ผักกาดหอม
นึกถึงกรณี “โมนิกา ลูวินสกี” ขึ้นมาทันที
แม้จะไม่เหมือนกรณี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ที่กำลังเป็นข่าวเกรียวกราวเสียทีเดียว แต่สามารถอธิบายเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันได้
คือเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง
ช่วงปี ๒๕๓๘ ถึง ๒๕๒๙ “ลูวินสกี” มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน บางครั้งเกิดขึ้นในห้องทำงานรูปไข่ทางปีกตะวันตกของทำเนียบขาว
เรื่องนี้เป็นที่ฉาวโฉ่อย่างมาก
อดีตเพื่อนร่วมงานของลูวินสกีชื่อ “ลินดา ทริปป์” ได้บันทึกคำสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างเธอกับลูวินสกีเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคลินตัน เทปม้วนนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญให้อัยการอิสระ เคนเนธ สตาร์ ซึ่งขณะนั้นกำลังสืบสวนคดีทุจริตของคลินตันที่รู้จักกันในชื่อ คดีไวต์วอเตอร์
ทำให้อัยการเคนเนธ สตาร์ ได้ขยายผลมาสนใจคดีชู้สาวอื่นๆ ของคลินตันในเวลาต่อมา
เหตุการณ์นี้ยังทำให้อดีตประธานาธิบดีคลินตันถูกสมาชิกรัฐสภายื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งอีกด้วย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ต่อมา “ลูวินสกี” เขียนบทความลงในนิตยสารวานิตีแฟร์ โดยระบุว่า แม้ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของเธอเอง แต่อดีตผู้นำสหรัฐฯ มีส่วนผิดอย่างมาก เพราะใช้อำนาจในทางที่มิชอบอย่างไร้ความละอาย เพื่อแสวงหาความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงสาวที่อ่อนประสบการณ์
มูลเหตุที่ “ลูวินสกี” เขียนบทความชิ้นนี้ ทางนิตยสารวานิตีแฟร์ อ้างว่า เพื่อสะท้อนส่วนหนึ่งของกระแสการรณรงค์ต่อต้านการคุกคามล่วงเกินทางเพศ
หรือที่รู้จักกันในชื่อของขบวนการ #MeToo
โดยเธอบอกว่าตนเองต้องตกเป็นเหยื่อของการรังเกียจกีดกันจากสังคมอย่างหนัก หลังเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวถูกเปิดเผยออกไป จนแพทย์วินิจฉัยว่าเธอมีอาการผิดปกติจากความเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนใจ (PTSD)
ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในบทความชิ้นนี้ แม้ “ลูวินสกี” ยืนยันว่า ความสัมพันธ์กับอดีตประธานาธิบดีคลินตันเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจ
แต่ “ลูวินสกี” บอกว่า เธอกับ “คลินตัน” มีสถานะที่แตกต่างกันในเชิงอำนาจอยู่มาก ตัวเธอนั้นมีความเข้าใจต่อผลที่จะเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ครั้งนี้น้อยมาก
และสุดท้ายต้องมานั่งเสียใจกับเรื่องดังกล่าวอยู่ทุกวัน
“ความหมายของคำว่า ‘ยินยอมพร้อมใจ’ ในพจนานุกรมน่ะหรือ? ก็คือการอนุญาตให้บางอย่างเกิดขึ้น แต่คำว่าบางอย่างนี้ก็กินความรวมไปถึงหลายเรื่อง เช่นพลวัตของอำนาจ ตำแหน่งของเขา และอายุของฉันด้วย เขาเป็นเจ้านายของฉันและชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลก แถมยังมีอายุมากกว่าฉัน ๒๗ ปี น่าจะมีประสบการณ์ชีวิตมามากพอที่จะรู้ดีกว่าฉันด้วยซ้ำ”
ครับ…นั่นคือความซับซ้อนของความสัมพันธ์ ที่ไม่ได้มีมิติเดียว
“คลินตัน” รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ทำไปแล้วจะส่งผลอย่างไร
แต่ “คลินตัน” ก็ทำ
กรณีของ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” หากเป็นจริงตามที่มีการเปิดเผยออกมา ก็ต้องจบชีวิตทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
เพราะเป็นกรณีร้ายแรงมาก ถึงขั้นเป็นภัยสังคม
ไม่ควรกลับมาอีก
ที่สำคัญ ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
ที่จริงวงการการเมืองไทย น่าจะใช้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐาน เพราะระหว่างที่ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ตกเป็นข่าว ยังมี นักการเมือง แม้กระทั่งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จำนวนมาก มีพฤติกรรมไม่ต่างกันนัก
เห็นสามนิ้วเอาประชาธิปัตย์ไปด่ากันสนุกปาก ลากไปถึงโคตร
ช้าก่อน… แกนนำสามนิ้วหลายคนก็ฉาวโฉ่ในเรื่องเดียวกันนี้ไม่ใช่หรือ
“ชินวัตร จันทร์กระจ่าง” แกนนำกลุ่มสามนิ้วนนทบุรี คุกคามทางเพศนักเคลื่อนไหวหญิงรายหนึ่ง และได้ออกมาประกาศยุติการเคลื่อนไหว
นายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ ผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ ถูกแฟนเก่าแฉพฤติกรรมละเมิดทางเพศผู้หญิง ชอบกดขี่ บงการและด้อยค่า พร้อมเรียกร้องให้รับผิดชอบการกระทำทุกอย่างด้วยการออกจากกลุ่มทะลุวังและหยุดเคลื่อนไหวในขบวนการสามนิ้ว เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในม็อบ
อีกคนคือ “นิว” หัวหน้าพรรค “โดมปฏิวัติ” (Dome Revolution) แกนหลักกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก่อเหตุล่อลวงและกระทำชำเราหญิงสาว โดยไม่มีการสวมใส่ ถุงยางอนามัย ป้องกัน
ไม่รู้ว่าทั้งหมดถูกดำเนินคดีไปหรือยัง หรือไม่มีใครติดใจเอาความ
แต่นี่คือสิ่งที่ปล่อยไว้ในสังคมไม่ได้
เกิดกรณี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ขึ้นมาได้เห็นมุมมองของผู้หญิงสองคน
คนแรกคือ ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่า
—————-
…กรณีการคุกคามทางเพศที่เป็นข่าวอยู่นั้นคงแทบไม่เหลือคำถามอะไรมากมาย สิ่งที่น่าสนใจคือสังคมจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งก็คงมีอีกหลายคนช่วยกันต่อยอดไปในประเด็นต่างๆ ขอให้กำลังใจทุกคนที่กำลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ซึ่งบางครั้งจะเป็นการต่อสู้ในหลายมิติซึ่งต้องอาศัยความแข็งแกร่งภายในและการสนับสนุนจากคนรอบตัวที่ยืนระยะได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้คือความเห็นที่ทิ่มแทงทำร้ายคุณจะโดดเด่นขึ้นมาในสายตาและประทับอยู่ในหัวใจของคุณ แต่สิ่งที่มีมากกว่านั้นคือแรงใจสนับสนุนที่คุณอาจมองข้ามหรือเห็นไม่ชัดเท่า อย่าลืมมองสิ่งที่มีค่าเหล่านั้นให้เห็นด้วย
ส่วนตัวค่อนข้างสนใจทัศนคติของคนในสังคมเกี่ยวกับ “การมีส่วนในความผิด” ของผู้เสียหายเมื่อมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น อันที่จริงในแวดวงที่ทำงานกับเรื่องเหล่านี้ก็มีการพูดถึงกันไปอย่างลึกซึ้งแล้วในประเด็น “Victim Blaming” ส่วนตัวไม่ได้มีความรู้หรือความเห็นจะต่อเติมอะไรกับกลุ่มคนที่มีความตระหนักรู้เรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว และไม่ได้มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าเราไม่ควรด่วนตัดสินใครไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหา แต่อยากพูดกับคนทั่วๆ ไปที่ยังมีความคิดเหล่านี้เป็นอัตโนมัติอยู่
“ไปคอนโดเขาแล้วคิดว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเนี่ยนะ”
“ชายหญิงอยู่ด้วยกันสองต่อสองคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
“ถ้าไม่มีใจจะขึ้นรถไปด้วยทำไม”
“ก็ไปหาเขาเอง”
พูดกันแบบบ้านๆ เลย คำตอบอาจมีได้มากมาย
“ไปเพราะไว้ใจว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
“ชอบจริง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีความสัมพันธ์แบบนี้”
“ชวนกินข้าวแปลว่ากินข้าว ขับรถเล่นแปลว่าขับรถเล่น ไม่เคยคิดว่าจะเกิดอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่คุยกัน โดยเฉพาะเมื่อเราไม่ยินยอม”
“ไม่กล้าปฏิเสธว่าจะไม่ไป กลัวกระทบมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ในมิติอื่นๆ”
“รู้สึกดีด้วย อาจตัดสินใจลงเอยถ้าทัศนคติและความต้องการตรงกัน ไม่ได้ต้องการถูกรวบหัวรวบหาง”
“ไม่มีไรอยู่ในหัวเลย งงมาก” ฯลฯ
ดังนั้นสำคัญมากที่จะไม่เอาคำตอบอัตโนมัติของคุณไปเหมาให้เป็นความคิดของใคร ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มจากการให้เกียรติและรับฟัง และความเป็นธรรมก็เริ่มจากสิ่งนี้….
———–
อีกคน ลักขณา ปันวิชัย – แขก คำผกา โพสต์ในทวิตเตอร์ Kam Phaka @kamphaka
————
…การข่มขืนไม่ได้เกิดจากอารมณ์ทางเพศแต่เกิดภาวะที่ผู้ข่มขืนตระหนักในอำนาจที่อยู่เหนือกว่าผู้ถูกข่มขืน ตั้งแต่อำนาจเชิงพละกำลัง/อำนาจทางธรรม/อำนาจทางสายเลือด ครอบครัว/อำนาจเชิงบังคับบัญชา ฯลฯ เป็นเรื่องอำนาจล้วนๆ….
————
เป็นมุมมองที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในแง่ของท่าทีต่อกรณีที่เกิดขึ้น โบว์ มองในแง่ข้อเท็จจริงที่มันเกิด และพยายามบอกว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และตรงไหนที่สังคมน่าจะเข้าใจผิด
ส่วน แขก คำผกา สาวกทักษิณ ลากไปถึง อำนาจ ครอบครัว สายเลือด ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเสมอไป ก็เพิ่งจะได้ยิน นักข่มขืนทางสายเลือด
ที่เห็นมีแต่โกงโดยสายเลือด พี่หนี น้องก็หนี
รอดูลูกสาวต้องหนีไปอีกคนหรือเปล่า