18 กรกฎาคม 2568 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ฝ่ายค้านได้แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับประเด็นการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาสารพิษปนเปื้อนในลุ่มแม่น้ำกกนั้น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
(1.) ด้านการบริหารจัดการจากรัฐบาลไทย
1. ทำไมนายกรัฐมนตรีถึงบอกว่าเจรจาไปแล้ว แต่กลับไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลยืนยันจากหน่วยงานใดเลย?
– การเตรียมการเจรจาและหารือกับรัฐบาลเมียนมาที่ผ่านมา กรมเอเชียตะวันออก กรมกิจการชายแดนทหาร และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีการดำเนินงานในการประสานความร่วมมือทั้งการทูตการทหาร และผ่านกลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ เพื่อนำไปสู่การขอให้หยุดการทำเหมืองชั่วคราว เพื่อปรับปรุงวิธีการทำเหมือง และดำเนินการไม่ให้มีการระบายน้ำที่มีสารปนเปื้อนลงแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย และการจัดการกับกากแร่ให้ถูกต้อง
– การเจรจาทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการประสานสถานทูตไทยที่เมียนมาดำเนินการประสานกับรัฐบาลเมียนมาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหารือเรื่องการพบปะเพื่อเจรจาของรองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้ทำหนังสือแจ้งสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทยในกรณีนี้ อีกทางหนึ่งด้วย
– การเจรจาทางทหาร โดยกรมกิจการชายแดนทหาร ได้ใช้กลไกระดับคณะกรรมการชายแดน
ส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) เพื่อหาแนวทางลดผลกระทบในระยะเร่งด่วน หรือหยุดการทำเหมืองชั่วคราวเพื่อปรับปรุงวิธีการทำเหมือง ซึ่งได้มีการประชุมและนำเสนอประเด็นนี้เมื่อวันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2568
นอกจากนี้ ได้มีการเข้าพบกับทูตทหารของเมียนมาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอปัญหา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2568 พร้อมทั้งได้นำปัญหาเรื่องนี้ไปหารือในการประชุมหมอกควันข้ามแดนที่เมืองเชียงตุงเมื่อวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2568 และได้เตรียมการบรรจุเข้าสู่วาระการเจรจาในระดับสูง (High Level Committee : HLC) ต่อไป
2. ความคืบหน้า การนำทีมเจรจาเมียนมา ของรองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
– การเจรจานำทีมเจรจากับเมียนมา ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นผู้นำคณะเจรจา ขณะนี้ ทางเมียนมาได้มีการให้สลอตเวลามา 2 สลอต คือ ช่วงต้นเดือน สิงหาคม และปลายเดือน สิงหาคม 2568 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างประสานไปยังสถานทูตเมียนมาเพื่อส่งกำหนดการและประเด็นการเจรจาไปยังรัฐบาลเมียนมา
3. รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยตั้งศูนย์ข้อมูล AIM แล้วทำไม 2 เดือนแล้วยังไม่มีข้อมูลเปิดเผยสู่สาธารณะ?
– ในการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะของศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อการรับรู้และติดตามสถานการณ์น้ำเชียงราย ทางศูนย์ได้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่าน Facebook Fanpage ศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อการรับรู้ และติดตามสถานการณ์น้ำเชียงราย ประจำทุกวัน และเมื่อมีข่าวสารข้อมูลผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำตะกอนดิน น้ำประปา น้ำประปาหมู่บ้าน ผลิตผลทางการเกษตร สัตว์น้ำ และสุขภาพประชาชนในพื้นที่ จะนำลงเผยแพร่ทันที รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ที่https://www.facebook.com/AwarenessInformationMonitoring
(2.) เกี่ยวกับการเจรจากับเมียนมา
1. ในการเจรจากับเมียนมา ฝ่ายไทยได้ถามข้อมูลเหมืองบ้างหรือไม่ และได้ข้อมูลใดกลับมาบ้าง?
– ได้มีการสอบถามข้อมูลการทำเหมือง ทั้งประเภทเหมือง จำนวน และ ข้อมูลสารเคมีที่ใช้ประกอบการทำเหมือง ซึ่งเมียนมาได้ชี้แจงว่าในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรัฐฉาน ไม่มีกิจกรรมการทำเหมืองแร่ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากรัฐบาล และตามข้อกำหนดการทำเหมืองแร่ที่รัฐบาลกำหนดไว้ต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ต้องอยู่ห่างจากริมแม่น้ำไม่น้อยกว่า 300เมตร อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ไม่สามารถทำเหมืองแร่ได้ และเมียนมาได้มีการประสานหารือกับผู้แทนรัฐฉานเพื่อให้มีการกำกับดูแลประเด็นดังกล่าวแล้ว
– ข้อมูลที่เมียนมารายงานในการประชุม ได้แก่ ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินในพื้นที่แม่น้ำกก เดือนมิถุนายน 2568 จำนวน 3 จุด สารหนูมีค่าไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินแห่งชาติ
(ค่ามาตรฐานสำหรับสุขภาพมนุษย์ กำหนดสารหนู (As) มีค่าไม่เกินกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร) โดยจุดที่ 1 บริเวณต้นแม่น้ำกก สารหนูมีค่า 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร จุดที่ 2สารหนูมีค่า 0.012 มิลลิกรัมต่อลิตร และจุดที่ 3 ใกล้ชายแดนไทย สารหนูมีค่า 0.013มิลลิกรัมต่อลิตร และจะมีการตรวจสอบเป็นระยะต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอเมียนมาส่งข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำฯ ฉบับภาษาอังกฤษให้ไทย
2. ทำไมเมียนมาตอบกลับว่า ให้ไทยไปตรวจสอบฝั่งไทยเอง?
– เนื่องจากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเมียนมา ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าต้นตอของปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกกมาจากการทำเหมืองในพื้นที่เมียนมา ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงพื้นที่พิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย จึงจะนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดการปนเปื้อนได้
– จากข้อสังเกตของเมียนมาเรื่องการปนเปื้อนสารหนูอาจมาจากธรรมชาติ กล่าวคือสารหนูเป็นแร่ธาตุที่มีอยู่แล้วในดินตามธรรมชาติ การชะล้างหน้าดินจากน้ำฝนทั้งในพื้นที่เมียนมาหรือมาจากพื้นที่ของไทยที่เป็นพื้นที่ป่าเขามีฝนตกหนักอยู่แล้ว และกิจกรรมเปิดหน้าดินเพื่อทำการเกษตรของทั้งสองประเทศก็อาจเป็นสาเหตที่ทำให้สารหนูชะละลายออกมาพร้อมกับน้ำฝนได้
– เมียนมาเน้นย้ำว่าไม่มีการอนุญาตให้ทำเหมืองในพื้นที่แม่น้ำกก ซึ่งหากมีการทำเหมืองตามที่ไทยกล่าวอ้างจริง จะเป็นเหมืองที่ผิดกฎหมายและไม่ได้รับอนุญาตจากเมียนมา ทำให้เมียนมาไม่สามารถกำกับดูแลการประกอบการและควบคุมได้ เมียนมาจึงมีข้อเสนอว่าให้ฝ่ายไทยควบคุมการส่งออกสารเคมีที่ใช้ในการทำเหมืองจากไทยไปเมียนมาเพื่อให้เหมืองผิดกฎหมายเหล่านี้ไม่สามารถประกอบการได้ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการทำเหมืองแร่ที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ได้
– การเจรจาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เป็นการประชุมหารือทางเทคนิคเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก เพื่อกำหนดความเป็นไปได้ในการจัดทำกรอบความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และสืบค้นข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการจากเมียนมา โดยมีการเสนอแนวทางในการดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไประหว่างไทยกับเมียนมา เพื่อหาที่มาของปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกก การสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การแก้ไขปัญหา และการแบ่งปันข้อมูลผลการตรวจวัด ซึ่งรับการตอบรับที่ดีในการดำเนินงานระยะต่อไป
– ในการเจรจาครั้งนี้ ไทยได้เสนอแนวทางการดำเนินงานที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (Win – Win Solution) ในการแก้ไขปัญหา เช่น ประเด็นสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้ง 2ประเทศ โดยอาจให้มีการตรวจสุขภาพประชาชน ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อดักตะกอนในพื้นที่เมียนมา การจัดหาแหล่งน้ำอุปโภค – บริโภค ที่สะอาดปลอดภัยแก่ประชาชน หรือการสนับสนุนองค์ความรู้การบำบัดน้ำเสียจากเหมืองแร่หรือการป้องกันมลพิษลงสู่แหล่งน้ำจากกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
– นอกจากนี้ เป็นการเจรจาเบื้องต้นเพื่อเตรียมการและเตรียมประเด็นในการหารือของรองนายกรัฐมนตรี ในลำดับถัดไป (สิงหาคม 2568)
– ประเด็นการเจรจาต่างๆ จะนำกลับมาดำเนินงานในระยะต่อไปผ่านกลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) หรือ กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation : LMC) โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลัก
ในการประสานดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วมกับ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เพื่อดำเนินการโดยใช้กลไกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) โดย สทนช. ซึ่งเป็นเลขานุการฝ่ายไทยของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้เริ่มดำเนินการร่างกรอบการทำงานระหว่างไทย เมียนมา และลาวในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมและลงพื้นที่ร่วมกันทั้งสามประเทศที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 โดยประเด็นนี้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
4. ทำไมไม่ใช้ฐานข้อมูลดาวเทียม งานวิจัย หรือผลตรวจวัดน้ำไปประกอบการเจรจา?
– ได้มีการนำผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำกกของไทยไปใช้ประกอบการเจรจา ซึ่งฝ่ายไทยได้แสดงผลการตรวจวัด ผลการวิเคราะห์ทางสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เมียนมารับทราบ แต่ที่ไม่สามารถนำภาพถ่ายดาวเทียมของไทยไปใช้ประกอบการเจรจาได้เนื่องจากพื้นที่ที่คาดว่าเป็นเหมืองแร่ดังกล่าวอยู่ในเขตเมียนมา การแสดงภาพถ่ายดาวเทียมโดยหน่วยงานรัฐของไทยเป็นผู้ดำเนินการอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประเด็นความมั่นคงของเมียนมา และอาจถือว่าไทยได้ทำการการสอดแนมหรือจารกรรมข้อมูลของเมียนมาได้
5. ทำไมไม่ยกข้อตกลงอาเซียนเรื่องภัยพิบัติมาเป็นกรอบต่อรอง โดยเฉพาะเมื่อ “คาดว่า” จะเกิดภัยก็สามารถดำเนินการได้?
ในการเจรจาระหว่างประเทศของฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมาจำเป็นจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐต่อรัฐ จึงจำเป็นจะต้องเริ่มการแก้ปัญหาด้วยการยื่นข้อเสนอต่างๆ ในลักษณะ Capacity building ทั้งด้านสุขอนามัยของประชาชน การแจ้งเตือนภัยพิบัติ การติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการคำนึงถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในลักษณะ Win Win Solution และหากปัญหามีแนวโน้มที่รุนแรงมาก มีการแพร่กระจายไปในหลายประเทศสมาชิกก็จะต้องนำ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน(ASEAN AGREEMENT ON DISASTER MANAGEMENT AND EMERGENCY RESPONSE) โดยใช้กรอบซึ่งว่าด้วย “ภัยพิบัติ” ซึ่งหมายถึง เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงอยู่ของชุมชนหรือสังคมส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อมนุษย์วัตถุ เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐบาลจะได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
6. ทำไมรัฐบาลไม่ขยับในกรอบ LMC หรือแม้แต่สื่อสารกับจีนที่เกี่ยวข้องโดยตรง?
– ได้มีการหยิบยกประเด็น LMC มาหารือกันแล้วกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย และได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เพื่อดำเนินการโดยใช้กลไกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC)
โดย สทนช. ซึ่งเป็นเลขาธิการฯ ฝ่ายไทยได้เริ่มดำเนินการร่างกรอบการทำงานระหว่างไทย เมียนมา และลาว ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนแล้ว ซึ่งจะมีการประชุมและลงพื้นที่ร่วมกันทั้งสามประเทศที่จังหวัดเชียงรายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 โดยประเด็นนี้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
7. ทำไมถึงไม่มีการพูดถึงแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกเลย ทั้ง ๆ ที่ตรวจพบสารพิษมากกว่าน้ำกกในบางจุด?
– ในการเจรจาเบื้องต้นได้เจาะจงเฉพาะแม่น้ำกกในลำดับแรก เนื่องจากเป็นแม่น้ำที่ผ่านเข้ามาในไทยเป็นระยะทางยาวก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งมีผลกระทบกับประชาชนไทยในวงกว้าง เนื่องจากใช้ในการเกษตร การประปา การท่องเที่ยว หรือการเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ส่วนแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกได้มีการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับแม่น้ำกก และได้บรรจุแม่น้ำทั้ง 3 สาย เข้าไว้ในร่างกรอบการทำงานระหว่างไทย เมียนมา และลาวในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของ MRC แล้ว
(3.) เกี่ยวกับหลักฐาน การสื่อสาร ระบบ และระยะยาว
1. ทำไมรัฐบาลถึงไม่ใช้หลักฐานจากดาวเทียมและงานวิจัยที่ชัดเจนมาสื่อสารกับประชาชนและใช้เป็นเครื่องต่อรอง?
– กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดประชุมหารือเตรียมึคาวมพร้อมของข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับกรมกิจการชายแดนทหาร กรมเอเชียตะวันออก GSTDA และ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยมีการจัดส่งข้อมูลภาพรวมให้กับกรมกิจการชายแดนทหารและกรมเอเชียตะวันออกใช้ประกอบการเจรจา
– ข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่ใช้ประกอบการเจรจานั้นได้มีการนำผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำกกของไทยไปใช้ประกอบการเจรจา ซึ่งฝ่ายไทยได้แสดงผลการตรวจวัด ผลการวิเคราะห์ทางสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เมียนมารับทราบ แต่ที่ไม่สามารถนำภาพถ่ายดาวเทียมของไทยไปใช้ประกอบการเจรจาได้เนื่องจากพื้นที่ที่คาดว่าเป็นเหมืองแร่ดังกล่าวอยู่ในเขตเมียนมา การแสดงภาพถ่ายดาวเทียมโดยหน่วยงานรัฐของไทยเป็นผู้ดำเนินการอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประเด็นความมั่นคงของเมียนมา และอาจถือว่าไทยได้ทำการการสอดแนมหรือจารกรรมข้อมูลของเมียนมาได้
– กรมควบคุมมลพิษ กำหนดที่จะข้อมูลจากดาวเทียมและงานวิจัยทั้งหมดมาบูรณาการร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และจะใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาระดับรัฐบาล (รองนายกรัฐมนตรี) ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2568
2. ทำไมประเทศไทยไม่สามารถจัดการมลพิษข้ามแดนได้ ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานแน่ชัด?
– ประเทศไทยได้พยายามจัดการปัญหาด้านการปนเปื้อนดังกล่าว โดยประสานงานทางการทูตและนัดหมายหารือกับฝ่ายเมียนมาอย่างเป็นทางการ ผ่านช่องทางกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และผู้แทนฝ่ายไทย ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้เดินทางไปพบและหารือฝ่ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมาแล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม2568 ในประเด็นความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูล ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้ง 2 ประเทศที่มีการใช้น้ำจากแม่น้ำกก และการจัดการแหล่งกำเนิดในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเจรจาในระดับรัฐบาลทั้งกับเมียนมาและประเทศจีนในลำดับต่อไป
3. สารพิษที่กระทบต่อปลา คน และระบบนิเวศ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ รัฐจะปล่อยไว้อีกนานแค่ไหน?
– หน่วยงานรัฐได้ดำเนินการเฝ้าระวังผลกระทบต่อคน ปลา และระบบนิเวศ โดยการตั้งศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จำนวน 4 ศูนย์ และได้ออกหน่วยในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัดสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 1/1 เชียงราย การประปาส่วนภูมิภาค กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ สุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ และสื่อสารสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันผลกระทบ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
4. การที่แม่น้ำโขงฝั่งลาวเริ่มพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน แปลว่าปัญหาขยายวง – แล้วไทยจะรับมืออย่างไร?
– ประเทศไทยติดตามผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ MRC รายงานค่าความเข้มข้นของสารหนู (As) สูงเกินค่ามาตรฐานในจุดตรวจวัดบางแห่งฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ไทยได้ตรวจพบค่าสารหนูสูงเช่นกัน ข้อมูลดังกล่าวช่วยยืนยันความสอดคล้องของผลตรวจจากทั้งสองฝ่ายและเป็นหลักฐาน
เชิงวิทยาศาสตร์ที่รัฐไทยนำมาใช้ประกอบการวางแผนจัดการต่อไป
5. เหตุใดไม่มีการตรวจสอบ “ห่วงโซ่ของแร่” ที่ชัดเจน ทั้งที่เป็นต้นทางของปัญหา?
– จากข้อกังวลเรื่อง การปนเปื้อนของสารพิษในแม่น้ำที่อาจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหมืองแร่ต้นน้ำ
ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยขอยืนยันว่า ได้มีการดำเนินการตรวจสอบ ‘ห่วงโซ่ของแร่’ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบแล้วโดยมอบหมายให้
• กระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของแร่ที่มีการขนส่งข้ามแดน และสร้างความร่วมมือในด้านการควบคุมมลพิษจากต้นทาง
• กรมศุลกากร ตรวจสอบเส้นทางการนำเข้า–ส่งออกแร่ รวมถึงการคัดกรองเอกสารการนำเข้าแร่จากพื้นที่ที่อาจเป็นต้นทางของการปนเปื้อน เพื่อความโปร่งใสในการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบผ่านแดน
• อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลด้าน Traceability ของแร่ โดยเฉพาะแร่ที่เกี่ยวข้องกับสารหนูหรือโลหะหนัก เพื่อนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสาธารณะ
“ปัญหาน้ำปนเปื้อนในลุ่มน้ำกกเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด และได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
รัฐบาลมุ่งมั่นดำเนินการด้วยความโปร่งใส จริงใจ และยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลางในทุกขั้นตอน พร้อมรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และอนาคตที่ยั่งยืนของประชาชนในพื้นที่และประเทศชาติต่อไป” นางสาวศศิกานต์ กล่าว