สันต์ สะตอแมน
“ยามเย็นเดินเล่นชายทุ่ง..
ผ้าขาวม้าคาดพุงนุ่งกางเกงขายาว แต่งตัวไปอวดสาวสาว นุ่งกางเกงขายาวผ้าขาวม้าคาดพุง”
นี่..ชื่อเพลง “ผ้าขาวม้า” ซึ่งนายหนังจูเลี่ยม กิ่งทอง ผู้ล่วงลับ ได้แต่งให้ลูกสาว “สาลิกา กิ่งทอง” นักร้องสาวหล่อผู้ล่วงลับ ขับร้องเมื่อหลายสิบปีนู้น
ถือเป็นเพลงดังเพลงหนึ่งที่ฮิตติดหูในยุคนั้น และก็น่าจะช่วยผลักดันให้ “ผ้าขาวม้า” พลอยได้รับความนิยม โดยไม่ต้องโฆษณาเป็นซอฟต์ พาวเวอร์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย!
ผมนั้นนอกจากชื่นชอบแก้วเสียงคนร้องที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังจะประทับใจและทึ่งกับเนื้อร้อง-ทำนองของเพลงนี้อยู่มาก
โดยเฉพาะท่อนที่ว่า.. “ยามจนขัดสนนักหนา ต้องทนก้มหน้าใช้ผ้าขาวม้าแปรงฟัน
คิดคิดแล้วมันน่าขัน ใช้กันจนทั่วประโยชน์มากมาย
มีเรื่องอับจนขัดสนวุ่นวาย ใช้ผูกคอตายสะดวกสบายหายยุ่ง”
ฟังทีไรก็ให้ยิ้มกับอารมณ์ขันของผู้แต่ง เสียดายที่เพลงนี้ไม่ได้ถูกนำมาขับร้องใหม่ แต่ไม่แน่นะ เพราะหลังจากที่คุณเศรษฐา ทวีสิน นำผ้าขาวม้าไปอวดสายตาชาวโลก
อาจมีนักร้องใครสักคนหยิบเอาเพลงนี้มาบันทึกเสียงก็เป็นได้ ด้วยวงการเพลงลูกทุ่งมักจะคิดไว-ทำไวกับการสร้างผลงานร่วมสมัย-ทันยุค บันทึกเหตุการณ์!
เออ..เสียดายอีกอย่าง คุณเศรษฐาไม่น่าเอาผ้าขาวม้าใช้พันคออย่างนั้น แต่ควรจะสร้าง เอกลักษณ์ด้วยการ “คาดพุง”จะดูเท่กว่า ฝรั่งมังค่าเห็นแล้วจะได้เอาเป็นแบบอย่าง!
อ้อ..แต่ที่ไม่ควรเอาอย่าง เมื่อกลับถึงเมืองไทยแล้ว ไม่ว่าจะมีเรื่องอับจนขัดสนวุ่นวายกับปัญหาหลากหลายแค่ไหน นายกฯก็อย่าได้พึ่งผ้าขาวม้าเชียวละ!
ครับ..ไหนๆ ก็คุยเรื่องเพลง-เรื่องนักแต่งเพลงกันแล้ว พอดีวานซืนทราบข่าวจากคุณหมู-กิตติศักดิ์ สายน้ำทิพย์ นักเรียบเรียงดนตรีฝีมือดีว่า..
ตอนนี้ “ครูประสพโชค มีลาภ” ได้นอนป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน บ้านท่าทุ่ม ต.วังด้ง อ.เมืองกาญจนบุรี มาหลายเพลาแล้ว
เท่าที่ได้สอบถามกับคุณหมู อาการของครูประสพโชคในวัยใกล้จะ 80 ไม่ค่อยสู้ดีนัก และด้วยเป็นนักแต่งเพลงที่ชื่อเสียงไม่ได้โด่งดังอะไรมากมาย..
การดูแล-ช่วยเหลือจากผู้คนในวงการเพลงลูกทุ่งจึงยังไปไม่ถึง มีเพียงคุณหมูที่แวะเวียนไปมาหาสู่อยู่เนืองนิจ!
ก็..อยากสะกิดถึงสมาคมนักร้องลูกทุ่ง-สมาคมนักแต่งฯ ถ้าเผื่อพอจะยื่นมือช่วยเหลือเจือจุนได้ก็แวะไปให้ครูได้เห็นหน้า-ได้ชื่นใจบ้างก็ดี
คนฟังเพลงยุคนี้อาจสงสัยครูประสพโชค มีลาภ แต่งเพลงอะไรบ้าง หรือถ้าเผื่อบางท่านลืมเลือนไป ผมก็ใคร่จะขอฟื้นความจำให้..
“เมื่อคืนน้องไปไหน ไปพักบ้านใคร บอกพี่เถิดหนา ออกจากบ้านแต่ตอนเย็น ดึกดื่นไม่เห็นคอยน้องไม่มา น้องไปค้างที่บ้านใคร พี่ไม่ต้องสงสัย น้องไปบ้านคุณอามาค่ะ”
ใช่แล้ว..เพลง “ไปบ้านคุณอา” ขับร้องโดยคุณโรม ศรีธรรมราช ครับ แล้วอย่าถามล่ะ คุณโรมเป็นนักร้องที่ไหน?
อีกเพลงที่ฮิตไม่เบาในยุคนู้น “แฟชั่นเกี่ยวแขน” คุณโรมอีกแหละร้อง มีท่อนหนึ่งจำแม่น.. “แขนเกี่ยวแขน มีแฟนได้เดินเป็นคู่ แฟชั่นเกี่ยวแขน คนไทยทั่วแดนกำลังเชิดชู
แต่บางคู่ไม่กล้าโชว์ แต่บางคู่ไม่กล้าโชว์ ทำผลุบผลุบโผล่โผล่อยู่ตามข้างคู”
นี่แหละที่ว่า เพลงลูกทุ่งมักจะบันทึกเหตุการณ์ในยุคสมัยเอาไว้ ซึ่งยุคนั้น การเดินเกาะแขน-เกี่ยวแขนกันของหนุ่มสาวน่าจะเป็นเทรนใหม่ที่แปลกตา
หรือจะเพลงใหม่ขึ้นมาหน่อย ก็ “หลวงปู่ทวดเหยียบใจ” เพลงนี้คุณโรมเป็นผู้บันทึกเสียงคนแรก ก่อนที่คุณก้องฟ้า สุริยะชัยจะนำมาร้องในชื่อ “คนใต้รักจริง”!
บางท่านอาจจะชินหู โดยเฉพาะคนปักษ์ใต้อย่างผมจะชื่นชอบเป็นพิเศษกับท่อน.. “ คนใต้ใจดี แม้นน้องไม่เชื่อพี่ดีแค่ไหน น้องลองแต่งงานดูก็ได้ เพื่อให้หายกังวล”
แทบทุกเวทีที่ได้มีโอกาสจับไมค์ นอกจากจะขับขานเพลงโปรดของนักร้องคนโปรดคุณธานินทร์ อินทรเทพแล้ว ก็มีเพลงคนใต้รักจริง หรือหลวงปู่ทวดเหยียบใจนี้แหละ..
พอจะกล้อมแกล้มไปได้!