ม.๑๑๒ แก้ไขได้ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

หัวดำหัวหงอก เอาไปตะแบงกันใหญ่

โจมตีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายวิธีอื่นว่าคือการปิดปากประชาชน

ไม่ให้มีการแสดงความเห็น ห้ามชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์เกี่ยวกับ ม.๑๑๒

จากนี้ไปห้ามแตะ ม.๑๑๒

ไปไกลแล้วครับ…

มีทั้งขึงป้ายข้อความ พูดถึงไม่ได้ก็ไม่ต้องมี

แชร์กันในโซเชียลว่า ต้องการแก้ไขเพื่อไม่ให้โดนกลั่นแกล้ง…กลายเป็นโดนตีความว่า…ล้มล้าง…

หรืออย่าง ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า

“นักข่าวถามว่าจะอธิบายให้นักศึกษาฟังยังไง ตอบไปว่าไม่ต้องอธิบายอะไร เพราะนักศึกษากฎหมายใช้ความรู้แค่ปีหนึ่งก็วินิจฉัยเองได้”

หลายคนไม่เข้าใจเพราะไม่ใส่ใจว่ารายละเอียดของคำวินิจฉัยเป็นอย่างไร ในโซเชียลว่าไง ก็ว่าตามๆ กันไป

บางคนเข้าใจ แต่ไม่อยากจะเข้าใจ เพราะมีธงตั้งแต่แรกว่า “พิธา” กับพรรคก้าวไกล ไม่ผิด

ย้ำอีกทีนะครับ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามพูดถึง หรือแก้ไข ม.๑๑๒

แต่ห้ามในแบบที่พรรคก้าวไกลแก้ไข เพราะเนื้อหามันล้มล้างการปกครอง

ย้อนประวัติศาสตร์กฎหมายไทยไปตั้งแต่ยุค “กฎหมายตราสามดวง” ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยชำระกฎหมายต่างๆ จากยุคอยุธยา

กฎหมายฉบับนี้ระบุถึงประเด็นความผิด “ติเตียนว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว” อยู่ในมาตรา ๗๒ บุคคลดังกล่าวต้องถูกลงโทษสถานหนักคือ

“การประหารชีวิต”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการออก พ.ร.ก.ลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.๑๑๘

มาตรา ๔ ระบุถึงความผิดในการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินเอาไว้

มีการบัญญัติโทษจำคุกเป็นครั้งแรก คือไม่เกิน ๓ ปี และปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า ๑,๕๐๐ บาท ซึ่งเป็นค่าเงินเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่แล้ว

หรือทั้งจำทั้งปรับ

รัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีการปฏิรูปกฎหมายใหม่ นำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗

เป็นต้นธารของประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบัน มีการเพิ่มคำว่า “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” ดูหมิ่น หรือประทุษร้ายพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วย

มีโทษตั้งแต่จำคุก ๓-๗ ปี ปรับ ๑,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลคณะราษฎรมีการยกเลิกข้อกฎหมายเกี่ยวกับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท

มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ อย่างน้อย ๒ มาตรา ได้แก่

๑.ยกเลิกมาตรา ๑๐๐ ที่กำหนดความผิดฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด

๒.แก้ไขมาตรา ๑๐๔ (๑) เป็น “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี… ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า ๗ ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง

แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”

ต่อมาในปี ๒๔๙๙ มีการตราประมวลกฎหมายอาญา ปรากฏมาตรา ๑๑๒ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

ลักษณะข้อความเหมือนกับมาตรา ๑๑๒ ในปัจจุบันทุกประการ

ยกเว้นแต่บทลงโทษที่ปี ๒๔๙๙ ระบุว่า ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี

มาตรา ๑๑๒ ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ นี้ ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายและกว้างขวางในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ต่อมาเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ คณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา ๑๑๒ คือจำคุกตั้งแต่ ๓-๑๕ ปี และมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นมีความพยายามจะแก้ไข ม.๑๑๒ กันมาตลอด

ในปี ๒๕๕๑ พรรคประชาธิปัตย์ชูประเด็นการแก้ไข เพิ่มการคุ้มครองไปที่ “พระบรมราชวงศ์”

เพิ่มลักษณะความผิดไปด้วยว่า “กระทำด้วยประการใดๆ ที่สื่อหรือส่อความหมายได้ในลักษณะดังกล่าว”

เพิ่มโทษขั้นสูงที่ ๒๕ ปี

และปีเดียวกันนี่เอง พรรคพลังประชาชน เสนอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบทลงโทษผู้ที่รู้ถึงการกระทำความผิดตาม ม.๑๑๒

โดยเพิ่ม ม.๑๑๒/๑ และบัญญัติว่า

“…ผู้ใดรู้ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ไม่นำความเข้าแจ้งต่อพนักงานสอบสวน แต่กลับนำความไปกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายต่อหน้าธารกำนัลหรือประชาชนว่ามีการกระทำความผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น เพื่อหวังผลทางการเมืองโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๒ นั้น…”

จะเห็นว่ากฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์นั้นมีมาอย่างยาวนาน และเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง รวมทั้งการเสนอแก้ไข แต่ไม่สำเร็จ ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เพียงแต่ไม่มีเนื้อหาในเชิงล้มล้างแบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ

หากในระยะเวลาอันใกล้มีพรรคการเมืองเสนอแก้ไข ม.๑๑๒ ด้วยเหตุผล เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง ด้วยการตีวง “ผู้ฟ้อง” ให้แคบลง แต่ไม่ใช่สำนักพระราชวัง หรือพระมหากษัตริย์เอง อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ

ประเด็นนี้ก็จะนำไปสู่การถกเถียงว่า ใครควรเป็นผู้ฟ้อง

รวมทั้งการเสนอลดโทษในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ลงโทษเท่าคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ก็นำไปสู่การถกเถียงเช่นกันว่า โทษที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่

หรือปัจจุบันเหมาะสมแล้ว

ทั้ง ๒ กรณีข้างต้น ไม่อาจตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครองอย่างแน่นอน

เพราะเป็นการขอแก้ไขตามกระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ

Written By
More from pp
“สกลธี” ลงพื้นที่ช่วย “ภักดีหาญส์” ปลื้มผ่านมาเกือบ 20 ปีชาวบ้านจำผลงานได้ ฝาก กกต.แก้ข้อบกพร่องหวังการเลือกตั้งออกมาสง่างาม
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายสกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคฯ ลงพื้น ร่วมกับ...
Read More
0 replies on “ม.๑๑๒ แก้ไขได้ – ผักกาดหอม”