โลกที่น่ากลัวของคนรุ่นใหม่-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เอาให้สุดๆ

เด็กๆ สามนิ้ว เรียกร้องให้ยกเลิกประเพณีลอยกระทง  เหตุผลเพราะสกปรก ไร้ค่า โบราณ คร่ำครึ คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการ         

ขณะเดียวกันสนับสนุนหนังโป๊เสรี เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการมานาน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หากจำกันได้ทัศนคติแบบนี้ เริ่มต้นจาก  “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

แทบลอยด์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๗  พฤษภาคม ๒๕๖๑ สัมภาษณ์ “ธนาธร” ถึงแนวคิดนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ต่อการแก้ปัญหาระบบการศึกษาของประเทศไทย

“…ลองย้อนกลับไปนึกในสิ่งที่เรียน อย่างเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เหตุการณ์ที่ใหญ่ขนาดนั้น สมัยผมหนึ่งย่อหน้ากับเหตุการณ์ ๒๔๗๕ พูดถึงนายปรีดี พนมยงค์ครั้งเดียว

ในแบบการเรียนการศึกษาไม่เคยพูดเลยว่าประชาชนมีศักยภาพอย่างไรในตัวเอง สอนแต่ให้ทุกคนยอมจำนน สอนแต่ให้ทุกคนสยบยอม แม้แต่ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรมก็ต้องสยบยอม นี่คือการศึกษาไทย

ยกตัวอย่างง่ายๆ พิธีไหว้ครู เป็นพิธีกรรมที่ล้าหลังมาก  เอาพิธีกรรมที่เจ้ายศเจ้าอย่างออกไปทั้งหมด จากระบบการศึกษา

ยกตัวอย่าง โรงเรียนไหนอยากจะมีการไหว้ครู ก็เป็นเรื่องของโรงเรียน ไม่ต้องไปบังคับเขา โรงเรียนไหนไม่อยากมีก็ไม่ต้องมี

โรงเรียนไหนอยากให้นักเรียนไว้ผมยาวได้หรือจะให้ไว้ผมทรงนักเรียน หรือโรงเรียนไหนอยากให้นักเรียน นักศึกษาใส่ชุดนักศึกษา หรืออยากจะให้ใส่ชุดอะไรก็ได้มาเรียน ก็ให้เป็นเรื่องของโรงเรียน

ต้องเอารัฐออกจากรูปแบบ เนื้อหาของการเรียนอยากสอนอะไรก็สอน ไม่ต้องไปออกแบบวิธีการประเมินจากส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นออกแบบตัวเอง

ไม่ต้องปฏิรูป ปฏิรูปอย่างเดียวคือเอารัฐไทยออกมา เอากระทรวงศึกษาธิการออกมา…”

——————-

ครั้งนั้นบางอย่างที่ “ธนาธร” สื่อออกมา ผู้คนอาจจะยังคิดตามไม่ทันว่า เจตนาคืออะไร

เช่น…

การเอ่ยชื่อ ปรีดี พนมยงค์ บ่อยครั้ง

พูดถึงการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซ้ำๆ

 รวมถึง “เอารัฐไทยออกมา” เอาอะไรออกจากอะไร?

มาถึงวันนี้ น่าจะชัดเจนว่า สิ่งที่ “ธนาธร” พูดไว้เมื่อกว่า  ๓ ปีที่แล้วนั้น แท้จริงแล้วต้องการสื่ออะไร เพื่อนำไปสู่อะไร

ตรรกะที่ผิดเพี้ยน แยกแยะระหว่าง “การเมือง” กับ “รากเหง้าของประเทศ” ไม่ออก

ขนาดประเพณีไหว้ครู ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของสังคมไทย ที่ให้ความเคารพครูบาอาจารย์ กลับนำไปผูกโยงเรื่องหมอบคลาน เรื่องชนชั้น

ยัดเยียดความคิดให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าคือความไม่เท่าเทียม คือสิ่งที่รัฐไทยใช้กดหัวประชาชน

ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจที่เด็กๆ เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์

รัฐไทย ในความหมายของ “ธนาธร” คืออะไร

รัฐ ความหมายทางรัฐศาสตร์ คือประเทศหรือดินแดนที่ถือว่าเป็นชุมชนทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐบาลเดียว

มีรัฐหลายประเภท เช่น รัฐอธิปไตย รัฐสมาชิก รัฐสหพันธรัฐ และรัฐชาติ

รัฐสามารถเป็นชุมชนทางการเมืองที่มีการจัดการซึ่งครอบครองส่วนหนึ่งของอาณาเขตภายใต้รัฐบาล

รัฐเป็นเหมือนองค์กร ในขณะที่รัฐบาลเปรียบเสมือนทีมผู้บริหาร

หนึ่งในความแตกต่างที่สำคัญระหว่างรัฐกับรัฐบาลก็คือ  รัฐเป็นหน่วยงานทางภูมิศาสตร์ที่รวมคนและการค้าเข้าด้วยกัน ในขณะที่รัฐบาลคือการบริหารการเมืองของรัฐหรือประเทศ

ฉะนั้นการเอา รัฐไทย ออกจากเนื้อหาการเรียนการสอนของพลเมือง ก็อาจแปลความได้ว่า เป็นความต้องการ “รัฐใหม่” ของ “ธนาธร” ที่หน้าตาต่างจากรัฐเดิม

ความคิดของ “ธนาธร” ในวันนั้นถูกส่งต่อเป็นลูกโซ่

๑ เดือนให้หลัง “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” ออกมาเคลื่อนไหว เหน็บแนมพิธีไหว้ครู

————-

“….ผมจะไม่เสนอภาพใหญ่ว่าทั้งประเทศควรจะเป็นอย่างไร แน่นอนล่ะว่าผมสนับสนุนว่าไม่ควรมีการบังคับ  เพราะการไหว้ครูเป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องประสบการณ์ส่วนตัว ครูคนนี้สอนไปด่าเราไป ดูถูกเราไป จะไหว้มันทำไม การบังคับคือการทำลายความสัมพันธ์ที่แท้จริง

ทีนี้ ผมจะขอเสนอภาพเล็ก ตราบเท่าที่พิธีนี้ยังมีอยู่ แต่จะมีอย่างไรให้งามและมีความหมาย

คณะอื่นๆ ผมไม่ทราบ แต่ผมเรียนที่ คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ ดังนั้นผมจะเสนอในบริบทของผม ใครคิดว่าดีก็อาจจะเอาไปปรับใช้ได้

ผมเสนอว่า ควรจะมีการไหว้ครู (อาจารย์) ทุกเทอมเลย  ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว

ทำไมถึงคิดเช่นนั้น ตอนนี้พิธีไหว้ครูจัดตอนนิสิตใหม่เพิ่งเข้าเรียนไปได้อาทิตย์สองอาทิตย์ แล้วก็ไหว้ครูกัน โดยที่ครูเหล่านั้นเด็กก็ยังไม่รู้จักเลยว่าเป็นคนยังไง สอนดีหรือไม่ดี  การสักเอาแต่ไหว้ กลายเป็นเรื่องรกรุงรังไปซะเปล่า เป็นเรื่องไม่มีความหมาย เข้าร่วมไปก็ไม่ได้อะไรดีขึ้น

ดังนั้นเพื่อความงอกงามของศิษย์และครู น่าจะจัดให้ไหว้กันตอนหลังเรียนวิชานั้นเสร็จแล้ว หรือคาบสุดท้าย

เด็กที่รู้สึกผูกพันกับครู อาจารย์สอนดี เอาใจใส่ก็เอาพวงมาลัยมาไหว้ ส่วนเด็กคนไหนรู้สึกไม่เห็นค่าเลย หรืออาจารย์เห็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน เอาแต่คุยก็ไม่เข้าร่วม ไม่นับกันไป

อาจารย์หรือเด็กบางคนอาจจะไม่อยากเอาพวงมาลัยหรือกระทำตามขนบโบราณ เห็นว่าไร้แก่นสาร ลดทอนความเป็นมนุษย์ นั่นก็มีสิทธิ์คิดได้

แต่ไม่ดีหรอกหรือ หากจะมีการได้เคารพกันอย่างซึ่งหน้า ในฐานมนุษย์ที่เท่ากัน แทนที่ทำให้ดูเคร่งขรึม อาจจะทำเป็นงานปาร์ตี้เล็กๆ ในคลาส เอาขนม หรืออาหารมาแบ่งปันกัน คุยกัน แสดงความคิดเห็นว่า วิชาอาจารย์เป็นยังไง เด็กเป็นยังไง เราควรจะปรับปรุงส่วนไหนของกันและกัน คุยกันออกมาตรงๆ นี่ก็น่าทำ

จะกระทำแบบนี้ท้ายเทอมก็ได้ หรือกลางเทอม เผื่ออาจจะมีพัฒนาการสอนหรือการตั้งใจเรียนขึ้นก็ได้

ไหว้ครูแบบนี้น่าจะสร้างความหมายแก่ประเพณีโบราณได้บ้าง…”

—————–

โดยสรุป เป็นทัศนะที่หยาบกร้านของ “เนติวิทย์”

เพราะอคติ จึงมองความสำคัญ ของพิธีไหว้ครูพลาดไป

ระหว่าง ครู กับ ศิษย์ ไม่ได้หมายถึงการเรียน การสอนในตำรา เพียงอย่างเดียว

พุทธทาสภิกขุ อธิบายความหมายและความเป็นมาของคำว่าครูไว้ว่า

…คำว่าครูในสมัยโบราณในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของคำนี้ เป็นคำที่สูงมาก เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ แล้วก็นำวิญญาณเดินทาง ไปสู่คุณธรรมเบื้องสูง เป็นเรื่องทางจิตโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงเรื่องวัตถุ หรือมรรยาท หรือแม้แต่อาชีพ จึงมีน้อยมาก ครูนั้นมักจะไปทำหน้าที่เป็นปุโรหิตของพระราชา หรืออิสรชนซึ่งมีอำนาจวาสนา มีหน้าที่การงานอันใหญ่หลวง

คำว่าครู มักแปลกันมาแต่เพียงว่าเป็นผู้ควรเคารพ หรือมีความหนัก ที่เป็นหนี้อยู่เหนือศีรษะ เป็นเจ้าหนี้อยู่บนเหนือศีรษะของทุกคน แต่เดี๋ยวนี้กลายมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอย่างหนึ่ง…

ครู มีรากศัพท์เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า ครุ (คะรุ) ซึ่งแปลว่าหนักแน่น

และสันสกฤตว่า คุรุ (คุ-รุ) ซึ่งแปลว่า ผู้ชี้แสงสว่าง

แต่โดยความหมายในภาษาไทยก็คือครูผู้สอนประสิทธิ์ประสาทความรู้ อบรมบ่มนิสัยศิษย์ให้เป็นคนดี ยกระดับวิญญาณความรู้ดีชั่วให้แยกแยะความดีความชั่ว และรู้จักการดำรงชีวิตในแนวทางที่ถูกต้องมีคุณธรรม

เมื่อคนรุ่นใหม่มอง “ครู” แค่อาชีพหนึ่ง จึงเข้าไม่ถึงก้นบึ้งของคำว่า “ครู”

จึงไม่แปลกใจ ในหมู่เด็กสามนิ้วจึงมักเหยียบหัวครูบาอาจารย์ ยกตัวว่ามีความทันสมัยกว่า

ครับ…ก่อนนี้ยังมีเสียงเรียกร้อง บวชเสรี มีพระตุ๊ดเณรแต๋วได้

ให้มีโสเภณีเสรี

ไม่ต้องนับถือศาสนา

โลกของคนรุ่นใหม่ช่างน่ากลัวจริงๆ

 


Written By
More from pp
“พล.อ.ประวิตร” นำทีม พปชร.เปิดเวทีใหญ่ปราศรัยนราธิวาส นำคืนความสงบหนุนพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จ.ชายแดนใต้
17 มีนาคม 2566 เวลา 17.15 น. พรรคพลังประชารัฐได้เปิดเวทีปราศรัย ที่สวนมิ่งขวัญประชา อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส นำโดย พล.อประวิตร...
Read More
0 replies on “โลกที่น่ากลัวของคนรุ่นใหม่-ผักกาดหอม”