รมว.ทส. ‘วราวุธ’ สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติในผืนป่าภูเขียว 6 ชนิด ๓๖๐ ตัว “ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์”
๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ “ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ร่วมทำโป่งเทียม และปล่อยสัตว์ป่า เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินธรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อนุรักษ์สายพันธ์ุแท้ เพิ่มความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่า ให้อิสรภาพแก่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงไว้ให้สามารถดำรงชีพได้ตามธรรมชาติ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
โดยมี คณะสงฆ์ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีฯ ณ บริเวณทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ รมว.ทส. กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พื้นที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จมาทรงปล่อยเนื้อทรายคืนสู่ธรรมชาติ จนในปัจจุบันได้สืบต่อสายพันธุ์และกระจายออกไปมากขึ้น
ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรู้สึกเป็นเกียรติ และดีใจอย่างมากที่ได้มีส่วนทำหน้าที่ในการปกป้อง ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้จัดกิจกรรมปล่อยสัตว์ป่าในวันนี้ขึ้น เพราะจะเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ และต่อยอดให้ลูกหลานในอนาคตได้เห็นสัตว์ต่าง ๆ ในสภาพที่มีชีวิตอยู่
รมว.ทส. ยังได้เน้นย้ำ ฝากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ว่า จากนี้ไปขอให้อย่ามีการจัดงาน จัดกิจกรรมหรือจัดการแสดงต่างๆ ที่ใช้เสียงดัง เพราะจะไปรบกวน และกระทบกับการดำรงชีวิตของสัตว์ต่างๆ ในผืนป่าภูเขียวแห่งนี้ ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติในครั้งนี้ มีสัตว์ป่าที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน ๖ ชนิด รวมทั้งสิ้น ๓๖๐ ตัว ได้แก่ ละองหรือละมั่งพันธุ์ไทย จำนวน ๗ ตัว เนื้อทราย จำนวน ๒๐ ตัว เก้ง จำนวน ๑๐ ตัว นกยูงไทย จำนวน ๒๓ ตัว ไก่ฟ้าพญารอ จำนวน ๒๐๐ ตัว และไก่ฟ้าหลังขาว จำนวน ๑๐๐ ตัว โดยได้คัดเลือกสัตว์ป่าจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ที่มีสุขภาพสมบูรณ์เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมปรับสภาพให้สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ และได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค ติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมสัตว์ป่าหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย