ผักกาดหอม
ลองตั้งตุ๊กตาย้อนกลับไปหลังวันเลือกตั้ง ๑๔ พฤษภาคม หาก ๒๕๐ สมาชิกวุฒิสภา ไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
คิดว่าหน้าตาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร
ใช่รัฐบาล ๘ พรรคที่เซ็นเอ็มโอยูกันใช่หรือไม่
หรือก้าวไกลกับเพื่อไทยจะแข่งกันตั้งรัฐบาล
เพราะวาทกรรมฝ่ายประชาธิไตย ฝ่ายเผด็จการอนุรักษ์นิยม การเมืองถูกแบ่งเป็น ๒ ขั้วตั้งแต่การเลือกตั้งเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๒
ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านแบบหลวมๆกับเพื่อไทย เพราะแนวทางการเมืองไม่ตรงกันในหลายประเด็น
และหลายครั้งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก้าวไกล โวย เพื่อไทย ว่ารัฐบาลจากรัฐบาลหรือไม่
รวมทั้งเรื่อเวลาการอภิปราย ที่เพื่อไทยให้เทคนิคทางการเมืองที่สูงกว่าเบียดเวลาการอภิปรายของก้าวไกล จนนำไปสู่ความไม่พอใจระหว่างกันอยู่หลายครั้ง
นี่ยังไม่นับประเด็นที่นำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ แทบไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพระก้าวไกลไม่ไว้วางใจเพื่อไทย
นั่นคือปรากฎการณ์ ขณะทั้ง ๒ พรรคเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน
แล้วครั้งนี้หากไม่มี ๒๕๐ ส.ว. คิดว่า ๒ พรรคนี้มีความประสงค์ในฐานะพรคฝ่ายประชาธิปไตย จัดตั้งรัฐบาลด้วยกันหรือไม่
น่าคิดนะครับ
เพราะวันนี้เราได้รับรู้แล้วว่า คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นเพียงวาทกรรม ตั้งชื่อกลุ่มการเมืองเท่านั้น แต่เนื้อแท้ หามี “ประชาธิปไตย” ไม่
มีแต่ผลประโยชน์ทางการเมือง
แต่ละพรรคมีเป้าหมายของตนเอง
มิได้มีเป้าหมายร่วมกันแต่อย่างใด
ที่ชัดเจนที่สุดคือ เอ็มโอยูตั้งรัฐบาล ๘ พรรค ไม่มีการแก้ไขม.๑๑๒ รวมอยู่ด้วย
นี่คือความต่างอย่างมีนัยสำคัญ
และจะชี้ถึงเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต
ลองตั้งคำถามในใจดูนะครับว่า ทำไมก้าวไกลยอมทิ้ง ๓๐๐ นโยบาย เพื่อแลกกับการแก้ไขม.๑๑๒ เพียงนโยบายเดียว
การเป็นพรรคการเมือง ไม่ง่ายเลยครับที่จะให้ความสำคัญนโยบายเพียงนโยบายเดียว แลกกับโอกาสในการเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล
แต่ก้าวไกลทิ้งทุกนโยบาย เพื่อแก้.ม.๑๑๒ เท่านั้น
ก็ตั้งตุ๊กตาต่อ ๘ พรรคสามารถตั้งรัฐบาลกันได้โดยมีก้าวไกลเป็นแกนนำ และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี
ร่างกฎหมายฉบับแรกๆที่พรรคก้าวไกลจะยื่นเข้าสภาคือ การแก้ม.๑๑๒
กลับไปดูเอ็มโอยูตั้งรัฐบาล ๘ พรรคกันอีกครั้งครับ โดยเฉพาะท่านอารัมภบท
“….บันทึกความเข้าใจ ทำขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกัน ระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้นต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์…”
หลังเอ็มโอยูนี้คลอดออกมาทุกฝ่ายมองตรงกัน เป็นความประสงค์ของ ๗ พรรค ที่ไม่ต้องการให้การแก้ม.๑๑๒ เข้ามาอยู่ในเอ็มโอยู
ไม่ต้องการให้ก้าวไกลผูกมัด ๗ พรรคว่าต้องแก้ม.๑๑๒ ตามก้าวไกล
เหมือนก้าวไกลจะยอมถอย
แต่ไม่ใช่เลยครับ
ก้าวไกลจะผลักดันเองในฐานะพรรคการเมือง โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
ก่อนรัฐบาลเข้ารับหน้าที่ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๑ เสียก่อน
“…ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ…”
แต่คำปฏิญาณของส.ส.นั้นต่างออกไป
“…ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ…”
นี่อาจเป็นการตีความรัฐธรรนูญของพรรคก้าวไกลว่า ส.ส.ไม่จำเป็นต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ ต่างกับคณะรัฐมนตรีที่ระบุเอาไว้ชัดเจน
ฉะนั้นการเสนอแก้ม.๑๑๒ ของก้าวไกล จึงไม่ขัดเอ็มโอยูตั้งรัฐบาล รวมทั้งไม่ขัดคำปฏิญาณตน
ตั้งตุ๊กตากันต่อไปครับ หลังรัฐบาลก้าวไกลแถลงนโยบายเสร็จสิ้น พรรคก้าวไกลเสนอ ร่างแก้ไขม.๑๑๒ เข้าสภา
มาวันหนึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถึงคิวต้องพิจารณาในสภา
คิดว่า ๗ พรรคร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไร
ที่สำคัญ จะจัดการกับความไม่พอใจของมวลมหาประชาชน ที่ไม่ต้องการให้แก้ไข ม.๑๑๒ อย่างไร
ย้ำกันอีกทีนะครับ ความไม่พอใจของประชาชน จะมากมายกว่าที่ประชาชนไม่พอใจการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลระบอบทักษิณหลายเท่าตัว
นี่ไม่ใช่เดิมพันกันที่รัฐบาล
แต่เดิมพันด้วยโครงสร้างของประเทศ ด้วยการดำรงอยู่หรือไม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์
ถึงเวลานั้น ๗ พรรค จะยอมกอดคอกับก้าวไกลกี่พรรค
กลับไปที่การตั้งตุ๊กตาแรก หากไม่มี ๒๕๐ ส.ว. สามารถตั้งรัฐบาล ๘ พรรคหรือไม่
คำตอบคือตั้งได้
แต่จะมีอายุยืนยาวแค่ไหน
คำตอบคือทันทีที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายแก้ม.๑๑๒ คือวันนับถอยหลังรัฐบาลก้าวไกล
ครับ….ก็อยากให้เห็นการเมืองอีกมุม หากเดินไปอีกทาง รัฐบาลไม่น่าจะมีอายุเกิน ๑ ปี
กลับมาสู่สถานการณ์ที่่แท้จริง รัฐบาลเพื่อไทยน่าจะจบที่กว่า ๓๐๐ เสียง มีพรรค ๒ ลุงร่วมด้วย
อายุจะยืนยาวแค่ไหน
ถ้าเอาตามคำที่โม้ไว้ว่าตั้งสสร.แก้รัฐธรรมนูญ กระบวนการกว่าจะเสร็จสิ้น ก็เกิน ๒ ปี
ระหว่างนั้นทำดีไม่มีชั่ว อายุรัฐบาลไม่ใช่เรื่องน่าวิตก
ดูรัฐบาลลุงตู่เป็นตัวอย่าง อยู่ครบ ๔ ปี แบบไม่มีอะรระคายผิว เพราะสร้างอะไรเอาไว้มากมาย
แต่ถ้าคิดแต่จะทำเรื่องชั่วๆ โกงซ้ำซาก เหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ
ได้เลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนดแน่นอน