ธนูซ่อน “ฆ่าอสูร” ในรธน. – เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

วันนี้…รู้กัน!
เรื่อง “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน-นายพิชิต ชื่นบาน”
“ศาลรัฐธรรมนูญ” จะรับคำร้อ ง”๔๐ สว.” ไว้วินิจฉัยหรือไม่?
แต่เหตุการณ์ “พลิกผัน” ไปเร็ว จนตามกันไม่ทัน

๒๓ พ.ค.ศาลฯ จะประชุมพิจารณา
แต่ ๒๑ พค. “นายพิชิต ชื่นบาน” ชิงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปซะก่อน!

บ้างว่า นายพิชิต “ระเบิดพลีชีพ” หวังให้ศาล “จำหน่ายคดี” ลาออกแล้ว ก็ไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัย
ปกติ ก็เป็นเช่นนั้น “จำเลยตาย” ศาลก็จำหน่ายคดีทิ้ง!

แต่กรณีนี้ ไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะ “ตัวหลัก” ที่ถูก ๔๐ สว.ยื่นคำร้องให้ศาลฯ ตีความ คือ “นายเศรษฐา” ผู้ถูกร้องที่ ๑

นายพิชิต แค่ตัวเสริมเหตุ เมื่อ “ชิงลาออก” จบส่วนของนายพิชิต ส่วนของนายเศรษฐา “ไม่จบ”
เว้นแต่นายเศรษฐา “เลียนแบบดารา” คือลาออกตามนายพิชิตไปด้วยเท่านั้น

เมื่อพี่ท่านยังดำรงตำแหน่งนายกฯ เซลล์แมนชนิดไม่รู้จักเหน็ด-จักเหนื่อยอยู่แบบนี้
ก็ต้อง continues กันต่อไป!

วันนี้ น่าจะออกจากอิตาลีตะลอนต่อญี่ปุ่นแล้ว กลับ ๒๔-๒๕ พฤษภา.ขอให้ยังอยู่ในฐานะ “นายกฯ รัฐบาลไทย”
ไม่ใช่ “นายกฯ พลัดถิ่น”!?

ก็เข้าประเด็นที่อยากรู้กัน ๒๓ พฤษภา.-วันนี้ จะรู้กันใช่มั้ย ว่าศาลฯ จะรับคำร้อง ๔๐ สว.หรือไม่รับ?
ผมว่า น่าจะ “ยังไม่” หรอกครับ!

ผมจะไล่ตารางเวลาให้ดู ศาลฯ ประชุม ๒๓ พค.
แต่ ๒๑ พค.นายพิชิต “ชิงพลีชีพ”

พอดี ๒๒ พค.เป็นวัน “วิสาขบูชา” ราชการหยุด การลาออกของนายพิชิต จึงเป็นข่าวทางสาธารณะ
ทางเอกสารเป็น “ทางการ” น่าจะยังเดินไปไม่ถึงศาลฯ

ด้วยเหตุนี้ ผมว่า “ไม่ต้องลุ้น” หรอก
การลาออกนายพิชิต ทำให้คำร้องต้องรอเอกสารครบถ้วน อาจยังไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็เป็นได้

หรือ ถ้าบรรจุแล้ว….
ศาลฯ อาจสั่งเลื่อนการพิจารณาคำร้องนี้ออกไปก่อนก็เป็นได้ เพื่อรอ “ข้อมูลครบถ้วน” เป็นทางการ

เพราะการลาออกเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งประกอบการพิจารณาวินิจฉัย
เคสนี้ เท่าที่สดับตรับฟัง อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านบอกว่า เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน

มีความซับซ้อนทั้งทางกฎหมายหลายฉบับ ทั้งทางพฤติกรรมผู้ถูกร้อง ที่ต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณา

นับตั้งแต่ ต้องดูว่าคำร้องนี้ เข้า “ถูกช่อง-ถูกทาง” หรือไม่? เพราะพุ่งไปทางด้าน “ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง”

ถ้าเป็นด้านจริยธรรม……
เป็นอำนาจ-หน้าที่ ปปช.จะไต่ส่วนแล้วส่งเรื่องให้ “ศาลฎีกา” วินิจฉัย
ไม่ใช่สว.เป็นฝ่ายส่งเรื่องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ”!

ชักสับสนละตอนนี้
แทนที่จะลุ้นกันว่า “ศาลรับ-ไม่รับ” คำร้อง ถ้ารับ จะสั่งให้ “หยุดปฎิบัติหน้าที่” หรือไม่?

วันนี้กลับต้องลุ้นกันว่า คำร้องของ ๔๐ สว.นี้ “ชอบตามรัฐธรรมนูญ” หรือไม่?

เท่าที่ดู-ที่ฟัง เรื่องนี้….
ร้อยละ ๘๐-๙๐ จะ “ฟังไม่ได้ศัพท์-จับไปกระเดียด” แล้วพูดกันแบบ “ตาบอดคลำช้าง” มากกว่า

คือ ไม่รู้ชัดๆ ว่า คำร้อง ๔๐ สว.นั้น ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยในประเด็นอะไรบ้าง ตามรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้าง?
เพียงรู้แบบขยุ้มรวมว่า เพราะตั้งนายพิชิต “ทนายถุงขนม” เป็นรัฐมนตรี

ทั้งคนตั้ง-คนถูกตั้ง จึงถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ!

งั้น…เอางี้ ผมจะ “เก็บความ” ตามประเด็นคำร้อง ๔๐สว.ที่เขาขอให้ศาลฯตีความให้รู้เป็นธงไว้ จะได้ไม่หลงทิศ

ผู้ถูกร้องที่ ๑ “นายเศรษฐา” ทั้งๆ ที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ ๒ “นายพิชิต” ขาดคุณสมบัติ
หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๖๐(๔)และ(๕)ที่บัญญัติว่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) ไม่มีประพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผู้ร้อง(๔๐ สว.)เห็นว่า……..
นายเศรษฐาได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกฯกระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อประโยชน์แก่ นายพิชิต ด้วยการแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีหรือไม่?

ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชนทำให้เข้าใจผิดว่า
คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิชิตเรียบร้อยแล้ว ว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)

ตามความจริงแล้ว ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับ ลงวันที่ ๑ กย.๖๖ ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ตามมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)

ประกอบกับนายเศรษฐา ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี นายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว ไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง
ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี

จึงเชื่อได้ว่า นายเศรษฐาอาจมีเจตนาไม่สุจริตและบิดเบือนข้อเท็จจริง ในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน
ประกอบกับการที่นายเศรษฐาได้เข้าพบนายทักษิณดังกล่าว โดยมีข้อสังเกต

การพบครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๒ เมษา.๖๗ ก่อนวันที่ ๒๗ เมษา.๖๗ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ นายเศรษฐา ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณและนายพิชิตหรือไม่?

เพราะหลังจากนั้น นายเศรษฐา จึงเสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ๔๕๙๙/๒๕๕๑
และต่อมา สภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อนายพิชิตออกจากทะเบียนทนายความ

แสดงว่านายพิชิตเป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

การกระทำของนายเศรษฐาที่เสนอทูลเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต จึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่

มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เป็นการคบค้าสมาคม กับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ทำให้นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐(๔)โดยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

และการกระทำของนายเศรษฐา มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ๑๖๐

ด้วยเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ข้อ ๗ ต้องถือว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

ข้อ ๘ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น
และมีพฤติการณ์ที่รู้หรือเห็น หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ ๑๑ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อ ๑๗ ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ข้อ ๑๙ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย

อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ร้อง(๔๐ สว.)จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ ประกอบมาตรา ๘๒
ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรค ๑(๔) (๕) หรือไม่?

และขอศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๒ วรรค ๒

เห็นโจทย์ที่สว.ตั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ก็จะเข้าใจชัดทันที ว่า
ตัวหลักอยู่ที่เศรษฐา นายพิชิตแค่ตัวรอง

เมื่อนายพิชิตลาออก คำร้องส่วนนายพิชิตตกไป แต่ของนายเศรษฐา…ไม่ตก!

และที่ยกมาให้ดูทั้งหมดนี้ เป็นการกระทำของนายเศรษฐา ที่ ๔๐ สว.ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามมาตรานั้นๆ

ที่พูดกันว่า ความผิดทางมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๔,๒๓๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ปปช.เสนอเรื่องต่อ “ศาลฎีกา” วินิจฉัย

ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสว.จะร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นอีกประเด็นที่อาจทำให้ศาลฯไม่รับคำร้อง

แต่เมื่อ ๔๐ สว.ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ ประกอบมาตรา ๘๒
ต้องบอกว่า “แหลมคม” สมฐานะสว.ยิ่งนัก!

เพราะมาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ บอกให้นำความในมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับแก่การสิ้่นสุดความเป็นรัฐมนตรี ตาม(๒)(๔)หรือ(๕)หรือวรรคสองโดยอนุโลมฯ

มาตรา ๘๒ คือใบอนุญาตให้ สว.ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็น
-สั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดปฎิบัติหน้าที่ได้
-วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงได้

ดอกนี้ เสียบหัวใจเศรษฐาทะลุหลังไปถึงอก “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เลย!

ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ก็ตรงนี้แหละ

ตรงมาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ ประกอบ มาตรา ๘๒ คือ “ธนูพิฆาตอสูร” ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซ่อนไว้ให้

๔๐ สว.ค้นพบ นำออกพาดสายน้าวศร ยิงเปรี้ยงออกไป ฤทธานุภาพครอบคลุมไปทั้งแผงวงจรมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี

ยิ่งประเด็น ที่เศรษฐา เคยส่งเรื่องให้กฤษฎีกาวินิจฉัยคุณสมบัตินายพิชิต ตามมาตรา ๑๖๐ มาก่อนแล้ว

มาตรา ๑๖๐ มีตั้ง ๘ อนุมาตรา….
แทนที่จะให้กฤษฏีกาวินิจฉัยให้ครบ กลับเจาะจงส่งให้เขาตีความเฉพาะ ๒ ข้อ

จนกฤษฎีกาต้องหมายเหตุเป็นการป้องกันตัวไว้ตอนท้ายหนังสือ ด้วยข้อความว่า
“การให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ว่า

ประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา ๑๖๐(๖)ประกอบกับมาตรา ๙๘(๗)และมาตรา ๑๖๐(๗) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น”

นั่นว่าด้วยเรื่องเคยพ้นโทษคุกมาแล้ว ๑๐ ปี ซึ่งนายพิชิตติดคุกเลย ๑๐ ปีมาแล้วเท่านั้น

ฉะนั้น……..
สรุป ในขั้นผมเอง ตามคำร้อง ๔๐ สว.ตรงที่ว่า

“…ทำให้นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐(๔)โดยเหตุ ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

และการกระทำของนายเศรษฐา มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ๑๖๐

ด้วยเหตุ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี” นั้น มีน้ำหนัก

ก็ขอจงเป็นตามนั้น…..

ในอนาคตกาลที่กำลังตามมา เทอญ.!

เปลว สีเงิน
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

Written By
More from pp
นายกฯ ชื่นชมกิจกรรมแปรอักษรเฉลิมพระเกียรติ Long Live the King 10 โดยกลุ่มคนไบค์เกอร์ และ Harley-Davidson จำนวนกว่า 1,000 คัน
26 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า
Read More
0 replies on “ธนูซ่อน “ฆ่าอสูร” ในรธน. – เปลว สีเงิน”