28 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายมุน แช-อิน (H.E. Mr. Moon Jae-in) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี
โดยเป็นการหารือเพื่อรักษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเพื่อยืนยันการสนับสนุนเกาหลีใต้ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี 2030 (Partnering for Green Growth and Global Goals 2030 : P4G) ครั้งที่ 2 ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีโอกาสหารือกับประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีในวันนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการหารือเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-เกาหลีใต้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
รวมทั้งขอขอบคุณ และเป็นเกียรติที่ไทยจะได้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ P4G ครั้งที่ 2 ณ กรุงโซล ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสดร่วมกันกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่จะถึงนี้ เชื่อมั่นว่าการประชุมฯ จะประสบความสำเร็จ
ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีขอบคุณการสนับสนุนของไทยต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม P4G ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมมีบทบาทในเวทีนานาชาติ เกาหลีใต้ให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบาย มุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy – NSP) และ นโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus – NSPP)
และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงนโยบายนี้ ขอบคุณบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่นำพาประเทศไทยได้อย่างเข้มแข็ง ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะผ่านความท้าทายนี้ไปได้ด้วยดี
ซึ่งด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของไทย และเกาหลีใต้สามารถร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทายในประชาคมโลกได้
สำหรับประเด็นความร่วมมือทวิภาคี ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในไทยเป็นอันดับหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564
ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการลงทุน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการค้าการลงทุนของเกาหลีใต้ และไทยมีความร่วมมือ และพยายามจัดการประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นผลจากการพบกันในการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อปี 2562
ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
เกาหลีใต้ชื่นชมนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางควบคู่กับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) หรือโมเดลบีซีจี
ซึ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการยกระดับอุตสาหกรรม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลกับธรรมชาติ และเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy: NSP) และนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus: NSPP) ของเกาหลีใต้
อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industries)
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเป็นสาขาความร่วมมือที่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังโควิด-19 จึงได้เสนอเชิญชวนเกาหลีใต้ลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว ในเขต EEC ซึ่งฝ่ายเกาหลีใต้ตอบรับการสนับสนุนการลงทุนในเขต EEC
ด้านสาธารณสุข
เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญในขณะนี้ ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ และมีประสบการณ์ จากการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังให้เร่งรัดจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อกำหนดขอบเขตความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนด้านสาธารณสุขระหว่างกันต่อไป
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้หยิบยกประเด็นความร่วมมือแบบพหุภาคี เกาหลีใต้ชื่นชมบทบาทการเป็นแกนกลางในภูมิภาคของไทย ซึ่งไทยชื่นชมและพร้อมสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ที่มุ่งรักษาความสมดุลระหว่างประเทศ ตามแนวทางสันติวิธีเช่นเดียวกับไทย ในอนุภูมิภาคและภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – เกาหลีใต้ (Mekong – ROK Cooperation) กรอบ ACMECS และกรอบอาเซียน – เกาหลีใต้ (ASEAN – ROK)
ทั้งนี้ ไทยมุ่งหวังว่าอาเซียนและเกาหลีใต้จะได้ร่วมกันสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และทั้งสองฝ่ายได้หารือเชิงสร้างสรรค์ต่อสถานการณ์ในเมียนมาในโอกาสนี้ด้วย