ปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย กานต์ ภัสริน รามวงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร และ พนิดา มงคลสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ
ยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) ต่อสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ปกครองมีสิทธิลงโทษบุตรได้ตามสมควร เปิดช่องให้เกิดการทำร้ายหรือการเฆี่ยนตี จนเกิดอันตรายต่อเด็ก
แก้เป็นการจำกัดสิทธิในการลงโทษ ห้ามทารุณทำร้าย เฆี่ยนตี หรือทำโทษอันด้อยค่าบุตร หวังทำให้เด็กได้รับการปกป้องจากความรุนแรงและได้พัฒนาเต็มศักยภาพ
“ร่างกฎหมายนี้เป็นความตั้งใจของนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ยกร่างขึ้นหลังจากเห็นข่าวเด็กหญิงอายุ 2 ปี ถูกบิดาเลี้ยงทำร้ายจนเสียชีวิต เหตุเกิดในจังหวัดพิษณุโลก
แต่เนื่องจากนายณัฐวุฒิฯ อยู่ในระหว่างรักษาโรคโควิด ไม่สามารถมาแถลงข่าวด้วยตนเอง จึงได้มอบให้ตนเป็นผู้แถลงแทน และหากเราติดตามข่าว จะเห็นข่าวเด็กถูกบิดามารดาหรือผู้ปกครองทำร้ายด้วยความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง โดยเข้าใจว่าพวกเขามีสิทธิจะลงโทษบุตร ดังที่ปรากฏใน ปพพ.ม.1567 (2) ปัจจุบันที่ว่า “ผู้ปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร”
สอดคล้องสุภาษิตในอดีตที่กล่าวว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แต่หลายครั้งวิธีการลงโทษจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจกลับกลายเป็นการทารุณที่ส่งผลต่อร่างกายหรือจิตใจ เฆี่ยนตีอย่างไม่ยั้ง หรือทำให้เด็กรู้สึกตนเองด้อยค่า นำไปสู่การบาดเจ็บ เสียชีวิต และที่สำคัญส่งผลต่อการที่เด็กจะไปสร้างความรุนแรงต่อในระยะยาว” ปดิพัทธ์ระบุ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เองก็ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ยกร่างแก้ไข ปพพ. มาตรา 1567 (2) ไว้ในทำนองจำกัดสิทธิของผู้ปกครองในการลงโทษบุตร พร้อมทั้งได้ส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรมร่วมพิจารณามาตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
ทางพรรคก้าวไกลจึงได้ยกร่างและรวบรวมรายชื่อ ส.ส.เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน เข้าชื่อเสนอขอแก้ไข ปพพ.มาตรา 1567 (2) เปลี่ยนจากข้อความเดิมเป็น “ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า” เพื่อเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยหวังว่าสภาฯ จะเร่งการพิจารณาให้ทันในสมัยประชุมหน้า แสดงถึงความตั้งใจในการปกป้องเด็กทุกคนจากความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในบ้าน
ภัสริน รามวงศ์ ยังได้แถลงเพิ่มเติมว่า “นอกจากจะเป็นการแก้ กม.เพื่อปกป้องเด็กแล้ว การแก้ กม.นี้ยังสอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก และข้อเสนอแนะของนานาประเทศต่อไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review หรือ UPR รอบที่ 2 (พ.ศ.2559 ถึง พ.ศ. 2563) ที่รัฐบาลไทยยอมรับว่าจะเร่งในการปรับแก้ กม.ดังกล่าว แต่ก็เนิ่นช้าเกินกรอบเวลามากว่า 2 ปีแล้ว
ไม่เหมือนกับกรณีการปรับแก้ กม.อาญา เรื่องปรับเกณฑ์อายุความรับผิด จาก 10 ปี เป็น 12 ปี ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการไปก่อนหน้านี้ การแก้ กม.เพียงมาตราเดียวไม่ใช่เรื่องยาก แต่สะท้อนว่า รบ.จริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่มากกว่า และหากมีการแก้ ปพพ.ม. 1567 (2) ได้จริง เราเองก็จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ การยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้มิได้กำหนดว่าจะห้ามมิให้ผู้ปกครองลงโทษบุตรอย่างเด็ดขาด แต่จะเป็นการสร้างความตระหนักรับรู้ใหม่ว่าการที่เด็กอาจกระทำความผิดหรือมีพฤติกรรมที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องว่ากล่าวสั่งสอนนั้น มีวิธีการที่จะแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้อย่างหลากหลาย
ทั้งการเสริมวินัยเชิงบวก การให้คำปรึกษาอย่างรับฟังและเข้าใจ การทำให้เด็กเห็นพฤติกรรมตัวอย่างที่ดีจากผู้อื่นโดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่ โดยจะต้องเข้าใจต่อพัฒนาการและปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคล ซึ่งภายใต้ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ถือเป็นหน้าที่ของหลายหน่วยงานที่จะต้องช่วยกันทำความเข้าใจและส่งเสริมให้ผู้ปกครองทำหน้าที่ในการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสม
“เราตระหนักถึงความยากลำบากของผู้ปกครองที่จะจัดการเวลาที่เด็กๆ มีปัญหาพฤติกรรม แต่หากไม่มีการจำกัดสิทธิในการทำโทษนั้น จะเกิดผลร้ายทั้งต่อเด็กและสังคมมากกว่า การแก้ไขเฉพาะ ปพพ.มาตราเดียว มิได้ตอบโจท์การแก้ปัญหาทั้งหมด และยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ
ทั้งการรณรงค์ การสร้างวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม ระบบที่เอื้อและสนับสนุนผู้ปกครอง แต่สำหรับ ‘เด็ก’ แล้ว เรื่องของเขาเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ และเราได้ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นนานเกินไปแล้ว พรรคก้าวไกลจึงหวังปักหมุดหมายและสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็น #รักลูกต้องไม่ตี เหมือนดังที่ทุกคนเคยช่วยกันใน #สุราก้าวหน้า และ #สมรสเท่าเทียม มาก่อนหน้านี้แล้ว” ปดิพัทธ์กล่าวในที่สุด