เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.63 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดบ้านรับฟังข้อเรียกร้องของตัวแทนกลุ่มคนรักเก้าเส้ง มีนายสายัณห์ ทองศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง เป็นหัวหน้าคณะ ณ บ้านพักเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
โดยมีประเด็นในเรื่องของขยะทะเลที่เกิดขึ้นจากเมืองสงขลา ในเรื่องของขยะที่พบในท้องปลาโลมา และคลองเก้าเส้งเองก็เป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องของขยะ ซึ่งทางกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่การทำงานในเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่องทะเล เรื่องของขยะ เรื่องของประมง และในเรื่องของสวัสดิการ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน
ซึ่งตนในฐานะดูแลรับผิดชอบในเรื่องของขยะ ก็ได้นำซังมาเพื่อดักขยะต่างๆไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ คลองปิดจึงทำให้เกิดน้ำเสีย ขยะก็มาก จนทำให้เกิดน้ำขังเน่าเสีย ตรงจุดนี้ถ้าคลองเปิดจะเป็น 3 น้ำ จะมีแพลงตอนและลูกปลาเป็นฝูงว่ายเข้ามาในคลอง ชาวบ้านก็จะได้ให้ประโยชน์
ดังนั้นจึงได้มีการนำเสนอ รมช.มท.ว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้คลองกลับมาปิดอีก เพราะถ้าคลองเปิดอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านหรือชาวประมงก็สามารถที่จะนำเรือเข้ามาจอดข้างในได้ เพราะอาชีพของชาวชุมชนเก้าเส้งก็คืออาชีพประมง และยังสามารถนำเข้ามาจอดหลบอยู่ข้างในได้เมื่อถึงฤดูมรสุม
จึงมานำเรียน รมช.มท.ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คลองเปิดอยู่ตลอดเวลา มิเช่นนั้นพอถึงหน้ามรสุมคลองก็จะปิดเหมือนเดิมอีก เพื่อน้ำในคลองจะได้หมุนเวียนตลอดเวลา ส่วนอีกประเด็นที่นำเสนอคือในเรื่องของการรักษาความสะอาด ซึ่งจะทำอย่างไรให้ชุมชนดูแลหน้าบ้านของตัวเอง โดยทางกลุ่มมีความตั้งใจที่จะทำ ชุมชนบ้านเล ชุมชนเก้าเส้ง และชุมชนหัวเขา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นอกจากเกาะหนู เกาะแมวแล้ว เพราะถ้าสามารถทำตรงนี้ได้ ก็จะเป็นจุดเสริมของอาชีพประมงอีกทางหนึ่ง ดังนั้นทางกลุ่มจึงต้องการขับเคลื่อนชุมชน ในเรื่องของการรักษาความสะอาดหน้าบ้านของตนเอง
ทั้งนี้ รมช.มท.ได้สั่งการให้นายภาสิทธิ์ จันทมุณี รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา ไปกำกับดูแลในเรื่องที่ทางกลุ่มนำเสนอ รวมถึงการนำเจ้าหน้าที่เทศบาลลงไปสำรวจ สะพานข้ามคลองสำโรง ว่ามีปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไร เพื่อที่จะทำการขยายสะพานในช่วงแรกของปากคลองสำโรงให้กว้างขึ้น เป็นสะพานโค้งหลังเต่า เพื่อชาวประมงสามารถนำเรือมาจอดข้างในได้ เมื่อเข้าสู่หน้ามรสุม โดยการประสานกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อขอดูแบบแปลนที่กำหนดไว้เแล้ว ตามแผนแม่บท ในการที่จะนำงบประมาณในของปี 2563 มาใช้อย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม