นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบให้ไทยรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 และหลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
โดยให้รองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ดำเนินการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และหลักการขั้นสูงฯ ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้หารือแนวทางการรับมือกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและเดินทางกลับมาตุภูมิในภูมิภาคของกลุ่มนักรบก่อการร้ายต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters: FTFs) รวมทั้งภัยคุกคามข้ามชาติอื่น ๆ ซึ่งการประชุมที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย บรูไน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 มีประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการร่วมกัน อาทิ
1)เสริมสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานด้านความมั่นคง
2)เสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะการป้องกันการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงในกลุ่มเยาวชนผ่านทางช่องทางออนไลน์
3)พัฒนาระเบียบปฏิบัติหรือแผนเผชิญเหตุร่วมกันทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคสำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง
4)สร้างความต้านทานต่อภัยคุกคามของระบบคอมพิวเตอร์ในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและห่วงโซ่อุปทาน
5)ประสานความร่วมมือและแบ่งปันความรู้ในการต่อสู้กับปัญหาการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคร่วมกัน
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า หลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค เป็นเอกสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะเหยื่อของภัยการก่อการร้ายที่ไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิด มีแนวปฏิบัติดังนี้
1.เด็กที่เกี่ยวข้องกับหรือถูกชักจูงโดยกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง รวมถึงลูกของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ ควรได้รับการพิจารณาในลักษณะของเหยื่อของอาชญากรรมและการทารุณกรรม และควรปฏิบัติโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็ก
2.มุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันที่ช่วยเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อปกป้องเด็กจากการเข้าถึงแนวคิดก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันมีการแพร่กระจายของเนื้อหาสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงทางออนไลน์
3.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการรับกลับ การกลับคืนสู่สังคม และการบำบัดเด็กที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง