสแพ้ฟาวล์แบบแลนด์สไลด์หรือถูกร้องว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้าจะได้ก็เป็นเพียงรัฐบาลเงาเท่านั้น…”
ถอดรหัสพรรคเพื่อไทยปี ๒๕๖๕ ไม่ได้เหนือไปกว่าพรรคเพื่อไทยปี ๒๕๖๒ แต่อย่างใด
การวาง “เศรษฐา ทวีสิน” กับ “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อนำไปเทียบกับปี ๒๕๖๒ ที่มี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กับ “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ถึงกับว้าว สามารถเรียกคะแนนนิยมเป็นกอบเป็นกำได้
และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าบุคลากรเดิมในพรรคเพื่อไทย ไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้นำประเทศได้แม้แต่คนเดียว
จนพรรคไม่กล้าชูขึ้นมา
ผิดกับ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย หรือแม้กระทั่งพลังประชารัฐ ที่ยังชัดเจนในตัวบุคคลมากกว่า
ฉะนั้นแลนด์สไลด์เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยยังต้องปฏิบัติการดูดอีกหลายครั้ง
ดูดแค่กลุ่มธรรมนัส ยังห่างกับคำว่าแลนด์สไลด์