ผักกาดหอม
ฟังอภิปรายแถลงนโยบายมา ๒ วัน ชอบใจการอภิปรายของส.ส.พรรคก้าวไกลอยู่คนหนึ่ง
คือ “สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ครับ
อภิปรายเรื่องรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย
รถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย แทบจะกลายเป็นมหกรรมหลอกลวงประชาชนไปแล้ว เพราะในการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีพรรคการเมืองชูนโยบายนี้ทุกครั้ง
แต่ไม่เคยมีพรรคไหนรักษาสัญญา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงมาตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย
ครั้งกระโน้น ๑๕ บาท ตลอดสาย
เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็เช่นกัน ขนาด ผู้ว่าชัชชาติ แข็งเกร่งในปฐพี หาเสียงได้คะแนนไปแล้ว ก็ทำให้ประชาชนไม่ได้
ก็แบบนี้แหละครับ ตอนหาเสียงน้ำไหลไฟดับ พอได้ตำแหน่ง หายต๋อม
คงเพราะเมื่อข้อมูลมากองตรงหน้า อะไรๆมันไม่ง่ายเหมือนตอนหาเสียงที่จะพูดอะไรก็ได้
พูดหมาให้เป็นลิงยังได้
ครับ…คำอภิปรายของ “สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ช่วงคืนวันัจนทร์ มีดังนี้
“…นโยบายรถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย จะไปต่อหรือพอแค่นี้? หากยืนยันจะทำ จะทำตลอดสายหรือตลอดทาง และจะใช้เงินอุดหนุนปีละเท่าไร และเมื่อไรจะทำได้
นโยบายนี้เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่คุมกระทรวงคมนาคมแบบเบ็ดเสร็จด้วย แต่คำถามสำคัญคือนโยบายนี้ทำจริงได้หรือไม่ และควรทำหรือไม่?
สิ่งที่ท่านเสนอคือค่าโดยสารร่วม ๒๐ บาทตลอดทาง โดยจะเร่งเจรจาเพื่อลดราคา ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ท่านจะเจรจากับเอกชนให้ลดราคา จาก ๔๕ บาท เหลือ ๒๐ บาทได้
ต่อให้บริษัทเพื่อนของท่านยอม ผู้ถือหุ้นก็ไม่ยอม ยังไม่นับกับที่เคยโฆษณาเอาไว้ช่วงเลือกตั้งว่าน่าจะจบได้ภายใน ๓ เดือน ทำให้ตนต้องตั้งคำถามอีกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
ที่สำคัญ ท่านควรบอกให้ชัดด้วยว่าจะใช้ตั๋วร่วมระบบไหน ติดตั้งเครื่องอ่านเสร็จเมื่อไหร่ หลังบ้านจัดการบัญชีกันอย่างไร สายไหนเข้าร่วมบ้าง
และหากสายสีเขียวไม่ยอมร่วมก็ไม่มีประโยชน์เท่าไหร่ เพราะคนใช้เยอะที่สุดและเป็นสายหลักในแนวเหนือใต้ หากตั๋วร่วมไม่เสร็จแล้วท่านจะทำค่าโดยสารร่วมได้อย่างไร
ดังนั้น ผมจึงขอคาดการณ์ล่วงหน้าว่านโยบาย ๒๐ บาทตลอดสายจะไม่สามารถทำได้ และต่อให้ทำได้ก็ต้องใช้เงินอุดหนุนเยอะมากและไม่ใช่การจ่ายครั้งเดียวจบ แต่ต้องจ่ายทุกๆ ปี
คำถามคือเหตุใดเราถึงไม่อุดหนุนกลุ่มผู้ใช้รถเมล์ ซึ่งเป็นสัดส่วนผู้โดยสารที่มากกว่าก่อน หรือหากจะมองภาพที่กว้างกว่านั้น ทำไมเราไม่นำงบประมาณไปอุดหนุนขนส่งสาธารณะให้กับคนต่างจังหวัดก่อน
การเทเงินไปอุดหนุนค่ารถไฟฟ้า กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงคือคนที่อยู่ในแนวคอนโดรอบสถานีรถไฟฟ้า ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือปัญหา กว่าจะถึงสถานี ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่าที่อยู่ไกลออกไป ที่เข้าไม่ถึงสถานีหรือกว่าจะถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ต้องเดินทางอย่างยากลำบากมากและแพงมากในบริบทของกรุงเทพฯ
สิ่งที่ขาดมากกว่ารถไฟฟ้าคือรถเมล์ที่ขนคนมาสู่สถานีรถไฟฟ้าได้ ท่านจึงควรให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอยมากกว่าเส้นเลือดใหญ่…”
ถูกในหลายประเด็นครับ
รัฐบาลจะไปเจรจากับเอกชนให้ลดค่าโดยสารได้อย่างไร
ไปร้องขอหรือ?
ฝันไปเถอะครับ เอกชนเขาทำธุรกิจ เขามีสัมปทาน มีผู้ถือหุ้น
ไม่ใช่มูลนิธิ
โดยเงื่อนไขที่สร้างกันมาตั้งแต่รถไฟฟ้าสายแรกยันปัจุบัน ค่าโดยสารมีแต่จะขึ้น ไม่มีลด
จะลดได้ก็คงเป็นสายสีแดง เพราะเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก บริหารอยู่
รัฐบาลจะหักคอค่าโดยสารเหลือ ๒๐ บาทตลอดสายก็ทำได้
ส่วนสีม่วง ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นี่ก็ป็นของรัฐล้วนๆ เช่นกัน เดิมทีช่วงเปิดใหม่ๆ ก็ ๒๐ บาทตลอดสายอยู่พักใหญ่ ก่อนปรับราคาใหม่มาถึงปัจจุบัน
ได้ฟังคำตอบจาก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นรัฐมนตรีคมนาคม มาตั้งแต่ยุคหาเสียง รถไฟฟ้า ๑๕ บาทตลอดสาย ก็เล่นเอา ว้าวุ่น ไปทั้งสภา
“…เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-รังสิต ราคา ๑๔-๔๒ บาท และสายสีม่วง บางซื่อ-คลองบางใหญ่ ราคา ๑๔-๔๒ บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น ๒๐ บาท จะเร่งผลักดันภายใน ๓ เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน…”
ทำได้จริงหรือ?
๒ สายนี้ถ้าจะทำก็ทำได้เลย
ล้วงอัฐยายซื้อขนมยาย
ก็สูตรรัฐอุ้ม ต้องตั้งงบฯ จ่ายหนี้คืน
แต่ระวังดราม่า ใช้ภาษีคนทั้งประเทศอุ้มคนกทม.ครับ
ก็ถือว่ารัฐบาลทำตามที่หาเสียง เพราะตอนหาเสียงไม่ได้บอกว่า ๒๐ บาททุกสาย
มันมีช่องให้ไหลอยู่!
ย้อนกลับไปที่คำอภิปรายของ “สุรเชษฐ์” ครับ เพราะตอนหาเสียงใครๆ ก็เข้าใจว่า ๒๐ บาทตลอดสายทุกสาย
เอาแค่ปัญหาสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่คากันอยู่ ใครจะแก้ นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบรถไฟฟ้าในกทม.
หนี้หลักแสนล้านแล้วนะครับ
มากพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าขึ้นมาอีก ๒ สายได้สบายๆ
หรือจะปล่อยให้พอกหางหมูไปเรื่อยๆ
นี่เรื่องหนึ่ง
ส่วนตั๋วร่วมหาเสียงกันมากี่ครั้ง ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้
เรามีระบบรถไฟฟ้าที่ทันสมัยและค่อนข้างครอบคลุมก็จริง แต่อัตราค่าโดยสารคือความอัปลักษณ์ที่เกิดตามมา
ตั๋วร่วมเกิดไม่ได้ จะโทษเอกชนฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะเมื่อได้สัมปทานไปแล้ว มันต้องพูดถึงกำไร ขาดทุนด้วย
ส่วนรัฐผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก รู้อยู่แล้วว่าต้องแก้ปัญหาตั๋วร่วมอย่างไร แต่กลับไปสร้างปัญหาเพิ่ม การให้สัมปทานเอกชนมากราย สิ่งที่ตามมาคือคุยเรื่องผลประโยชน์จากตั๋วร่วมไม่เคยลงตัวกันสักที
บางรายไม่ยอมลงทุนเทคโนโยลีเอง โยนให้รัฐรับภาระ
ความเฉื่อยของรัฐก็ทำให้รัฐตกเป็นเบี้ยล่างเอกชน
สารพัดปัญหา
ถ้ารัฐบาลไหนแก้ได้จะกราบงามๆ เลยครับ
แต่…ตามสถิตินักการเมืองจะฉลาดเป็นกรดตอนเป็นฝ่ายค้าน
เป็น “อับดุลเอ้ย” ถามไรมาตอบได้หมด!
เป็นรัฐบาล มีอำนาจบริหารประเทศเมื่อไหร่ คำแรกที่ได้ยินคือ ใจเย็นๆ ขอศึกษาก่อน
นั่นแหละครับท่านผู้อ่าน