นายอนุชาบูรพชัยศรีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบรายงานปัญหาฝุ่น PM 2.5 และห่วงใยประชาชนที่อาศัยและทำกิจกรรมในพื้นที่ที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรง
โดยได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ติดตามการปฏิบัติงานหน่วยงานในกำกับของตนเร่งบรรเทาฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันให้มากที่สุดแต่ต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหา PM 2.5 ยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติโดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2563)
ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบท ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) เช่น ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังเมืองและภาคครัวเรือน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ รวมทั้งแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานสถานการณ์PM 2.5 ได้ตลอดผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ “ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)” https://www.facebook.com/airpollution.CAPM
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า ระหว่างการเยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ารัฐบาลได้มีการออกมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 และให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจำกัดหรืองดการเผาลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ขอให้ใช้รถขนส่งมวลชนสาธารณะให้มากขึ้น ตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด ไม่ต่อใบอนุญาตรถที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเรื่องของ PM2.5 ก็ดีขึ้น
ยอมรับว่าปัญหา PM 2.5 มักจะเกิดในช่วงที่อากาศปิดในลักษณะครอบฝาซี รวมทั้งจากการเผาวัชพืชเพื่อเตรียมเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การก่อสร้าง การขนส่งคมนาคม และการจราจร ซึ่งได้กำชับให้ไปดำเนินการตรวจสอบ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก
อนึ่ง ในวันนี้ ณ ศูนย์แถลงข่าวทำเนียบรัฐบาล นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า เนื่องจากสภาพอากาศในช่วง 1-2 วันนี้ ทำให้เกิดการสะสมของ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมลูกบาศก์เมตร) ทำให้เช้าวันนี้ พื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 14 เขต ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรุงเทพมหานคร
ยกระดับเชิงปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้นด้วย ทั้งการปรับแผนเพิ่มตรวจสกัดรถควันดำ งดการเผาในที่โล่ง รวมไปถึงในจังหวัดใกล้เคียง กทม. ทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 14 – 17 ธ.ค. โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเติมน้ำมันที่มีค่ากำมะถันต่ำเพื่อช่วยลดควันดำ
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้ประกอบการ เช่น ลดราคาน้ำมัน ลดราคาการตรวจสภาพเครื่องยนต์ นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาจะประสานกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อนำข้อมูลมาแจ้งเตือนกับประชาชนเป็นระยะๆ ซึ่งช่วงปีใหม่นี้ ยังต้องตรวจสอบสภาพอากาศ ดูความกดอากาศสูงว่ามาต่อเนื่องหรือไม่
แต่คาดว่าในช่วง 2 วันหลังจากนี้ ปริมาณฝุ่นจะลดลงเพราะมีลมพัด นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่สีส้ม สีแดง ซึ่งมีค่า PM2.5 สูง
และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดฝุ่น หากมีอาการหายใจไม่สบาย สามารถปรึกษาแพทย์ได้ในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งในพื้นที่
สำหรับโรงเรียนขอให้ลดระยะเวลาการเข้าแถวตอนเช้ารวมทั้งป้องกันฝุ่นในห้องเรียนด้วย โอกาสเดียวกันนี้ ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมืองโฆษก กทม. ยืนยัน กทม. ออกแผนปฏิบัติ 2 เดือน ช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ.
อาทิ การกำกับดูแลพื้นที่ก่อสร้างไม่ให้ทำกิจกรรมเกิดฝุ่นมาก ลดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียน การล้างถนน ฉีดละอองน้ำจากอาคารสูง การเปิดคลินิกมลพิษเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ การก่อสร้างรถไฟฟ้า จะให้ดำเนินการได้แค่กิจกรรมที่ไม่เกิดฝุ่น
เช่น การตกแต่งภายใน ในส่วนการขนดิน การถมพื้นที่ การขุดเจาะ จะประสานขอให้งดกิจกรรมในช่วง 2-3 วันนี้ก่อน เพราะก่อให้เกิดฝุ่นปริมาณมาก และดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา นักวิชาการ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นทางวิชาการว่า มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาลเดินทางแล้ว โดยอาศัยวิชาการเป็นหลักในการกำหนดนโยบายและมาตรการเน้นการกำจัดแหล่งต้นตอของฝุ่น รวมทั้งลดพฤติกรรมตนเองที่จะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5
ในที่สุดเชื่อว่า PM2.5 สามารถหมดไปจากประเทศไทยเหมือนที่ไทยประสบความสำเร็จกำจัดสารตะกั่ว ซึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการของรัฐบาลเช่นกัน