คิด วิเคราะห์ แยกแยะ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เริ่มแล้วครับ….

สงครามน้ำลาย

การเมืองไทยมันก็วนอยู่แบบนี้แหละครับ

พรรคไหนก็ตามได้เป็นรัฐบาล ดูไม่ค่อยฉลาด

กลับกัน พรรคที่เป็นฝ่ายค้าน ฉลาดทุกเรื่อง รู้หมดทุกอย่าง

วันที่ ๑๑-๑๒ กันยายนนี้ รัฐบาลจะแถลงนโยบาย แต่ที่น่าสนใจกว่านโยบายคือ ศึกน้ำลาย นี่ถ้าใครยืนตรงกลางระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน น้ำลายเต็มหัวครับ

“ตัวตึง” มันเยอะแยะไปหมด

ยืนเท้าสะเอวชี้ไม้ชี้มือท้ากันเหมือนเด็กๆ แต่เข้าใจได้ครับ ก็เหมือนหนังตัวอย่าง ถ้าไม่ตัดเอาตอนมันๆ มานำเสนอคงไม่มีใครดู

ครับ…คำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา มีประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“…นโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติ ที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกา ที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง…”

ก่อนอื่นต้องถามรัฐบาลก่อน ทำไมต้องเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ประเด็นที่ต้องการแก้ไขมีอะไรบ้าง

ถ้าเรื่องปิดสวิตช์ สว. ลืมไปเถอะครับ พฤษภาคมปีหน้า บทเฉพาะกาลนี้ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และคิดว่ารัฐบาลนี้น่าจะมีอายุยาวนานกว่าวันที่ สว.ชุดนี้จะหมดวาระลง

หากอยากจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพียงเพื่อเอาใจมวลชนฮาร์ดคอร์กลุ่มเล็กๆ ก็ต้องตระหนักว่า มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก

เฉียดหมื่นล้านบาท

หรืออาจเกินกว่านั้น

แค่ทำประชามติ ๒ รอบ ก็กว่า ๖ พันล้านบาทแล้ว

ไหนจะค่าเลือก หรือสรรหา ส.ส.ร. ค่าเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าเบี้ยประชุม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน ในการใช้ห้องประชุมของรัฐสภา ที่อาจต้องใช้เวลา ๒-๓ ปี

คุ้มหรือไม่?

รัฐธรรมนูญไม่ควรแก้ไขกันพร่ำเพรื่อ อย่ามองเพียงว่าเป็นรัฐธรรมนูญจากยุคเผด็จการ เพราะเอาเข้าจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปกป้องประชาชนจากนักการเมืองมากกว่ารัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับที่ผ่านมา

นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตรวจสอบนักการเมืองอย่างเข้มข้นนั่นเอง

ความปรารถนาจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอาจมีวัตถุประสงค์ปลดล็อกสิ่งนี้เป็นหลัก

ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกครับในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ด้วย ในอดีตเคยมีมาหลายรัฐบาล

ยกตัวอย่างรัฐบาลหนึ่งในอดีต ระหว่างอ่านลองจินตนาการดูว่าเป็นรัฐบาลไหน เชื่อว่าส่วนใหญ่ทายผิด

…ย่อมเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้ร่างรัฐธรรมนูญสำหรับการปกครองประเทศขึ้นใหม่ เมื่อร่างเสร็จจนถึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว ก็จะได้มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามรูปการณ์ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต่อไป

รัฐบาลนี้คงจะมีเวลาบริหารประเทศชั่วระยะจำกัด จึงได้วางหลักการในการบริหารประเทศไว้เป็น ๒ ประการ

คือ งานใดที่อาจจะดำเนินการให้ลุล่วงไปในสมัยเวลาที่บริหารราชการอยู่ ก็จะได้เร่งรัดให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว การใดจะต้องใช้เวลายาวนาน ก็จะได้วางโครงการขึ้นเพื่อรัฐบาลต่อๆ ไปจะได้อาศัยเป็นแนวดำเนินการต่อไปได้….

…ในการบริหารประเทศในครั้งนี้ รัฐบาลนี้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ไข และปรับปรุงการเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นอันดับที่หนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีรายได้ที่แท้จริงสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับการครองชีพของประชาชนสูงขึ้นด้วย

ฉะนั้นรัฐบาลจะได้ปรับปรุงการคลังและการเงินของประเทศ ดำเนินการส่งเสริมการเกษตรกรรม การสหกรณ์ การอุตสาหกรรม และการค้า ตลอดจนการคมนาคมให้ก้าวหน้า เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

รัฐบาลนี้จะได้สนใจเป็นพิเศษในการศึกษาของเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในวันหน้า โดยจะได้ดำเนินการให้เยาวชนได้รับทั้งวิทยาการ และจริยศึกษาควบกันไป จะได้จัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้น และให้ความอนุเคราะห์ตามความจำเป็น…

…ในที่สุดขอเรียนว่า ที่ข้าพเจ้าได้อาสาเข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติในครั้งนี้ และเท่าที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว คงจะเป็นประจักษ์พยานในความซื่อสัตย์สุจริต และความหวังดีต่อประเทศชาติของข้าพเจ้าอยู่แล้ว

ฉะนั้น แม้คำแถลงนโยบายของข้าพเจ้าจะไม่ละเอียดยืดยาวอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา ก็ขอได้โปรดเชื่อมั่นว่า พร้อมกับนโยบายที่แถลงแล้วนั้น ข้าพเจ้ายังได้มอบชีวิต จิตใจของข้าพเจ้าและรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนี้เป็นเดิมพัน เพื่อสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ และอำนวยความผาสุกให้แก่ประชาชนจนถึงที่สุดให้จงได้…

เป็นไงครับ

ได้กลิ่นประชาธิปไตยจ๋า

หรือเหม็นเผด็จการตุๆ

นี่คือคำแถลงนโยบายของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒

เผด็จการทหารเต็มรูปแบบ

แต่เนื้อหาสวยงามไม่ต่างรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

คำแถลงนโยบายของ “เศรษฐา ทวีสิน” น่าจะคล้ายกับ “จอมพลสฤษดิ์” มากที่สุดแล้ว

คือสั้น และเต็มไปด้วยคำสัญญา

“จอมพลสฤษดิ์” ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน

แต่ “เศรษฐา” แค่ขอให้รัฐสภาและประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลว่า รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง

ไม่มีเดิมพันใดๆ

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากคำแถลงนโยบายของ “เศรษฐา” คือ สัญญา แต่ไม่ผูกมัด

การไม่มีรายละเอียดในนโยบายที่ใช้ตอนหาเสียง เป็นความตั้งใจที่รัฐบาลจะไม่ผูกมัดตัวเองมากจนเกินไป เพราะบางนโยบายทำไม่ได้

อาทิ นโยบายรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสายที่เรียกร้องกัน

เพราะหากทำนโยบายนี้สำเร็จ รัฐจะเป็นหนี้จำนวนมหาศาล

ฉะนั้นอย่าคาดหวังว่า นโยบายที่ใช้ในตอนหาเสียงจะถูกนำมาเป็นนโยบายรัฐบาลทั้งหมด

และเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน อย่าเชื่อตอนที่นักการเมืองหาเสียงทุกเรื่อง

เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ก่อนลงคะแนนเสียง

ไม่งั้นก็ตกเป็นเหยื่อร่ำไป

Written By
More from pp
โฆษกรัฐบาลย้ำ ไทยไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรีจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) การเจรจากับผู้ผลิตโดยตรงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่าไทยตกขบวนรับวัคซีนฟรีจากโครงการโคแวกซ์ หรือ COVAX (ย่อมาจาก Covid-19...
Read More
0 replies on “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ – ผักกาดหอม”