วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ผู้ช่วยโฆษก ศบค.) ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับการจัดสรรกระจายวัคซีน ว่า
การจัดสรรการกระจายวัคซีนทั่วโลกในขณะนี้ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินโดยการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ประสิทธิภาพของวัคซีน ณ ปัจจุบัน คือลดอัตราตาย ลดความรุนแรง ป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิต แต่ยังไม่ได้ป้องกันการแพร่เชื้อ
สำหรับแผนการกระจายวัคซีนในประเทศไทย การฉีดวัคซีนถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลมีนโยบายให้ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 โดยทิศทางของการบริหารวัคซีนในระยะแรกที่มีวัคซีนในปริมาณจำกัด (ช่วงกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 64) จะเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และแสดงอาการรุนแรง ได้แก่
1. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และ 2. บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น ตำรวจ ตำรวจตะเวนชายแดน ผู้ที่ทำงานในสถานกักกันของรัฐ เป็นต้น และยังได้มีการสำรองวัคซีนไปยังพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดฉุกเฉินอีกด้วย
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายังได้มีการกระจายวัคซีนจำนวนหนึ่งไปยัง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทดสอบระบบการบริหารจัดการวัคซีน ถือเป็นการเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การตรวจสอบคุณภาพ สถานที่ กระบวนการ และการลงทะเบียนข้อมูลการติดตามหลังฉีด เพื่อพัฒนาระบบการกระจายวัคซีนในแต่ละพื้นที่ให้ดีที่สุดก่อนวัคซีนระยะ 2 จะเข้ามา
โดยเป้าหมายในการฉีดวัคซีนของไทยนั้น จะต้องมีการวัคซีนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรในประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรทั้งคนไทยและต่างชาติประมาณ 50 ล้านคน จะต้องใช้วัคซีนอย่างน้อย 100 ล้านโดส
โดยมีการวางแผนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 และเข็มที่ 2 ให้ครบถ้วนภายในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในการปกป้อง และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ จะต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของประชาชน
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังเน้นย้ำว่าถ้าประชาชนลงทะเบียนในหมอพร้อมสำเร็จแล้ว ขอให้ยังคงอยู่กับระบบหมอพร้อม ยืนยันว่าจะได้ฉีดวัคซีนตามที่นัดหมายลงทะเบียนไว้อย่างแน่นอน หากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มีการปิดบังประชาชน แต่ในส่วนที่ประชาชนจำนวนหนึ่งลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับการยืนยันกำหนดวัน เวลา สถานที่ฉีด หรือเรียกว่ายังลงทะเบียนไม่สำเร็จ แล้วจะลงไปทะเบียนในช่องทางอื่นได้หรือไม่นั้น
ขอชี้แจงว่า หากเป็นผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็สามารถลงทะเบียนกับทางกรุงเทพมหานครได้ตั้งแต่ 27 พ.ค. 64 เป็นต้นไป แต่ไม่ว่าจะลงทะเบียนในช่องทางใด เช่น โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา หรือกับ อสม. เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวก็ยังอยู่ในทุกช่องทางที่ประชาชนลงทะเบียนไว้ โดยระบบจะรวมข้อมูลทั้งหมดมาที่ระบบหลังบ้านของหมอพร้อมที่ MOPHIC และจะมีการออกใบรับรองเมื่อสิ้นสุดการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง
พร้อมกันนี้ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ย้ำในส่วนของการลงทะเบียนกับกรุงเทพมหานครว่า กรุงเทพมหานคร จะมีการฉีดวัคซีนทั้งในส่วนของสถานพยาบาลภาครัฐ 125 แห่ง เอกชน 25 แห่ง โควตากองทุนประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 45 จุดบริการ ส่วนกลางโดยมหาวิทยาลัย 11 แห่ง รวมทั้งที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งไม่ได้เป็นการปรับแผนไปมาแต่อย่างใด แต่ในช่วงแรกในเดือนกุมภาพันธ์ มีการระบุสถานบริการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยว่าต้องฉีดในโรงพยาบาล ต้องมีแพทย์ประจำ ต้องมีห้องฉุกเฉิน พร้อมกำหนดขั้นตอนการฉีด การสังเกตอาการหลังฉีด
ซึ่งต่อมาเมื่อมีการรายงานข้อมูลความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนมากขึ้นทั้งของไทยและทั่วโลก จึงได้มีการทบทวนเรื่องการฉีดวัคซีนว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามยังมีการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เช่น ที่สยามพารากอน มีโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยงที่เปิดให้บริการฉีดวัคซีนให้กับกัปตันและลูกเรือ เป็นต้น
โดย ศบค. อนุญาตให้ภาคเอกชน หรือภาคชุมชนพื้นที่ เสนอช่วยกระจายวัคซีน เพื่อให้นโยบายการกระจายวัคซีนสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ ในวันต่อ ๆ ไป ศบค. จะนำเสนอนโยบายของวัคซีนที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยและคนไทยทุกคนแข็งแรง