สัปปายะสถาน-อสัปปายะบุคคล

ผมก็ลืมถาม “คุณธีรพล นิยม” ผู้ออกแบบ “สัปปายะสภาสถาน” ไปว่า
เจดีย์ที่แทงยอดแหลมสีทองอร่ามให้เห็นขณะนี้

เมื่อเสร็จ ข้างในจะบรรจุอะไร?
สัปปายะสถาน เป็นสถาปัตยกรรมแบบพุทธ สิ่งเป็นมงคลสูงสุดย่อมสถิตย์ตรงนี้แน่

ตรงนี้ผมไม่ติดใจ

มาติดใจตรงล่างสุดของสัปปายะสภาสถานนี่แหละ ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เปิดใช้เพียงบางส่วน โดยเฉพาะห้องประชุม สส.-สว.
สภาเกียกกายนี่ “ผีแรง” นะ!

ก่อนจะเปิดให้ สส.มาอยู่ มากิน มาประชุม มาขับ มาถ่าย มาถุย มาถ่อย กันที่นี่

ไม่ทราบว่าประธานรัฐสภา “ชวน หลีกภัย” ท่านทำพิธีเซ่นวักตั๊กแตนเจ้าที่-เจ้าทางหรือยัง?

ประธานชวนท่านเป็นคนไม่นิยมด้านนี้ เข้าใจว่าไม่ จะมา ก็ยกมากันเลย เรียกว่าไม่เห็นหัวผี

เพราะอย่างนี้กระมัง…….
บทบาท สส.ในสภา ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม สมัยจอมพลถนอม เรื่อยๆ มา

พูดกันตรงๆ จนถึงสมัยยิ่งลักษณ์ด้วย
ชั่ว, ดี, ถี่, ห่าง สส.ยังมียางสำนึกในภาวะ พอรับกันได้

มายุค “กูอยากเลือกตั้ง” นี่แหละ …….

บอกตรงๆ เสียดายรัฐสภาสัปปายะสถานยิ่งใหญ่อันดับ ๒ ของโลก แต่คนใช้เจริญไม่ทันสถานที่เสียจริงๆ

พฤติกรรมบางสส.
เหมือนก้อนอุจจาระในภาชนะทองคำ!
ไม่รู้จะโทษใคร ก็ต้องโทษผีเจ้าที่เข้าสิง ทำให้ท่านผู้ทรงเกียรติบางผู้-บางตน

บางคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ พอมาเป็นสส.เข้าสัปปายะสภาสถานเท่านั้นแหละ

ผีบ้า ผีอันธพาล ผีต้องธรณีสารแผ่นดิน เวียนเข้าสิง สิ้นอาย สิ้นคิด สิ้นคน อาละวาด แสดงฤทธิ์ แสดงเดช ชนิดเอาไม่หยุด ฉุดไม่อยู่

ประชาธิปไตย ระบบรัฐสภานั้น โอเค.

แต่คนในระบบ ค่าไม่คู่ควร มองไม่เห็นเลยว่า นอกจากคำว่าประชาธิปไตย แล้วสังคมประเทศได้อะไรจากคนพวกนี้?

สังเกตว่า บางพวกจะอาศัยสถานภาพสส. และคณะกรรมาธิการสภา ทำเกินกรอบหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด

บางทีจะเห็นว่า ใช้สถานะชนิดมีเจตนาบางอย่างซ่อนเร้น อย่างที่เรียกผบ.ทบ.ไปพบบ้าง เรียกนายกฯ ไปพบบ้าง โดยไม่มีเหตุเป็นกรณี

อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เชิญนายกฯ ประยุทธ์ไปชี้แจงเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาน เป็นต้น

ตามพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพ.ศ.๒๕๕๔

มาตรา ๕ บอกว่า…….
คณะกรรมาธิการมีอํานาจออกคําสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทําหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้…ฯลฯ……..

ใช่ กรธ.เรียกไปชี้แจงได้
แต่เรื่องที่เรียกไปชี้แจงนั้น เป็นเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่หรือเปล่าล่ะ?

ในความจริงที่เป็น เรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาน ที่พรรคฝ่ายค้านตั้งเป็นประเด็นฟัดนายกฯแต่วันแรก นั้น
เมื่อเป็นเรื่อง-เป็นประเด็น ต้องถกกันตามบทกฎหมาย ก็ว่ากันไป

ก็เล่นกันทั้งในสภา-นอกสภา กระทั่งเปิดสภาอภิปรายทั่วไป ยื่นเรื่องผู้ตรวจ ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

เรียกว่า ประเด็นนายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญานไม่ครบนั้น มีแง่มุม-แง่กฎหมายไหนชำระสะสางให้เป็นที่สุดได้ ฝ่ายค้านก็ทำเป็นที่สุดครบทุกทางแล้ว

ขนาด “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด แยกแยะแต่ละประเด็นละเอียดยิบ จบสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่ ๑๑ กย.๖๒

แล้วกรธ.ชุดที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์เป็นประธาน จะเหนือศาลรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาต่องั้นหรือ จึงเรียกนายกฯไปให้ปากคำ?
รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๑ วรรคสี่ บอกว่า………

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ

นั่นคือ เรื่องถวายสัตย์ปฏิญาน “เป็นเด็ดขาด” ไปแล้ว ตามคำวินิจฉัยศาลฯ

ไม่มีเหตุอันควรหรือจำเป็นต้องเรียกใครมาแถลงหรือต้องแสดงความคิดเห็นอันใดอีก

เว้นแต่เจตนาละเมิดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ!

ต้องอย่าลืม………
มาตรา ๑๒ ตามพรบ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา นั้น บอกไว้อย่างนี้

“กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

ถ้าถาม แล้วใครมีอำนาจมาจัดการ?
อดีตนายกฯชวน “ประธานรัฐสภา” นั่นไง มีอำนาจและต้องปฏิบัติตาม พรบ.นี้
ตอกหัวตะปูให้เข้าใจชัดๆ กันอีกที ว่าเรื่องถวายสัตย์ปฏิญญานจบไปแล้ว
ผมจะนำคำวินิจฉัย เมื่อ ๑๑ กย.มาให้อ่านให้ขึ้นใจกันอีกที

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่ นั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1)

การถวายสัตย์ฯ ต่อพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่า นายภาณุพงศ์ ได้ยื่นคำร้อง และผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า
การกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่า ละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (11) และมาตรา 46 ก็ตาม

แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) การกระทำของรัฐบาล” และมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “…ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา”

เห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์
อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (ACT of Government) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม

ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี
นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2562 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย
โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ทำเนียบรัฐบาล
การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

นอกจากนี้ ยังมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ขอให้วินิฉัยตามรัฐธรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 163
และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรมนูญ มาตรา 162 นั้น ด้วย

ครับ….
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันรัฐสภา
คณะกรรมาธิการฯและพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ในความเป็นสส.ก็คือ “รัฐสภา”
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์กับผม ก็คนรักคนชอบกันมาเก่าก่อน
ด้วยรัก จึงอยากให้ท่านรั้งม้าแต่ริมผาเถิด.

Written By
More from plew
“กทม.” ถึง “ลอนดอน” -เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน คุยไปเมื่อวาน….. ว่าฝนตก “ในกรุง-นอกกรุง” ช่วงนี้ เป็น “ฝนหลวง” ที่ “กรมฝนหลวงและการเกษตร” ขึ้นบินปฎิบัติการ เพื่อดับฝุ่น...
Read More
0 replies on “สัปปายะสถาน-อสัปปายะบุคคล”