“ทิพานัน”ถามหาจุดยืนเพื่อไทยเสนอแนวคิดกลับไปกลับมา ขวางนายกฯเข้าหาประชาชน ทั้งที่เป็น ส.ส. อุบลฯ เพราะอะไร คิดเป็นแต่เรื่องการเมือง ยันนายกฯไปอุบลฯ เก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงกับปัญหาทุกมิติ ย้ำอุบลฯ เป็นจุดบรรจบลุ่มน้ำชี-มูล และมีโครงการสำคัญที่ต้องติดตามการบริหารจัดการน้ำอุบลฯ-โขงเจียม
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมแค่สร้างภาพ หาเสียงหรือวัดกระแสกันเองภายในพรรคว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจในการทำงานในฐานะผู้นำ ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อหาเสียงหรือวัดกระแสภายในพรรคแต่อย่างใด เป็นการปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้นำ ยิ่งในสถานการณ์วิกฤติ นอกจากกำชับให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและแก้ไขปัญหาแล้ว
การลงพื้นที่ยังสร้างขวัญและกำลังใจให้พี่น้องประชาชนและผู้ปฏิบัติ เช่นเดียวกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ หรือ กนช.โดยตรง การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เป็นการปฏิบัติภารกิจปกติ
และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีบุคคลากรที่อยู่ในฝ่ายบริหารยังได้กำชับให้รัฐมนตรีในพรรคลงพื้นที่ ซึ่งจะเห็นว่ารัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐกระจายกันลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ แต่พรรคเพื่อไทยกลับมาโฟกัสที่พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร เพื่อหวังเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งและเป็นเรื่องการเมือง
อาจหวังกลบข่าวผลงานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่ทั้งสองท่าน แต่ไม่เป็นผลเชื่อว่าพี่น้องประชาชนไม่หลงเชื่อตามการชี้นำของนักการเมือง เพราะทุกวันนี้ตนลงพื้นที่ก็ได้รับแต่เสียงสะท้อนชื่นขอบมาตรการขช่วยเหลือของภาครัฐ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตของลุ่มน้ำสำคัญทั้งลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ที่มวลน้ำจากแม่น้ำชีจะไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อ.เมืองอุบลราชธานี ช่วงวันที่ 12-21 ตุลาคมนี้ นายกรัฐมนตรีจึงต้องติดตามสถานการณ์การเตรียมรับมืออย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พรรคเพื่อไทยมีส.ส. จ.อุบลราชธานี น่าจะต้องทราบดีว่า จ.อุบลราชธานี มีโครงการสำคัญของรัฐบาลหลายโครงการ ท่านนายกรัฐมนตรี จึงไปติดตามความคืบหน้ารวมถึงให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานและสอบถามข้อมูลในพื้นที่จริง ดังนี้
โครงการบริหารจัดการน้ำอุบลราชธานี –โขงเจียม ระหว่างปี 2559-2564 จำนวน 34 โครงการ โดยมีครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์ 63,673 ครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ราว 557,686 ไร่ ซึ่งในนี้จะเป็นโครงการป้องกันภัยน้ำท่วม จำนวน 10 โครงการ สามารถป้องกันพื้นที่น้ำท่วม 374,896.75 ไร่ และในระหว่างปี 2565-2567 อีก 129 โครงการ โดยพื้นที่ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 2.40 ล้านไร่
และในนี้จะเป็นโครงการป้องกันภัยน้ำท่วม จำนวน 20 โครงการ สามารถป้องกันน้ำท่วมราว 84,582 ไร่ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ มีผลสำเร็จและคืบหน้าอย่างไรบ้าง ติดขัดตรงไหนหรือไม่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าและรวดเร็วที่สุด
“ทุกข้อที่เสนอมา 8 ข้อ นั้นหากหาข้อมูลจริงๆ จะพบว่ารัฐบาลกำลังทำอยู่แล้ว และขณะนี้ก็กำลังลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนอยู่ ซึ่งในยามวิกฤติเช่นนี้ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยคืออะไรกันแน่ หากนายกรัฐมนตรีไม่พบปะประชาชนหรือไม่ลงพื้นที่ก็กล่าวหาว่าไม่สนใจประชาชน พอลงพื้นที่ก็บอกหาเสียงแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้
การแสดงความคิดเห็นเช่นนี้กลับไปกลับมาไม่เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะการลงพื้นที่ไปตามที่ต่างๆ ก็จะทำให้รัฐบาลทราบถึงปัญหามากขึ้น แล้วนำมาแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อว่า สิ่งส.ส. พรรคเพื่อไทย ในจังหวัดอุบลฯ ก็น่าจะดีใจและให้ความร่วมมือสื่อสารถึงประชาชนในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วยซ้ำ แต่วันนี้เหมือนต้องการขัดขวางระหว่างนายกฯกับประชาชนใช่หรือไม่ และเพราะเหตุใด หรืออาจรู้สึกหวั่นไหวกลัวจะเสียฐานเสียง จึงมองว่าพล.อ.ประยุทธ์ไปลงพื้นที่หาเสียง
หากเป็นเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยต่างหากที่คิดเป็นแต่เรื่องทางการเมือง ไม่คิดถึงพี่น้องประชาชน ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์มุ่งทำงานเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในทุกๆพื้นที่ เก็บข้อมูลจากพื้นที่จริง และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ ว่านายกฯไม่ทอดทิ้ง ที่สำคัญตามหลักการศาสตร์พระราชา คือ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คน ไม่ใช่รอรับรายงานและสั่งการอย่างเดียว