10 มกราคม 2565- ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้กล่าวในการเสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยชี้แจงถึงนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา การปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ (5 on) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ และการเตรียมความพร้อมที่จะเปิด On Site ของทุกโรงเรียนอย่างปลอดภัย โดยความร่วมมือระหว่าง ศธ.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือ โควิด-19 เป็นความท้าทายของคนทั้งโลก โดยการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ “โอมิครอน (Omicron)” ขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ซึ่งศธ. ได้มอบหมายให้แต่ละสถานศึกษาสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการที่เหมาะสมกับบริบทของการแพร่ระบาดในพื้นที่
“สำหรับสถานศึกษาที่ตัดสินใจจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ On-Site จะต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด” นางสาวตรีนุชกล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน จึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครูเป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งข้อมูลการวัคซีนโควิด-19 และการเปิดเรียนแบบ On-Site ของ ศธ. ณ วันที่ 8 มกราคม 2565 มีครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ประสงค์รับวัคซีน 982,427 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 99.99% เข็ม 2 แล้ว 78.11% ส่วนนักเรียนผู้ประสงค์รับวัคซีน 4,320,130 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 94.76% เข็ม 2 แล้ว 69.52% และขณะนี้รัฐบาลก็ได้รณรงค์ให้มีการฉีดเข็ม 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันมากขึ้น
“ที่ผ่านมาการปิดประเทศ lock down นำมาสู่การปิดโรงเรียน ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ ศธ.จึงต้องจัดรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย แต่ที่สุดแล้ว ศธ.ก็พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก คือ การมาโรงเรียน ดังนั้น การปิดโรงเรียนจึงไม่ใช่มาตรการหลักของเรา ขณะนี้มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.เปิด On-Site 18,672 แห่ง จากทั้งหมด 35,172 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 53.09
และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง สิ่งที่พบคือ สถานศึกษามีการปรับตัวและกวดขันในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดกันอย่างแข็งขัน แต่แน่นอนว่ายังมีอีกหลายแห่งที่ยังขาดความพร้อม ซึ่งก็ได้ติดตาม และสั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ดูแลสถานศึกษาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด
และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน จึงเป็นอีกวาระสำคัญที่ ศธ. และ สธ.ได้ร่วมมือกันสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงแนวโน้มความรุนแรงของโอมิครอน และกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอนในสถานศึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อให้นักเรียน เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกสถานการณ์ รวมถึงความพร้อมที่จะเปิด On-Stie ของทุกโรงเรียนเมื่อมีความปลอดภัย”นางสาวตรีนุช กล่าว
สำหรับมาตรการความปลอดภัย 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย ดูแลตนเอง ใช้ช้อนกลาง กินอาหารปรุงสุกใหม่ ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา ได้แก่
การประเมิน TSC+ รายงานผลผ่าน MOE COVID อย่างต่อเนื่อง, การทำSmall Bubble สำหรับกิจกรรมแบบกลุ่มย่อย, การจัดอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ, การอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ , การทำ School Isolation โดยมีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อม, การทำ Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน และการจัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา