24 มิ.ย. 63 เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงเรื่องโครงการวิจัยภาวะภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และผู้มีความเสี่ยงในคนไทย สรุปสาระสำคัญดังนี้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการต่อสู้กับโรคติดเชื้อโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ซึ่งความสำเร็จจะสมบูรณ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการผลิตวัคซีน ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ คาดว่าจะสามารถทดลองวัคซีนในมนุษย์ได้ประมาณปลายปีนี้
ซึ่งในขณะที่เรากำลังรอคอยวัคซีนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข (สวรส.) ได้สนับสนุนการทำวิจัย โดยจะมอบทุนให้จุฬาฯ ซึ่งร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ เพื่อศึกษาวิจัยว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ได้รักษาหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันโรค เหมือนโรคระบาดอื่น ๆ หรือไม่ มีโอกาสกลับมาติดเชื้อหรือไม่ และภูมิคุ้มกันโรคจะมีระยะเวลานานเท่าใด โดยจะทำการวิจัยจากเลือดของผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว ซึ่งตอนนี้มีจำนวนกว่า 3,000 คน เพื่อให้ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อสังคมสังคม
พร้อมกันนี้ นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ในฐานะคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมถึงที่มาของ “โครงการวิจัย Hero COVID-19” เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในสังคม (Herd Immunity) ซึ่งมี 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การค้นคว้าวิจัยวัคซีน และการเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และรักษาหายแล้ว จึงเป็นที่มาของ “โครงการวิจัย Hero COVID-19”
โอกาสนี้ นายแพทย์คณวัฒน์ได้เชิญชวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว หรือ Hero COVID-19 รวมถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแต่ไม่ติดเชื้อ ร่วมบริจาคเลือด เพื่อตอบข้อสงสัยกรณีผู้ป่วยติดเชื้อสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เองหรือไม่ หากสามารถสร้างได้ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ การเกิดภูมิคุ้มกันใช้ระยะเวลาเท่าไร และภูมิคุ้มกันดังกล่าวสามารถอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
ทั้งนี้ หาก “โครงการวิจัย Hero COVID-19” ประสบความสำเร็จอาจนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาวิจัยวัคซีน หรือนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด
ในตอนท้าย ผศ.นายแพทย์ปกรัฐ หังสสูต หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ภูมิคุ้มกันนั้นมีหลายชนิด อาทิ ภูมิคุ้มกันที่สามารถอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต หรือ ภูมิคุ้มกันที่อยู่ได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใหม่ที่ยังต้องค้นคว้าและวิจัยวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการใช้ยาในการรักษา โดย “โครงการวิจัย Hero COVID-19” ต้องการอาสาสมัครในการบริจาคโลหิต จำนวน 500 คน อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และสามารถติดต่อขอเป็นอาสาสมัครได้ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย