ผักกาดหอม
ก็เผื่อไว้…
อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
วานนี้ (๕ มกราคม) อดีต สว.หลายคน อาทิ อดีต สว.สมชาย อดีต สว.คำนูณ เป็นต้น โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลเนื้อหาเดียวกัน เตือนบรรดา สส.ว่าระวังจะถูกสอยยกสภาฯ
“อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ดี ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก่อนคิดล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่”
ไปดูคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๔ เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ (๑)
“…การที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมร่วมกัน(ของ)รัฐสภาตามมาตรา ๒๕๖ ซึ่งมีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
โดยมีเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา ๒๕๖/๑ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ นั้น เห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๖ (๑๕) บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามุ่งประสงค์ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาในกรณีดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และวิธีการซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการทำหน้าที่ในกระบวนนิติบัญญัติทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
กล่าวได้ว่าแม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการ และเนื้อหา รัฐสภาจึงต้องทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบของหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม
ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๕ เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น
ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้
หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง…”
ถามว่ามีอะไรใหม่มั้ย…ก็ไม่หรอกครับ แค่ สส.ที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือที่จะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ค่อยจะพูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่
โดยเฉพาะพรรคส้ม!
งานนี้ไม่ได้แกงนะครับ
ถ้าคิดว่า “แกงส้ม” ก็มีโอกาสไปหมดพรรค
ส่วนพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้วก็อยู่เป็น เน้นไปที่การแก้รายมาตราแทน เพราะการรื้อใหญ่ทั้งฉบับนั้นมีความเสี่ยง ที่จะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองได้ หากการแก้ไขไปกระทบกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ประธานวิปรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ถึงต้องออกตัวว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ยึดสาระสำคัญ คือ ไม่แตะหมวด ๑ บททั่วไป และหมวด ๒ พระมหากษัตริย์ รวมถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทุกมาตรา
อีกทั้งต้องไม่แก้ไขในประเด็นที่อาจจะสร้างความแตกแยก ขัดแย้งในสังคม รวมถึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนและทำให้ประเทศเดินหน้าผาสุก
ยึดหลักการคือไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ รวมถึงไม่กระทบกับจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ไม่มีรายละเอียดแบบสุดโต่ง
เหมือนอยู่เป็น
แต่ร่างแก้ไขของพรรคเพื่อไทย สะแด่วแห้วจริงๆ
แก้ไขแต่ละมาตรา ปล่อยผีทั้งนั้น
โดยเฉพาะคุณสมบัติรัฐมนตรี มาตรา ๑๖๐ จำนวน ๓ ประเด็น
ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้
ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา
ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๗๐ แทน
แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม ของคุณสมบัติขององค์กรอิสระอื่นๆ ให้เหมือนกับคุณสมบัติรัฐมนตรี
แค่นี้ก็บันเทิงแล้วครับ!
ไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ แล้วคิดว่าประชาชนจะไม่คัดค้านการแก้คุณสมบัติรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ อย่างนั้นหรือ
ประเมินความรู้สึกประชาชนต่ำเกินไปหรือเปล่า
เจียะป้าบ่อสื่อ