ก่อนคำวินิจฉัย-ผักกาดหอม

www.plewseengern.com

ผักกาดหอม

ตั้งตารอเลย

พรุ่งนี้ (๓๐ กันยายน) บ่ายสาม ได้รู้กันครับ หมู่หรือจ่า

หยุดแค่นี้หรือไปต่อ

ก็ถือเป็นข่าวใหญ่ในรอบปีครับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญคงจะยัดทะนาน นักข่าวน่าจะเดินเบียดกันเพราะไม่มีที่ว่างสำหรับใคร

การบ้านการเมืองก็เช่นกันครับ นาทีนี้ไม่มีที่ว่างให้ใครได้เดินกันง่ายๆ

ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง นักการเมือง ผู้นำมวลชน ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น

ย้ำกันอีกทีครับ แนวทางวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีอยู่ ๒ แนวทางหลักๆ

วินิจฉัยตามคำร้อง กับ วินิจฉัยตามคำร้องแต่เพิ่มเติมในรายละเอียดเพื่อความชัดเจน

กลับไปดูคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

…ประสงค์ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา ตามมาตรา ๑๗๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๕๙ ง ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗)

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๕๘ ง ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒) พล.อ.ประยุทธ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันจนถึงวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า ๘ ปี นับแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป…

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องอย่างเคร่งครัด ประเด็นจะแคบแค่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ ๘ ปีในวันที่ ๒๕ สิงหาคมที่ผ่านมาหรือไม่

ถ้าใช่ก็จบ

ถ้าไม่ใช่ศาลก็ยกคำร้องไป

แต่ศาลอาจจะไม่วินิจฉัยต่อว่า ให้นับ ๑ ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ไปจบในวันที่เท่าไหร่ เพราะฝ่ายค้านไม่ได้ถามประเด็นดังกล่าว

หากฝ่ายค้านอยากให้เคลียร์ประเด็นนี้ ก็ต้องยื่นคำร้องใหม่

ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณานานเท่าไหร่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะขึ้นกับฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องใหม่เมื่อไหร่ด้วย

แต่กรณีที่จะวินิจฉัยในวันที่ ๓๐ กันยายนนี้ ใช้เวลาไปกว่า ๑ เดือน

อีกแนวทางศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยเกินคำร้อง

คือหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าให้เริ่มนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ก็ต้องมีรายละเอียดครับว่า เริ่มนับหนึ่งเมื่อไหร่ ไปจบตอนไหน

หลักๆ มีอยู่ ๒ แนวทาง

๑.นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ คือวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ฉะนั้นวาระ ๘ ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๘

๒.ให้เริ่มนับหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ จะไปสิ้นสุดวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๗๐

แต่หากตีความตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดทุกตัวอักษรจะมีแนวทางที่ ๓ ขึ้นมา

เพราะการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มิได้ใช้บทปกติในรัฐธรรมนูญ แต่ใช้บทเฉพาะกาลมาตรา ๒๗๒

ให้ ส.ว. ทั้ง ๒๕๐ คน มีสิทธิ์ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ จึงมิได้เป็นไปตามมาตรา ๑๕๘ ที่บัญญัติว่า

“…พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง…”

ฉะนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่มีการนับหนึ่ง

แนวทางนี้ดูจะสุดโต่ง แต่หากพิจารณาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า การนับหนึ่งตามมาตรา ๑๕๘ นั้นยังไม่ได้เริ่้มต้นขึ้น

ครับ…นั่นคือแนวทางที่ควรรู้ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีแนวทางวินิจฉัยที่แตกต่างออกไปก็ได้

แต่ทั้งหมดก็ต้องอ้างอิงตามตัวบทในรัฐธรรมนูญ

จะให้เหตุผลเหมือนคดีซุกหุ้นในอดีตไม่ได้

ครั้งนั้น “จุมพล ณ สงขลา” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากในคดีซุกหุ้น ให้เหตุผลว่า

“ผมก็ตัดสินของผมโดยยึดหลักประชาธิปไตยและหลักรัฐศาสตร์ว่า นายกฯ ทักษิณไม่ได้มีความผิด สาเหตุที่ผมตัดสินแบบนี้ก็เพราะผมเห็นแล้วว่าประชาชนเขาพร้อมใจกันเทคะแนนเสียงให้ไทยรักไทย ๑๑ ล้านเสียง นี่คือเสียงสวรรค์ของประชาชนที่พร้อมใจกันเลือกทักษิณให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสิบกว่าคนจะมาไล่เขาลงจากตำแหน่งได้อย่างไร วันนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายกฯ ทักษิณผิด ป่านนี้คุณรู้ไหมจะเกิดอะไรขึ้น คุณเห็นพลังประชาชนที่มาให้กำลังใจนายกฯ ทักษิณวันมาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญไหม ขนาดกล้านรงค์ (จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.) ยังต้องหลบออกประตูหลังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไล่เขาออก ป่านนี้ศาลรัฐธรรมนูญถูกเผาไปตั้งแต่วันตัดสินคดีไปแล้ว”

สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

เพราะไม่มีม็อบไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อเท่านั้น

เช่นกันวันที่ ๓๐ กันยายน จะมีม็อบไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามวินิจฉัยเข้าข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เอามาเป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัยแน่นอน

ทุกอย่างเป็นไปตามตัวบทรัฐธรรมนูญครับ

ใครจะพอใจหรือไม่พอใจคำวินิจฉัย ไม่ใช่สิ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านต้องคำนึงถึง

และไม่เป็นเหตุให้เบี่ยงเบนคำวินิจฉัย

ส่วนตัวยังมองบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวาระการดำรงตำแหน่งยังไม่สิ้นสุด

จบงานใหญ่ เคลียร์งานเก่าหมด อาจมีการแสดงสปิริตทางการเมือง

เป็นสปิริตที่นักการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่เคยคิดแสดงมาก่อน

เราอาจได้ยินวลีอมตะอีกครั้ง

ผมพอแล้ว

0 replies on “ก่อนคำวินิจฉัย-ผักกาดหอม”