ผักกาดหอม
คุยกันเรื่อง กฎหมาย กับ จิตสำนึก ครับ
หลังศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้สิ้นสุดลง ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ เพราะวาระเริ่มแรก ต้องนับตามวันแรกที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ มิใช่วันโปรดเกล้าแต่งตั้งวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗
ก็มีทั้ง รอยยิ้ม และ รอยแค้น ครับ
ในแวดวงรอยแค้นดูจะดุเดือด เลือดพล่านทีเดียว
นักวิชาการ นักกฎหมาย นักการเมือง ผู้นำมวลชนน้อยใหญ่ พากันวิพากษ์วิจารณ์ บ้างก็ด่าศาลรัฐธรรมนูญตรงๆ
เป็นปกติของสังคมประชาธิปไตยครับ ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย
ถ้าเกินจะกลายเป็นการหมิ่นศาลไป
ก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไปด่าเขาก็มีโอกาสถูกฟ้องหมิ่นประมาท
เสียงวิจารณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้งส่วนที่ต้องนำไปศึกษาต่อ และส่วนที่เป็นขยะเพราะมุ่งเน้นหาประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าที่จะหาความกระจ่างในแง่ข้อกฎหมาย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จึงกลายเป็นผู้ร้าย ในสายตาพวกที่พกรอยแค้นมาวิพากษ์วิจารณ์
รู้สึกประหลาดใจนักกฎหมาย นักการเมือง หลายต่อหลายคน ตำหนิศาลว่า วินิจฉัยกรณี นายกฯ ๘ ปี ขัดความรู้สึกของประชาชน
ตกลงจะให้วินิจฉัยตามความรู้สึก หรือตามกฎหมาย
ถ้าวินิจฉัยตามความรู้สึก ก็จะเป็นบรรทัดฐานกับคดีต่อๆไป ที่ศาลต้องวินิจฉัยให้ตรงความรู้สึกของประชาชนหรือไม่?
พูดเรื่องความรู้สึก ไม่มีใครปฏิเสธหรอกครับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ ๘ ปีเต็มแล้ว
ไม่มีใครพูดสักคำว่า เพิ่งเป็นมา ๓ ปี ๖ ปี
นั่นคือข้อเท็จจริง ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้
แต่กฎหมายเป็นอีกเรื่อง
คำวินิจฉัยส่วนตนของ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” ตุลาการเสียงข้างน้อยถูกพูดถึงกันเยอะ เพราะมีการระบุถึง จริยธรรม หรือ จิตสำนึก
คำวินิจฉัยท่อนหนึ่งระบุว่า
“…บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือหรือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจหรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม
แต่เหตุอีกส่วนเกิดจากกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองที่…ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบประชาธิปไตยหรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…”
“ผู้มีอำนาจดังกล่าวทั้งหลาย จึงควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ จริยธรรมนำกฎหมาย หรือเคร่งครัดตน ผ่อนปรนคนอื่น มิใช่เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเองเพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรม กฎหมายและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองลงได้บ้างอนึ่ง การไม่อดทนที่จะเคารพกติกา เปลี่ยนแปลงสัญญาประชาคม อยู่เรื่อยๆ ทำให้คนทั้งหลายขาดศรัทธาในการเคารพสัญญานั้นๆ”
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
ผู้นำต้องมีจริยธรรม และจิตสำนึกที่ดี
ประเด็นนี้มีการพูดกันมายาวนานแล้ว ไม่เฉพาะในปัจจุบัน
จริยธรรมของนักการเมือง มีการกล่าวกันตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ด้วยซ้ำ เพราะนักการเมือง ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐประหาร ส่วนใหญ่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย
แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และยังคงต้องรอการแก้ไขต่อไป
กระนั้นก็ตาม เมื่อคำวินิจฉันส่วนตนนี้พูดถึงการทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจ
การขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล
จึงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อว่า ใช้กฎหมายหรือใช้ความรู้สึกวัด
ทำให้ย้อนนึกไปถึงคำวินิจฉันส่วนตนของ “ประเสริฐ นาสกุล” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในคดีซุกหุ้น เมื่อปี ๒๕๔๔
ครั้งนั้น “ประเสริฐ นาสกุล” เขียนคำวินิจฉัยส่วนตนให้แง่คิดตอนหนึ่งว่า
“…หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้น ผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง (ทักษิณ ชินวัตร) จะต้องผิดหวังในที่สุด…”
แง่คิดตรงกับคดีที่วินิจฉัย!
“ทักษิณ” หลบเลี่ยงกฎหมายด้วยการซุกหุ้น ให้คนขับรถ คนใช้ ถือแทน
แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าววินิจฉัยว่าไม่ผิด ก็เป็นไปตามนั้น
หลังจากนั้นรัฐบาลทักษิณได้รับการขนานนามว่ารัฐบาลโคตรโกง โกงทั้งโคตร เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลน้องสาว มีนักการเมือง ข้าราชการในเครือข่ายติดคุกนับสิบคน เพราะโกง
มาคดีนายกฯ ๘ ปี เกิดคำถามในแง่กฎหมาย และในแง่ข้อเท็จจริงที่ต่างกัน
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯมา ๘ ปี แต่เพราะรัฐธรรมนูญมากำหนดในภายหลังว่าห้ามเป็นนายกฯเกิน ๘ปี แล้วจะนับตอนไหน
เมื่อ…
การไม่ยำเกรงกฎหมาย
การทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจ
การขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน
ควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้จริยธรรมนำกฎหมาย
มิใช่เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเองเพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรม กฎหมาย
การไม่อดทนที่จะเคารพกติกา เปลี่ยนแปลงสัญญาประชาคม อยู่เรื่อยๆ ทำให้คนทั้งหลายขาดศรัทธาในการเคารพสัญญานั้นๆ
เหล่านี้…ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัย มันหมายถึงอะไร?
เกี่ยวข้องกับปัญหาข้อกฎหมายคดีนายกฯ ๘ ปีอย่างไร
หรือเป็นพฤติกรรมของผู้นำประเทศซึ่งปรากฎออกมา และส่งผลทำให้การเป็นนายกฯ ๘ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างย่อยยับ
แน่นอนครับ คำพูดลักษณะนี้ ฝ่ายค้าน ฝ่ายที่ต้องการล้มรัฐบาล ใช้โจมตีรัฐบาลมาโดยตลอด แต่นั่นคือ “การเมือง”
หากมีเรื่องนี้อยู่จริงและมีหลักฐาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง หรือศาลยุติธรรมอื่นๆ พิพากษาโดยไว
การทุจริต การใช้อำนาจบิดเบือน ล้วนเป็นข้อหาใหญ่ และรุนแรง หากมีหลักฐานต้องจับ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าคุกให้ได้
ไม่สมควรปล่อยให้เป็นผู้นำประเทศได้แม้วินาทีเดียว