ผสมโรง
สันต์ สะตอแมน
กองเซ็นเซอร์ ไม่มีแล้ว!
ฉะนั้น ที่คุณพชร์ อานนท์ อ้าง.. “เราจะเอาฉากที่ถูกกองเซ็นเซอร์ ตัดออกมาให้ดูกัน เพราะหนังหอแต๋วแตกเซ็นเซอร์ผ่านฉลุย พร้อมฉายแล้ว 2 ธันวา เจ้มาแน่จึ้งมาก”
จึ้ง..เอ๊ยจึงน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือไม่ก็ไม่ได้รู้เอาเลยว่า..จากการแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑
โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ได้เปลี่ยนจากการตรวจพิจารณาในระบบการ “เซ็นเซอร์” มาเป็นการจัดแบ่งประเภทภาพยนตร์..
หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เรตติ้งภาพยนตร์” (RATING) และใช้มาตั้งแต่ปี 2552นู้น!
ความจริง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ก็ได้จัดพิมพ์หนังสือ “คู่มือการตรวจพิจารณาภาพยนตร์” ขึ้นมาด้วย
จุดประสงค์ เพื่อให้คณะกรรมการฯ เอาไว้ใช้ประกอบการพิจารณาภาพยนตร์ และเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ ตลอดทั้งประชาชน ผู้ปกครอง คนดูหนัง..
ได้ดู-ได้ทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดลักษณะภาพยนตร์ ว่าจัดอยู่ประเภทไหน ใน 7 ประเภท อันมี..
1.ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู 2.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป 3.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
4.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป 5.ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป 6.ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู 7.ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
แต่ไม่รู้ด้วยเหตุใด ดูเหมือนหนังสือคู่มือที่ว่านี้จะไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการภาพยนตร์..
คุณพชร์จึงเลยยังเข้าใจอยู่ว่า คณะกรรมการที่ (ขอ) ให้ขลิบฉากของพระมหาไพรวัลย์ ที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์ “หอแต๋วแตก แหกโควิด ปังปุริเย่” เป็นกองเซ็นเซอร์!
และที่คุณพชร์ ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์ พูดว่า “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ” มีอยู่หลายสาขานั้น ก็น่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะที่ถูกแล้ว..
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีอยู่ 7 คณะ คณะละ 7 ท่าน มาจากภาครัฐ 4 ท่าน จากภาคเอกชน 3 ท่าน ลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
ส่วนเหตุผลที่คณะกรรมการ (ไม่ทราบคณะไหน) ตัดฉากที่ว่านี้ออกไป เท่าที่ฟังจากคุณพชร์ ด้วยเพราะมหาไพรวัลย์เป็น “พระจริง” เล่นหนังไม่ได้!
ซึ่งก็ถูกต้องทั้งทางโลกและทางธรรม ไม่เห็นจะต้องมีดราม่าให้หนวกหู-รำคาญ เพราะคุณพชร์เองก็บอก.. “ฉากนี้ไม่ได้มีส่วนสำคัญกับหนัง มีอยู่ก็ได้ ไม่อยู่ก็ได้” ขลิบทิ้งไปก็ถือว่าจบ!
นี่..ต่อไปก็ขอให้ยึดเป็นบรรทัดฐาน “พระจริง” ต้องห้ามปรากฏตัวในฉากหนัง-ละครไม่ว่าจะกี่วิ-กี่นาที หรือให้ดี รายการทีวี.ประเภทวาไรตี้สนุกโปกฮา ก็ไม่ควรนิมนต์พระไปเล่น-ไปหัว!
เอ้า..ขลิบพระ (จริง) ทิ้งไปไม่มีเหลืออยู่ในหนังแล้ว ก็เห็นจะหมดความกระอักกระอ่วนงั้นก็ขอเชิญชวนไปดูหนัง “หอแต๋วแตกแหกโควิดฯ” กันเถอะนะ
อย่าคิดไปก่อนว่าเป็นหนังบ้าๆ บอๆ เวลานี้อะไรที่พอทำให้สบายใจ ยิ้มได้ หัวเราะได้..
ต้องรีบคว้าแล้วล่ะ!