สธ.เผย “เชียงใหม่” ระดับน้ำเริ่มลดลง กำชับ 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวัง ป้องกันสถานพยาบาล เตรียมทีมแพทย์ดูแล

กระทรวงสาธารณสุข เผยรอบ 24 ชั่วโมง “น้ำท่วม” เริ่มคลี่คลายใน 3 จังหวัด เกิดสถานการณ์เพิ่ม ที่ “สุพรรณบุรี” พบเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ที่สงขลา 1 ราย และเชียงใหม่ 2 ราย แนวโน้มระดับน้ำที่เชียงใหม่เริ่มลดลง ส่วน “ลำพูน” อ.เมือง ระดับน้ำยังสูง เสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่งซ้ำ กำชับ 11 จังหวัดพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าระวังสถานการณ์จากการระบายน้ำเพิ่ม ป้องกันสถานพยาบาล เตรียมทีมดูแลผู้ประสบภัย

7 ตุลาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 20/2567

โดยกล่าวว่า ภาพรวมมีสถานการณ์ใน 15 จังหวัด โดยรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มี 3 จังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คือ ลำปาง ขอนแก่น และเลย ส่วนจังหวัดที่มีสถานการณ์ใหม่ คือ สุพรรณบุรี ด้านผู้เสียชีวิตพบเพิ่มขึ้น 3 ราย ได้แก่ เชียงราย 2 ราย สาเหตุจากไฟฟ้าดูด 1 ราย กระแสน้ำพัด 1 ราย ซึ่งพบร่างแล้วหลังสูญหาย และสงขลา 1 ราย จากการจมน้ำส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 60 ราย บาดเจ็บสะสม 2,381 ราย ไม่มีผู้สูญหาย

“ปัจจุบันมีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 105 แห่ง ปิดให้บริการ 12 แห่ง โดย 11 แห่ง อยู่ใน จ.เชียงใหม่ และอีก 1 แห่งอยู่ จ.พิจิตร ภาพรวมรอบวันที่ผ่านมาจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 73 ทีม ให้การดูแลประชาชน 2,431 ราย สะสม 211,680 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น 537 ราย สะสม 32,319 ราย ประเมินสุขภาพจิตเพิ่ม 394 ราย พบเสี่ยงซึมเศร้า 1 ราย ได้รับการดูแลทางจิตใจจนอาการดีขึ้นไม่ต้องส่งต่อพบแพทย์” นพ.สฤษดิ์เดชกล่าว

นพ.สฤษดิ์เดชกล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำหลากใน จ.เชียงใหม่ ขณะนี้แนวโน้มน้ำเริ่มลดลงเตรียมดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลดต่อไป ส่วน จ.น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ โดย อ.เมือง ระดับน้ำกวงเพิ่มสูงขึ้นและรับมวลน้ำจาก จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มเกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมซ้ำ ได้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์และให้ รพ.สต. จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ออกเยี่ยมประเมินอาการเจ็บป่วยและสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ประสบภัย

ส่วน อ.ป่าซาง อ.เวียงหนองล่อง อ.บ้านโฮ่ง ระดับน้ำลดลงทั้งหมด ไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ ขณะที่ รพ.สุโขทัย ซึ่งได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากน้ำท่วม ได้เร่งระบายน้ำแล้ว คาดว่าเย็นวันนี้จะคลี่คลายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการผู้ป่วย สำหรับ จ.ชัยนาท ที่มีมวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางเกษตร พบว่าพื้นที่เหนือเขื่อนระดับน้ำเริ่มคงที่และมีแนวโน้มลดลง ส่วนพื้นที่ท้ายเขื่อนยังต้องเฝ้าระวัง หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์มี 3 จังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง คือ เชียงใหม่จากแม่น้ำปิง พิษณุโลกจากแม่น้ำยมและพิจิตรจากแม่น้ำน่าน และมีพื้นที่เฝ้าระวังแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 7-8 ตุลาคม 2567 คือ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้แจ้งเตือนให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้เตรียมพร้อม นอกจากนี้ ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เตรียมรับสถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม ซึ่งขณะนี้เริ่มมีน้ำท่วมบางพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำที่ จ.อ่างทอง โดยให้เฝ้าระวังสถานการณ์ ป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล และเตรียมพร้อมทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ประสบภัย

Written By
More from pp
“จุรินทร์” ให้กำลังใจ “ชาวท้ายเหมือง” พร้อมชื่นชม บุคลากรการแพทย์ อสม. คุมโควิดได้ดี
วันที่ 13 กันยายน 2564 เวลา 11.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์...
Read More
0 replies on “สธ.เผย “เชียงใหม่” ระดับน้ำเริ่มลดลง กำชับ 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเฝ้าระวัง ป้องกันสถานพยาบาล เตรียมทีมแพทย์ดูแล”