กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เร่งสร้างภูมิคุ้มกันสังคมไทย ร่วมกันต้านประทุษวาจาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา หวั่นการ “พูดร้าย ทำลายกัน” บานปลายสู่ความรุนแรง เน้นป้องกันด้วยการเสริมสร้างความตระหนักรู้ เท่าทันและเฝ้าระวังผ่านงานประกวดผลิตคลิปรณรงค์ลด Hate Speech ในหัวข้อ “หยุดเหยียด เกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน” ที่เปิดรับผลงานจากทั้งนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายศาสนาและประชาชนทั่วประเทศ ชิงรางวัลรวมมูลค่า 75,000 บาท
25 ตุลาคม 2565 – กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานแถลงข่าวและกิจกรรม Workshop สำหรับการประกวดคลิปรณรงค์การประทุษวาจาทางด้านศาสนากับโครงการ TMF Stop Hates Speech Clip Contest ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ เพื่อยกระดับการตระหนักรู้ปัญหา “พูดร้าย ทำลายกัน” ในสังคมไทย พร้อมขับเคลื่อนการรณรงค์ต้านประทุษวาจาในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง
การประกวดในครั้งนี้เปิดรับผลงานจากนักเรียน นักศึกษา เครือข่ายศาสนาและประชาชนทั่วไปในหัวข้อ “หยุดเหยียด เกลียดศาสนา พูดร้ายทำลายกัน” โดยมีเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาทให้แก่ผู้ชนะเลิศ 20,000 บาทสำหรับรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 10,000 บาท
สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 2 รวมถึงยังมีรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาทให้แก่ผู้เข้าแข่งขันที่มีผลงานโดดเด่น
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดประกวดในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับประทุษวาจาและกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม หรือยูทูปที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ส่งสารได้ตลอดเวลา
‘งานวิจัยระบุว่า “ศาสนา” เป็นฐานความเกลียดหนึ่งที่พบบ่อยในวาทะสร้างความเกลียดชัง ขณะที่สื่อใหม่ (New Media) รวมถึงโซเชียลมีเดีย (Social Media) มีส่วนส่งเสริมให้การสื่อสารความเกลียดชังเกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ประทุษวาจามิได้เกิดขึ้นในรูปแบบของคำพูดเท่านั้น หากแต่อาจยังแพร่หลายอยู่ในรูปแบบของข้อความ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพกราฟิก ภาพยนตร์ เพลงหรือสัญลักษณ์อื่น ๆ
ที่สำคัญ ประทุษวาจาหรือวาทะสร้างความเกลียดชังอาจมิได้อยู่ในรูปแบบการด่า ใช้ภาษาหยาบคาย รุนแรง ดูถูก เหยียดหยามเท่านั้น แต่บ่อยครั้งมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจผิด นิยามผู้อื่นในเชิงลดคุณค่า สื่อสารแบบที่สร้างความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมถึงสื่อความหมายปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน ในบางกรณี การกระทำดังกล่าวร้ายแรงถึงขั้นยุยงปลุกปั่นสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่แตกต่างและระดมกำลังไล่ล่า ขู่คุกคามหรือลงทัณฑ์ทางสังคม’
นางสาวพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ กล่าวว่า การป้องปรามปัญหาประทุษวาจา จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในสังคมว่าประทุษวาจาคืออะไร มีรูปแบบอย่างไรและมีผลเสียอย่างไร ตลอดจนส่งเสริมให้ยอมรับความแตกต่างในสังคมผ่านการรณรงค์และบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม
‘แม้ว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับความหลากหลายทางศาสนา เข้าใจความแตกต่างของแต่ละศาสนา เคารพความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่มุ่งเน้นแบ่งแยกและประทุษวาจา’
อย่างไรก็ตาม กองทุนสื่อ เชื่อว่าการสื่อสารรณรงค์ต้านการพูดร้าย ทำลายกัน จะมีบทบาทสำคัญในการลดและป้องกันวาทะสร้างความเกลียดชังที่มีรากฐานมาจากศาสนา โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันด้วยการไม่ผลิต ไม่เผยแพร่ต่อวาทะที่สร้างความเกลียดชัง หากพบวาทะลักษณะดังกล่าว ให้กล่าวตักเตือนหรือแจ้งองค์กรที่กำกับดูแล แสดงความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อวาทะดังกล่าว ไม่โต้ตอบด้วยอารมณ์ เมื่อจำเป็นต้องอธิบาย ให้ชี้แจงด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง การถกเถียงใด ๆ ควรเป็นไปตามเหตุผลและสันติวิธี
โดย กองทุนสื่อ เปิดรับสมัครผลงานจากทั่วประเทศ ผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสามารถส่งผลงานได้ทาง https://forms.gle/b82xbDmrbqLp6qCn6 หรือ สแกน QR Code บน Poster ประชาสัมพันธ์ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้
โดยการประกาศผลรางวัลจะมีขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 หรือติดตามรายละเอียดข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์