เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภา พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง และสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ประชุมร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ กรณีช้างป่า ณ ห้องประชุม CA328 ณ รัฐสภา
ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา
พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2567 ได้รับแจ้งเกิดเหตุช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลงมายังพื้นที่ชุมชน หมู่ 3 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ก่อนจะวิ่งเข้าทำร้ายนายนิคม ซ้อนพิมพ์ อายุ 58 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสไม่ได้สติ นอนคว่ำหน้า หน้าแข้งขวาฉีกขาดตั้งแต่หัวเข่าไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร บริเวณหลังช่วงเอวมีรอยถลอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใบหน้ามีแผลฉีกขาด ในที่เกิดเหตุพบกองเลือดอยู่
จากการสอบถามชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ก่อนเกิดเหตุตนและผู้บาดเจ็บ เห็นช้างป่าเดินมา จากนั้นผู้บาดเจ็บได้เอาไฟส่องช้าง ช้างจึงได้วิ่งพุ่งมาหา ตนและผู้บาดเจ็บวิ่งหนีจนมาถึงจุดเกิดเหตุผู้บาดเจ็บล้ม จึงถูกช้างทำร้าย เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชุดเฝ้าระวังช้าง ตำบลสาริกา จึงไล่เฝ้าติดตามช้างป่าตัวนี้ พบว่า ไปอยู่ภายใต้วัดตำหนัก พื้นที่ตำบลสาริกา ซึ่งห่างจาก
จุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร
จึงทำการผลักดันช้างกลับขึ้นสู่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่อยู่นอกแนวเขตชุมชน ต่อมาเมื่อเวลา 06.34 น.ของเช้าวันที่ 7 ก.ย. 2567 ทางโรงพยาบาลนครนายก ได้แจ้ง นายนิคมฯ ได้เสียชีวิตเนื่องจากภายในบอบช้ำมาก มีเลือดไหลภายในช่องท้องและมีแผลฉีกขาดบริเวณศีรษะ แพทย์เวรจึงได้นำศพไปผ่าพิสูจน์ต่อที่โรงพยาบาล มศว.องครักษ์และจะได้มอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดตำหนัก ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ต้องการการแก้ไขที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่กลัวช้างป่าจนเกินไป ควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติ การเลี้ยงช้างเพื่อการท่องเที่ยวเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการฆ่าทิ้งหรือควบคุมประชากรด้วยวิธีรุนแรง ช่วยสร้างรายได้ให้กับควาญช้างและชุมชนควรมีการจัดการอย่างถูกต้องและมีระบบ
การหาแนวทางเยียวยาผู้เสียหายจากปัญหาช้างป่า เป็นเรื่องที่สำคัญ ปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าลดลง ทำให้ช้างออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม เกิดปัญหาความขัดแย้ง ช้างทำลายพืชผล ชาวบ้านได้รับผลกระทบ มีการเปรียบเทียบกับประเทศอินเดีย ศรีลังกา ที่มีจำนวนช้างตายจากคนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยยังมีระดับความขัดแย้งที่ต่ำกว่า แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นหลัก การลดความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและมนุษย์ ควรนำเทคโนโลยีที่ช่วยติดตามช้างป่าและแจ้งเตือนชาวบ้าน การศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับช้างป่าและประชากร การจัดการพื้นที่ป่าเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่าและมนุษย์ ที่สำคัญพบว่า ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ถูกช้างป่าไล่บ่อยขึ้น จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับพฤติกรรมช้างป่า ใช้เทคโนโลยี AI สามารถช่วยจำแนกช้างแต่ละตัวและติดตามความเคลื่อนไหว จำเป็นต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ การเชื่อมต่อพื้นที่ป่าช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่าและมนุษย์ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประชากรช้างป่าและผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร โดยต้องหาและจัดสมดุลระหว่างการปกป้องช้างป่าและการสร้างพื้นที่ด้านความปลอดภัยของมนุษย์ด้วย
ด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า จากการสรุปสถานการณ์ช้างป่า ข้อมูลจาก ศ.(ปฏิบัติ) น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าจำนวนประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากรายงานของ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประมาณการว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 93 แห่งทั่วประเทศ ในปีพ.ศ. 2566 มีช้างป่าจำนวน 4,013-4,422 ตัว
ในปี พ.ศ. 2566 พบคนเสียชีวิตจากช้างป่า จำนวน 21 ราย และได้รับบาดเจ็บจากช้างป่าจำนวน 29 ราย และช้างป่าล้ม (ตาย) จากความขัดแย้งนี้จำนวน 24 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาช้างออกนอกพื้นที่นี้พบได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 70 แห่ง จาก 93 แห่ง (75%) ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันออก สำหรับสถานการณ์ช้างเลี้ยง ในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 3,800-4,000 เชือก
สำหรับสถานการณ์ด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างไทย เช่น
1. ควรแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างเลี้ยง หรือระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายในเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เช่น การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ให้ครอบคลุมถึงช้างป่า และเสนอแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ตามมาตราดังกล่าว ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการดูแลเฉพาะสัตว์ป่า
2. การเร่งรัดผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติช้าง พ.ศ. …. ให้ครอบคลุมถึงช้างป่า ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพ รวมทั้งการป้องกันมิให้มีการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้านโดยมิชอบ การลักลอบค้าช้างป่า การค้างาช้าง การค้าซาก และผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำมาจากช้างป่า การมีกองทุนในการช่วยเหลือและพัฒนาช้างป่าและการตั้งคณะกรรมการช้างแห่งช้าง ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาช้างโดยเฉพาะ เป็นต้น
3. ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือกำหนดแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในมาตรา 12 และ มาตรา 13 สำหรับในส่วนของการกระทำ ด้วยความจำเป็นและเหตุสุดวิสัยจากการบุกรุกของช้างป่าภายใต้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นนั้น ควรดำเนินการตามแนวทางสันติวิธี มีมาตรการแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องตามสภาพบริบทแต่ละพื้นที่และเหตุการณ์ต่างๆ
โดยควรใช้มาตรการแนวทางที่ต่ำสุดเท่าที่จำเป็นในการกระทำเพื่อให้พ้นภัย หรือควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมมีสัดส่วนของการกระทำต่อช้างป่า ไม่เกินความเสียหายที่ได้รับ โดยการกระทำต่อช้างป่านั้น ต้องเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการสงวนอนุรักษ์และการคุ้มครองสัตว์ป่านั้น เป็นต้น
ซึ่งภายหลังจากกระประชุม จะได้มีการขับเคลื่อนและนำสู่การปฏิบัติ ในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อการช่วยเหลือสร้างดุลยภาพ และลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ต่อไป