อิสระ คงยินดี
เรื่องของกลไกตลาดที่มีปริมาณผลผลิตกับความต้องการบริโภคเป็นตัวถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เมื่อใดที่ทั้งสองฝั่งนี้ขาดความสมดุล ก็จะเกิดผลกระทบตามมา เช่น ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่มากเกินความต้องการใช้หรือบริโภค ราคาสินค้าชนิดนั้นจะตกต่ำลง เกษตรกรผู้ผลิตก็อาจจะขาดทุน ในทางกลับกันหากผลผลิตขาดแคลนไม่เพียงพอ ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้น เกษตรกรอาจได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่ก็ยากในการหาหรือผลิตสินค้าออกมาขายได้ทันการณ์ กล่าวได้ว่าการรักษาปริมาณผลผลิตให้สมดุลกับความต้องการจะนำไปสู่ “เสถียรภาพราคา” ของสินค้านั้นๆ ในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องวางแผน
ยิ่งถ้าเป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวสูงอย่าง “ไข่ไก่” ความสมดุลของกลไกตลาดก็ยิ่งมีความสำคัญมาก ในเชิงวิชาการการสร้างผลผลิตไข่ไก่ตลอดทั้งปีให้สมดุลกับผู้บริโภคชาวไทยทั้งประเทศ จะอยู่ที่การใช้พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ 4.4 แสนตัว/ปี เป็นจำนวนที่ช่วยคุมให้ซัพพลายไข่ไก่เหมาะสมกับดีมานด์ ส่วนในระหว่างปี ไข่ไก่ก็จะมีปัจจัยเข้ามากระทบตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค เทศกาลกินเจ เปิดเทอม-ปิดเทอม หรืออุณหภูมิร้อน-หนาวก็มีผลต่อการออกไข่ของแม่ไก่ ทำให้ดีมานด์และซัพพลายแกว่งขึ้น-ลงอยู่ตลอดเวลา การควบคุมที่ต้นน้ำหรือการวางแผนจำนวนพ่อแม่พันธุ์ให้เหมาะสม จึงมีส่วนช่วยให้การแกว่งขึ้นลงของซัพพลาย-ดีมานด์ อยู่ในกรอบที่พอเหมาะสมได้
ปัจจุบันไข่ไก่มีราคาประกาศอยู่ที่ 3.40 บาท/ฟองจากการบริโภคที่ชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อยู่ที่ 3.45 บาท/ฟอง แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรยังขาดทุนอยู่ และแนวโน้มราคายังอยู่ในทิศทางขาลง ทั้ง ๆ ที่มีการจำกัดจำนวนพ่อแม่พันธุ์อยู่เท่าเดิม หากมีเพิ่มพ่อแม่พันธุ์เข้าสู่ระบบอีก จะมีการผลิตแม่ไก่สาวอีกจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้มีผลผลิตไข่ไก่เข้าสู่ระบบอีกปีละนับร้อยล้านฟอง เมื่อผนวกกับปริมาณผลผลิตเดิมที่มี ย่อมสูงเกินความต้องการบริโภค จะเป็นสาเหตุหลักให้เสถียรภาพราคาไข่ไก่สั่นคลอนและตกต่ำลง เดือดร้อนกันไปทั้งห่วงโซ่ … แล้วแบบนี้เกษตรกรจะอยู่รอดได้อย่างไร
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องของ “โรคระบาด” ก็น่ากังวล เพราะยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ต้องนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ ขณะที่ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ ล้วนกำลังเผชิญกับปัญหาไข้หวัดนก การอนุญาตให้นำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตย่อมความเสี่ยงในการนำโรคระบาดสัตว์เข้ามาด้วย แม้ภาครัฐของไทยจะต้องพิจารณาสั่งห้ามนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ตามองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties; OIE) ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยพยายามสรรหาแม่พันธุ์จากประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่ประกาศโรคระบาด ซึ่งนับว่ายังคงมีความเสี่ยงมากอยู่ดี สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไก่ไข่ของไทย จะสามารถลดการพึ่งพาพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยไม่สะดุด
หากไทยต้องเผชิญกับโรคระบาดอีกครั้ง จากการหย่อนยานละเลยมาตรการป้องกันโรค จะนำไปสู่หายนะอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือคนไทยอาจต้องกินไข่ฟองละ 30 บาท เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯกำลังเผชิญปัญหาไข่ไก่ขาดแคลนในขณะนี้ ซึ่งบางรัฐก็รุนแรงถึงขั้นลักขโมยไข่ไก่กันนับแสนฟอง
การทำเกษตร-ปศุสัตว์ในยุคนี้ไม่ง่าย ต้องพิจารณาหลากหลายประเด็นอย่างรอบคอบ สุดท้ายก็เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรที่จะสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เป็นผู้ผลิตอาหารให้ผู้บริโภครับประทานอย่างปลอดภัยและเพียงพอในราคาที่เข้าถึงได้ หรือที่เรียกว่า ความมั่นคงทางอาหาร นั่นเอง