6 กันยายน 2565-น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่งเป็นเอกสารถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า
ขอให้สังคมหยุดวิพากษ์วิจารณ์เพราะเอกสารดังกล่าวยังไม่มีการรับรองว่าเป็นเอกสารจริงและเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้เป็นข้อสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จึงขอให้สังคมใช้วิจารณญาณก่อนการวิพากษ์วิจารณ์
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า หลังมีเอกสารดังกล่าวเผยแพร่ในโซเชียล อาจทำให้สังคมสับสนว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาล จึงต้องขอชี้แจงว่า
หากศาลต้องการข้อมูลหรือคำชี้แจงของท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นไปในฐานะพยาน ตามกระบวนพิจารณาของศาล โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยอำนาจตามพรป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 27 ที่กำหนดให้การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน
ศาลมีอำนาจค้นหาความจริง การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็ว และในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีได้
ซึ่งคำชี้แจงหรือหลักฐานของบุคคลที่ส่งมายังศาล เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่ใช่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 72 และ 73 ของพรป. นี้
น.ส. ทิพานัน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกขั้นตอนของกระบวนพิจารณามีการกำหนดวิธีการไว้ชัดเจนเป็นไปตามบทบัญัติ พรป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561
ดังนั้น หากมีการประชุมนัดพิเศษวันที่ 8 กันยายน 2565 นั้น ก็เพื่อที่จะอภิปรายคำชี้แจงและหลักฐานต่างๆ ว่าสิ้นข้อสงสัยเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วหรือยัง หากยังไม่สิ้นข้อสงสัยก็ต้องแสวงหาหลักฐานและพยานเพิ่มเติมต่อไป
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรา 58 พรป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ที่บัญญัติว่า “หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้”
และจากมาตรา 58 แม้หากศาลสิ้นสงสัยก็ยังไม่ได้ความว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาทันทีหลังนัดประชุมอภิปรายคำชี้แจงนั้น
“ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังเป็นอย่างมากในการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ฝ่ายค้านที่เป็นคนเริ่มต้นยื่นคำร้องขอตีความที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านเองก็เชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณาของศาล รอฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ออกมาตีรวนกดดันศาลและให้สัมภาษณ์เพื่อทำสังคมสับสนรายวัน” น.ส. ทิพานัน กล่าว